วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

องค์ประกอบความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242

องค์ประกอบความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560

   “มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน”

    หมายเหตุ ม.242 นี้เดิม คือ ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ตาม ม. 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับ ม. 17 พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 (สามารถอ่านคำอธิบาย ม.27 กฎหมายศุลกากรปี 2469 เพิ่มเติมตาม Linkนี้)

    ความผิดตามมาตรา 242 นี้สามารถแยกออกได้เป็น 2 ชนิด (ฐานความผิด) คือ ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร และความผิดฐานเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต เดิมคือ ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ตาม มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ทั้งนี้ตาม ฏีกาที่ 8476/2540, 448/2513 ได้ระบุว่า ความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิด อยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน (ฏีกาท้ายเรื่อง)

    สามารถแยกอธิบายความผิดแต่ละชนิดได้ดังนี้
   1. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรตามมาตรา 242

   องค์ประกอบภายนอก
     1) ผู้กระทำ คือ 
        1.1) ผู้ใด
        1.2) ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกัน รับโทษเช่นเดียวกัน ม.245
        1.3) นิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ตาม ม.253
     2) การกระทำ คือ 
        2.1) นำเข้ามาในราชอาณาจักร
        2.2) ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
        2.3) พยายามเท่ากับความผิดสำเร็จ ตาม ม.242ว.2
        2.4) ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด... ผิดตาม ม.246 ว.1
        2.5) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกหรืออกจากยานพาหนะ รับโทษเช่นเดียวกัน ตาม ม.247
         2.6) ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรานี้ เกิดขึ้นในเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน 250 ตันกรอสหรืออากาศยาน หากนายเรือหรือผู้ควบคุมอากาศยานนั้นไม่ใช้ความระมัดระวังในการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท ตาม ม.248
      3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ ของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร
      4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คือ ถ้าหากไม่มีการกระทำนั้นๆ แล้ว ผลก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition sine qua non)
     องค์ประกอบภายใน คือ เจตนา ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (ม.252)
     โทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

Dr.Sangob: Elements of customs law 2017 (Section 242)

   2. ความผิดฐานเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242
   องค์ประกอบภายนอก
      1) ผู้กระทำ คือ
           1.1) ผู้ใด
           1.2) ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกัน รับโทษเช่นเดียวกัน ม.245
           1.3) นิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ตาม ม.253
      2) การกระทำ คือ
           2.1) เคลื่อนย้ายของออกไปจาก (1) ยานพาหนะ (2) คลังสินค้าทัณฑ์บน (3) โรงพักสินค้า (4) ที่มั่นคง (5) ท่าเรือรับอนุญาต หรือ (6) เขตปลอดอากร
           2.2) พยายามเท่ากับความผิดสำเร็จ ตาม ม.242ว.2
           2.3) ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด... ผิดตาม ม.246 ว.1
           2.4) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกหรืออกจากยานพาหนะ รับโทษเช่นเดียวกัน ตาม ม.247
           2.5) ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรานี้ เกิดขึ้นในเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน 250 ตันกรอสหรืออากาศยาน หากนายเรือหรือผู้ควบคุมอากาศยานนั้นไม่ใช้ความระมัดระวังในการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น ผิดตาม ม.248
       3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
       4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คือ ถ้าหากไม่มีการกระทำนั้นๆ แล้ว ผลก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition sine qua non)
   องค์ประกอบภายใน คือ เจตนา ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (ม.252)
   โทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 
Dr.Sangob: Elements of customs law 2017 (Section 242)
       
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2513
    พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำผิดไว้หลายอย่างหลายชนิด แต่ละชนิดเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกัน
    ความผิดฐานนำของต้องจำกัดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาในราชอาณาจักร ไม่จำต้องมีองค์ประกอบในเรื่องมีเจตนาจะฉ้อภาษีรัฐบาล
    จำเลยใช้เอกสารปลอมสั่งอาวุธปืนซึ่งเป็นของต้องจำกัดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้จำเลยจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้วก็ตาม จำเลยก็ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 อีก (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2513)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8476/2540
    ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิด อยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน ตามคำฟ้องและทางพิจารณา ปรากฏว่าเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรคือของที่นำเข้ามาเป็นของที่ต้องเสียภาษีมิได้ลักลอบนำเข้าแต่เป็นการนำมาผ่านศุลกากรโดยสำแดงรายการสินค้าว่าเป็น ซี่ลวดรถจักรยาน ไม่มีเครื่องหมายการค้า อันเป็นความเท็จซึ่งความจริงสินค้าดังกล่าวเป็นซี่ลวดรถจักรยานยนต์เพื่อให้เสียค่าภาษีน้อยกว่าที่จะพึงต้องเสียโดยมีเจตนาจะหลักเลี่ยงค่าภาษี กรณีจึงมีความผิดตามมาตรา 27 การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ใน ฐานะผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยรู้เห็นให้พนักงานออกของหรือชิปปิ้งนำต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวซึ่งได้มีการลบคำว่า "NOBRAND"ออก และเติมเครื่องหมายการค้ารูปดาวห้าแฉกไปยื่นต่อ ก. นายตรวจศุลกากร ให้ตรวจปล่อยสินค้าซี่ลวดและ ก. ได้ตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวไป จึงเป็นการร่วมกันใช้ เอกสารราชการปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ก. และกรมศุลกากร การใช้เอกสารราชการปลอมดังกล่าวเป็นการ กระทำความผิดต่างฐานกันกับความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร แม้มีความมุ่งหมายในการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็เป็น การกระทำต่างวาระกัน และในแต่ละวาระก็เป็นความผิด สำเร็จแล้ว จึงเป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2561
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
    ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้น จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3
   มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้วและศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ดร.สงบ สิทธิเดช
Update 2/2/19




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น