ขณะเรือ อ. ของจำเลยทั้งสามออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ได้ผ่านการตรวจจากหน่วยงานศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และกรมเจ้าท่าถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยอธิบดีกรมประมงได้ออกหนังสือรับรองให้เรือ อ. ออกไปทำการประมงในทะเลหลวงได้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ PIPO แต่ศูนย์ดังกล่าวเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 หลังจากนั้น วันที่ 25 ธันวาคม 2558 อธิบดีกรมประมงจึงออกประกาศกรมประมงโดยข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยในขณะที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ (วันที่ 29 ธันวาคม 2558) นำเรือประมงกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน โดยในวรรคสองมิให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับเจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่ไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ที่ได้แจ้งการออกจากท่าเทียบเรือประมงต่อศูนย์ PIPO ไว้ไม่เกินระยะเวลา 365 วัน นับแต่วันแจ้ง ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามข้อเสนอของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ที่เสนอว่าประเทศไทยจะต้องทำการตรวจเรือประมงนอกน่านน้ำไทยทุกลำ ดังนั้น ประกาศกรมประมงจึงเป็นแนวปฏิบัติใหม่ที่ออกมาช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติของผู้ประกอบอาชีพทำเรือประมงพาณิชย์ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการตีความเกี่ยวกับกรณีเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งได้ออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับว่า จะต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน ตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง หรือเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามข้อ 1 วรรคสอง ของประกาศดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ศูนย์ ศปมผ. จึงมีการประชุมย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกรณีที่ยังคงมีเรือประมงอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียต่อไป โดยไม่มีการแจ้งกำหนดเดินทางกลับมารับการตรวจ ผลการประชุมย่อยได้ข้อสรุปว่า เรือประมงนอกน่านน้ำที่ผ่านการตรวจจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างถูกต้องก่อนการจัดตั้งศูนย์ PIPO และออกไปทำการประมงยังไม่ถึงเวลา 1 ปี จะได้รับการอนุโลมให้ไม่ต้องกลับเข้ามารับการตรวจจากศูนย์ PIPO ซึ่งหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศปมผ. ได้มีหนังสือแจ้งผลการประชุมย่อยดังกล่าวไปให้นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบ แม้โจทก์กล่าวอ้างว่าเอกสารฉบับนี้ไม่มีผลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นการออกโดยหน่วยราชการผู้รับผิดชอบ อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์แจ้งผ่านไปยังนายกสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งในข้อนี้ อ. นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย พยานจำเลยทั้งสามเบิกความว่า ในวันดังกล่าวพยานได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธานและประธานในที่ประชุมได้แจ้งให้ทราบว่า เรือที่ออกไปทำการประมงยังไม่ถึง 1 ปี ได้รับการอนุโลมให้ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่เข้าใจว่า กรณีของเรือ อ. ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือ จึงนำเรือดังกล่าวเข้าจอดเทียบท่าที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันนำเรือออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี แม้ตามหนังสือของศูนย์ ศปมผ. จะระบุไว้ในวงเล็บทำนองว่า อนุโลมให้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2559 แต่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า อธิบดีกรมประมงอนุญาตให้เรือ อ. ออกไปทำการประมงได้ถึงวันที่ 10 กันยายน 2559 ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมมีเหตุผลทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจว่า การนำเรือเข้าจอดเทียบท่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่ได้รับการอนุโลมจากศูนย์ ศปมผ. ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า เรือประมงของจำเลยทั้งสามเป็นเรือขนาดใหญ่ถึง 721 ตันกรอส การนำเรือออกไปทำการประมงและนำกลับเข้าท่าเทียบเรือต้องมีการแจ้งต่อทางราชการเป็นหลักฐานทุกครั้ง อีกทั้งมีกำหนดระยะเวลากำกับไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้ การฝ่าฝืนดังกล่าวมีโทษปรับตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 152 วรรคสี่ สูงถึง 2,000,000 บาท จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยทั้งสามจะจงใจฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการนำเรือเข้าท่าเทียบเรือเกินกำหนดเวลาตามประกาศกรมประมงตามรูปคดีมีเหตุให้น่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสามเข้าใจโดยสุจริตว่า ได้รับการอนุโลมให้นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำเรือออกไปทำการประมง ดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสามขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานไม่นำเรือเข้าท่าเทียบเรือประมงภายในกำหนดเวลาตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2562
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรค สอง, 225
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 26, 75 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยให้ใช้และเพิ่มความใหม่แทน โดยความผิดฐานนำพืชกระท่อมเข้ามาในราชอาณาจักร เพิ่มบทความผิดมาตรา 26/2 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 75 วรรคสาม ความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพิ่มบทความผิดมาตรา 26/3 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 76/1 วรรคสี่ แต่เนื่องจากบทความผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่กับกฎหมายเดิมไม่แตกต่างกัน จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665 - 3666/2562
ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4), 195 วรรค สอง, 215, 225
การปลอมหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนและการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ จ. ในความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6246/2561
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กำหนดสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรรวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 78,000 บาท ลงโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 312,000 บาท และไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วางโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 156,000 บาท และลดโทษกึ่งหนึ่งให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 78,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035 - 6038/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 30
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8, 20, 29
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112
ข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 มาตรา ข้อ 21, วรรค ท้าย
การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน อันเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวนคดีอาญา หาได้มีผลผูกพันกับคดีแพ่งไม่ จึงจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ขาด
แม้จำเลยให้การว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง
จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินไม่ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมิน อันมีผลให้การประเมินเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2561
ป.อ. มาตรา 3
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้น จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3
มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้วและศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2561
ป.อ. มาตรา 3, 80, 90
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรค สอง, 225
พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรค หนึ่ง, 20 วรรค หนึ่ง
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244
การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานพยายามส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มีระวางโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน และตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่ได้บัญญัติการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม ป.อ. มาตรา 80 ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้เพียง 6 ปี 8 เดือน โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นโทษหนักกว่าความผิดฐานนี้ จึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิด หรือกระทำความผิดสำเร็จ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากัน เมื่อโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 5,410,932 บาท โทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด การกำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2561
ป.พ.พ. มาตรา 193/12, 193/14 (5), 193/31
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10, 10 ทวิ, 102 ตรี, 112 จัตวา, 112 อัฏฐารส
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงอัตราพิกัดศุลกากรไม่ถูกต้อง จึงได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีนับตั้งแต่วันนำของเข้า และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยมีใบขนสินค้าหลายฉบับ นับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีจะเกินสิบปี แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย ส่งให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดสิบปี แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้าอยู่ด้วย แต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และจำเลยได้รับแล้วมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 112 อัฏฐารส แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงเป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำนวนภาษีจึงยุติตามการประเมินและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว และต้องฟังว่า สินค้าพิพาทจัดเป็นของตามประเภทพิกัด 9403.20 และพิกัดประเภทที่ 9403.20.00 ในฐานะเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ทำด้วยโลหะตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ตามมาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระได้เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบสินค้าขาเข้าโดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นำเข้าโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยว่า จำเลยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงยังไม่ยุติ เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดโดยเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 30
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1), 8
การคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าต้องอาศัยมูลค่าของสินค้าหรือราคาที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินเพื่อเป็นราคาสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า เมื่อการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องอากรขาเข้าอันเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/2 (1) โดยตรง ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับการประเมินอากรขาเข้าซึ่งโจทก์ยื่นคำอุทธรณ์ไว้ต่อจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ได้โดยไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในปี 2552 ถึงปี 2553 นั้น ยังมิได้ระบุถึงการให้สิทธิพิเศษในกรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม อันสอดคล้องกับประกาศกรมศุลกากร ที่ 122/2549 กำหนดวิธีปฏิบัติสำหรับของที่นำเข้าโดยส่งผ่านเขตของประเทศอื่นนอกเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ไว้เท่านั้น แต่ไม่มีข้อความที่ระบุให้การซื้อขายผ่านประเทศที่สาม (Third Party Invoicing) ได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดอัตราอากรแต่อย่างใด ดังนั้น แม้บริษัท ท. สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าพิพาทตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) แต่เมื่อโจทก์ทำสัญญาซื้อขายและเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตชำระเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัท ย. สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน กรณีจึงเป็นการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม มิใช่เป็นการนำเข้าสินค้าพิพาทจากสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยตรง โจทก์ย่อมไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศกรมศุลกากรทั้งสองฉบับที่ใช้บังคับในเวลานั้น แม้ต่อมาอธิบดีกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 106/2553 ระบุถึงกรณีซื้อขายผ่านประเทศที่สามไว้ แต่ประกาศกรมศุลกากรฉบับนี้ก็มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกมาใช้ภายหลังจากที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาท ไม่อาจนำมาใช้ขยายความประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เพื่อยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากรแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2561
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ที่จำเลยใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นของกลาง โดยได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยถูกตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในกระเป๋าเดินทางของจำเลยขณะที่เจ้าพนักงานฝ่ายควบคุมทางศุลกากร ศูนย์บริการศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมืองขอตรวจค้นกระเป๋าเดินทางของจำเลย และเจ้าพนักงานยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางซึ่งจำเลยแจ้งว่าใช้ติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่ว่าจ้างให้จำเลยนำกระเป๋าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อกับ ม. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยนำกระเป๋าใบดังกล่าวจากสาธารณรัฐอินเดียไปส่งให้ที่ประเทศมาเลเซีย โดย ม. จะให้ค่าจ้างเป็นเงิน 25,000 บาท และจำเลยทราบว่าภายในกระเป๋าดังกล่าวมีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ จำเลยจึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก่อนเพื่อจะนำกระเป๋าใบดังกล่าวไปส่งให้แก่ชายไม่ทราบชื่อที่ประเทศมาเลเซีย พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือในการติดต่อรับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสาธารณรัฐอินเดียเพื่อให้มาอยู่ในความครอบครองของจำเลยก่อนแล้วจึงนำเข้ามาในประเทศไทย ดังนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงอันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9146/2560
ป.รัษฎากร มาตรา 79/2, 83/10
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8
พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มาตรา 3
โจทก์เป็นบริษัทหรือวิสาหกิจอเมริกัน ย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจได้ภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2511
ในการนำสินค้าบุหรี่ซิกาแรตเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าแสตมป์ยาสูบและต้องส่งเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 ที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนนำคดีมาฟ้องศาลแต่อย่างใด และตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีวางประกัน ) 210 ฉบับ กับแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) 180 ฉบับ ก็ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพไว้ในเอกสารแนบท้ายแบบแจ้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนของภาษีสรรพสามิต (ค่าแสตมป์ยาสูบ) และเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้า ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19)..." ดังนั้น แม้ ป.รัษฎากร ตามมาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีอันเป็นราคาศุลกากรที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นราคาใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี และ ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร..." ดังนั้นความรับผิดเกี่ยวกับมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้ราคาศุลกากรลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับราคาศุลกากรซึ่งเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร อีก
คดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในปี 2545 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ซึ่งแบบแสดงรายละเอียดราคาศุลกากรที่โจทก์ยื่นประกอบใบขนสินค้าขาเข้าระบุว่า ผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์กันในลักษณะบุคคลทั้งสองถูกควบคุม โดยบุคคลที่สามไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีผลต่อราคาซื้อขาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ใช้ราคาซื้อขายของที่นำเข้าเป็นราคาศุลกากร แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ข้อ 5 กำหนดว่า ในการกำหนดราคาศุลกากรตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้นำของเข้ามีหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงหรือความถูกต้องของข้อความหรือเอกสารใด ๆ ที่ได้สำแดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อ 14 กำหนดว่า ราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้... (4) ผู้ซื้อต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ขายตามที่กำหนดในข้อ 4 เว้นแต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่มีผลต่อราคาซื้อขายของที่นำเข้าตามข้อ 15 วรรคสอง กำหนดว่า ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุสงสัยว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอาจมีผลต่อราคาซื้อขายของที่นำเข้า ให้แจ้งผู้นำของเข้าทราบและกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ผู้นำของเข้ามาชี้แจงแสดงเหตุผลหรือนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อพิสูจน์เหตุสงสัยดังกล่าว และข้อ 6 กำหนดว่า ให้นำความในภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความตามความตกลงในการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ มาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดราคาศุลกากรตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งตามภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความ หมายเหตุทั่วไป 3. ในกรณีที่หน่วยงานบริหารทางศุลกากรไม่สามารถที่จะยอมรับราคาซื้อขายได้โดยไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติม หน่วยงานบริหารทางศุลกากรควรให้โอกาสผู้นำของเข้าในการจัดหาข้อสนเทศที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาท 4 ครั้ง จากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สำแดงราคา 8.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 มวน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 เพราะมีเหตุสงสัยผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์กันเช่นเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ได้ยื่นหนังสือเพื่อพิสูจน์ว่าราคาที่สำแดงใกล้เคียงกับราคาหักทอนของของที่เหมือนกันหรือของที่คล้ายกันแล้ว ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สามารถตรวจสอบสภาวการณ์ที่แวดล้อมการขายนั้นได้ จึงเห็นได้ว่าการนำเข้าสินค้าของโจทก์ในคดีนี้มีข้อมูล สถานะการขาย และลักษณะการซื้อขายของโจทก์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โจทก์ยังคงสำแดงราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมรับราคานั้นมาโดยตลอด จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีข้อสนเทศอย่างเพียงพออยู่แล้วไม่ต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมอีก พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัย ตามข้อ 15 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 และภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความตามความตกลงในการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7839 - 7840/2560
ป.รัษฎากร มาตรา 78/2, 79/2, 83/8, 83/9, 89/1
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 8, 8 ทวิ, 10 ทวิ, 87, 88, 95
เมื่อโจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ความรับผิดในค่าภาษีย่อมเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ การที่โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราที่นำเข้ามาฝากเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป เป็นเพียงการชะลอการชำระค่าภาษีซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 87 มาตรา 88 และ มาตรา 10 ทวิ วรรคสอง ที่ให้คำนวณตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของออกไป หากโจทก์นำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรก็จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามมาตรา 88 วรรคสอง แต่หากโจทก์นำสินค้าออกเพื่อบริโภคภายในประเทศ โจทก์ยังคงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 10 ทวิ กรณีนี้โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราวิสกี้จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและได้นำของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ต่อมาโจทก์ขออนุมัติขนย้ายหัวน้ำเชื้อสุราดังกล่าวไปยังคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าของโจทก์ และปรากฏว่าหัวน้ำเชื้อสุราขาดหาย ไปจากจำนวนที่เคยจดแจ้งไว้ในใบขนสินค้าเดิมที่นำเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป โจทก์จึงไม่อาจนำปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปก่อนนำเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าไปรวมกับปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่คงเหลืออยู่แล้วถือว่าได้ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกอันจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และแม้โจทก์จะอ้างว่าหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปเกิดจากการระเหยตามธรรมชาติที่เกิดจากขั้นตอนการจัดเก็บและหมักบ่มเป็นกระบวนการผลิตสุราวิสกี้ แต่เหตุดังกล่าวไม่ใช่การสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 95 ที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรได้ โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปดังกล่าว
กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นจากการนำเข้า โจทก์จึงต้องรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ต้องชำระอากรขาเข้า โดยโจทก์มีหน้าที่ยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากร พร้อมกับชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 83/8 และมาตรา 83/9 แห่ง ป.รัษฎากร และถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อโจทก์ไม่ชำระหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 การที่เจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 เริ่มคิดเงินเพิ่มนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2544 วันที่ 9 สิงหาคม 2544 และวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำเข้าและยื่นใบขนส่งสินค้าเพื่อนำของเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปอันเป็นวันที่ต้องชำระอากรขาเข้าจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2560
ป.รัษฎากร มาตรา 77/1
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2560
ป.พ.พ. มาตรา 193/12, 193/14 (5), 193/31
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10, 10 ทวิ
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาด...ให้มีอายุความสิบปี... แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำเข้าหรือส่งของออก" บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดสิทธิเรียกร้องของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดในกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรให้มีอายุความสิบปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งออก ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี และมาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ" คือเริ่มนับตั้งแต่วันนำของเข้า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ซึ่งมีอายุความสองปี แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำของเข้า
เมื่อใบขนสินค้า 16 ฉบับ ที่จำเลยนำเข้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2543 ซึ่งนับแต่วันนำสินค้าเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเป็นการประเมินและฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าอากรของโจทก์ที่ 1 สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความ สำหรับสินค้าที่นำเข้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 รวม 5 ฉบับ โจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรที่ขาดแก่จำเลย และจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เป็นการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยแต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียว
กับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 กันยายน 2554 จึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ 5 ฉบับดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2560
พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ, 19 ตรี
พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ บัญญัติว่า "ของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... ถ้าพิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วให้แก่ผู้นำของเข้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้...(ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออก เข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน..." และมาตรา 19 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิต... เพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้รับการค้ำประกัน... แทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย...เมื่อมีการส่งออกซึ่งของที่จะได้คืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ ก็ให้คืนหลักประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร"
การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนเงินประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ กำหนดไว้เพียงกรณีเดียว คือ เมื่อผู้นำเข้าได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก) ถึง (จ)
แม้กากถั่วเหลืองที่โจทก์นำเข้าได้ใช้ผสมอาหารสัตว์เลี้ยงไก่เพื่อส่งไก่สดแช่แข็งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และเหตุที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายนั้นจะเกิดจากการที่ต่างประเทศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากกรณีภัยพิบัติไข้หวัดนก อันมิใช่ความผิดของโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่เหตุตามมาตรา 19 ทวิ ที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าแก่โจทก์
การที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้เพราะ รัฐบาลห้ามส่งออก คู่ค้าต่างประเทศประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย อันเป็นเหตุจากไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลประกาศภัยพิบัติไข้หวัดนกให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยโดยออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 ขยายเวลาการส่งออกไก่สดเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่เป็ด ออกไปอีกหกเดือนสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 โจทก์ก็ยังไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้จากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2560
ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรค สอง (1)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรค หนึ่ง
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรค สาม
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2550 ของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ศาลพิพากษาว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0109-0148-70129 จัดเข้าพิกัดศุลกากร 8471.90 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ย ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบสองเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าเลขที่เดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ต่อมาจะได้ความจากอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ได้ก่อนคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก่อนมีการออกแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า โจทก์เคยมีข้อโต้แย้งการจัดประเภทพิกัดสินค้าพิพาทในคดีนี้ โดยส่งหนังสือสอบถามไปยังกลุ่มงานพิกัดอัตราศุลกากร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าพิพาท เจ้าพนักงานประเมินเคยมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงและยื่นเอกสาร และโจทก์ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายโต้แย้งการจัดพิกัดสินค้าพิพาทของผู้จับกุม ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีแบบแจ้งการประเมินอ้างถึงเลขที่ใบขนสินค้าพิพาทที่ตรวจพบว่าสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้อง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ ซึ่งหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ระบุว่า "ชื่อของหมวด ตอน และตอนย่อย ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สะดวกแก่การอ้างอิงเท่านั้น ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทให้จำแนกตามความของประเภทนั้น ๆ ตามหมายเหตุของหมวดหรือของตอนที่เกี่ยวข้องและตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ หากว่าประเภทหรือหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น" หลักเกณฑ์ข้อ 6 ระบุว่า "ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทของของเข้าในประเภทย่อยของประเภทใดประเภทหนึ่งให้เป็นไปตามความของประเภทย่อยที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์ข้างต้นโดยอนุโลม โดยพิจารณาเปรียบเทียบในระหว่างประเภทย่อยที่อยู่ในระดับเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์นี้ให้ใช้หมายเหตุของหมวดและของตอนที่เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่จะมีข้อความระบุไว้เป็นอย่างอื่น" ซึ่งหมายเหตุของหมวด 16 ข้อ 4 ระบุว่า "ในกรณีเครื่องจักร (รวมถึงกลุ่มเครื่องจักร) ที่มีองค์ประกอบแยกเป็นแต่ละส่วน (ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะแยกกันหรือต่อเชื่อมกันด้วยท่อ อุปกรณ์ส่งกำลัง เคเบิลไฟฟ้าหรือด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ) โดยเจตนาที่จะให้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนึ่งที่ระบุได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคลุมถึงโดยประเภทใดประเภทหนึ่งในตอนที่ 84 หรือตอนที่ 85 ให้จำแนกของทั้งหมดเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่นั้น" ส่วนหมายเหตุของหมวด 18 ตอนที่ 90 ข้อ 3 ระบุว่า "ข้อกำหนดของหมายเหตุ ข้อ 4 ในหมวด 16 ให้ใช้กับตอนนี้ด้วย" และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 จ. ระบุว่า "เครื่องจักรที่ประกอบร่วมกันหรือทำงานเชื่อมกันกับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และทำงานเฉพาะอย่างนอกจากการประมวลผลข้อมูลให้จำแนกเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของเครื่องจักรนั้นหรือจำแนกเข้าประเภทอื่นที่เหลือ" เมื่อสินค้าเครื่องสแกนเนอร์พิพาทที่โจทก์นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องเลเซอร์ปริ้นเตอร์และใช้งานร่วมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างเป็นเครื่อง DIGITAL MINILAB นำมาใช้งานเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการภาพถ่ายออกแบบเพื่อทำงานร่วมกันตรงตามความในหมายเหตุข้อ 4 หมวด 16 หมายเหตุข้อ 3 ตอน 90 และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 (จ) จึงจัดเป็นของตามพิกัดประเภทที่ 9010.50 ในฐานะเป็นเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ตามห้องปฏิบัติการภาพถ่าย (รวมถึงภาพยนตร์) และเครื่องเนกาโตสโกป ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 และข้อ 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2560
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1), 8
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน การที่จำเลยเพียงแต่มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อโจทก์และมีหนังสือขอความเป็นธรรมจากโจทก์ ก็หาใช่คำอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์การประเมิน จำนวนค่าอากรจึงยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีนี้ว่า จำเลยไม่ต้องเสียอากรตามการประเมินเพราะเหตุการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของประกาศกรมศุลกากรฯ และจำเลยสามารถใช้สิทธิยกเว้นให้ถูกต้อง แม้ใช้สิทธิภายหลังการตรวจปล่อยสินค้าหรือเสียอากรไปแล้วได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2560
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร มาตรา 4, 14
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 กำหนดให้ของในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทพิกัด 84.72 ประเภทย่อย 8472.90 รายการเฉพาะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว มิได้ให้คำนิยามของ "เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไว้" จึงต้องถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ประเภทพิกัด 84.72 เครื่องสำนักงานอื่น ๆ (Other office Machines) ประเภทย่อย 8472.90 อื่น ๆ (6) ระบุว่า เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ซึ่งลูกค้าสามารถใช้ฝาก ถอน และโอนเงินและดูยอดคงเหลือของบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ดังนั้น แม้สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามโบรชัวร์สินค้า จะใช้ชื่อว่า "Cash Dispenser" คล้ายกับเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 (5) ที่สามารถทำงานได้เพียงอย่างเดียวคือการจ่ายธนบัตร และตามพิกัดนี้ไม่ได้รับยกเว้นอาการขาเข้า ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว แต่ตามโบรชัวร์สินค้าพิพาทได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) พิพาทไว้ว่า เป็นเครื่องสำหรับให้บริการ ทำรายการธุรกรรมทางการเงิน ดังนี้ ถามยอดบัญชี โอนเงิน เบิกเงินสด ชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจึงจัดเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว
ดร.สงบ สิทธิเดช
รวบรวมจาก ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา