วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวข้องกับผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก

 2. คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวข้องกับผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก ตามมาตรา 2 วรรค 2 และวรรค 3

ฎีกาที่ 637/2483 การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเหล้าที่ส่งมาถึงจำเลยมีเหล้าปอร์ตไว้ ซึ่งมิได้ผลิตในดินแดนโปรตุเกสปนอยู่ด้วย ยังยืนยันขอรับจากกรมศุลกากรเพื่อไปจำหน่าย ถือได้ว่าจำเลยได้มีส่วนนำเข้ามาซึ่งเหล้าปอร์ตไว้ นั้น

ฎีกาที่ 2201/2531 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ม.2 บัญญัติความหมายคำว่า ผู้นำของเข้าไว้ว่า หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่น ๆ    ซึ่งเป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของเข้ามา จนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้อง พ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร…”

แม้ว่าตามเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร จะมีชื่อของจำเลยลงไว้ในเอกสารเหล่านั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ลายมือชื่อที่ลงไว้ มิใช่ลายมือชื่อของจำเลย หรือจำเลยมิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อเหล่านั้น และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ยื่นใบขนขาเข้า และดำเนินพิธีการทางศุลกากร จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในสินค้าที่นำเข้า จำเลยจึงไม่ใช่เป็นผู้นำเข้าตามความหมายดังกล่าว

ฎีกาที่ 4301/2534 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคแรก กำหนดให้ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของ เข้าสำเร็จ ซึ่งมาตรา 41 บัญญัติให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็น อันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่าย ของจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ดังนั้นเมื่อเรือนำของที่ โจทก์สั่งซื้อเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีชื่อ ส่งของถึงแล้ว ความรับผิดของโจทก์ที่จะชำระค่าอากรขาเข้าสำหรับ ของที่นำเข้าจึงสำเร็จแล้วแม้ว่ายังไม่ได้รับการปล่อยของไป และของนั้นได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือ ก็ไม่มีกฎหมาย ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าอากรขาเข้าที่ชำระไปแล้วคืนได้ ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) เรื่อง กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก กำหนดให้ผู้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าชำระภาษีในวันนำเข้า ซึ่งวันนำเข้าดังกล่าวตามมาตรา 78 เบญจ (1) แห่งประมวลรัษฎากรให้หมายถึงวันที่ชำระอากรขาเข้า เช่นนี้ เมื่อตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 10 วรรคแรก กำหนดให้เสียภาษีแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระค่าอากรขาเข้าไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันนำเข้าแล้ว โจทก์จะอ้างว่าการนำเข้าสำเร็จเมื่อมีการส่งมอบของที่นำเข้าโดยต้องพ้นจากความอารักขาของพนักงานศุลกากรแล้ว โดยอ้างบทบัญญัติในมาตรา 2 วรรคสิบเอ็ด (แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร) ซึ่งเป็นบทนิยามของคำว่า ผู้นำของเข้าหาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไปในวันดังกล่าวแล้วจึงเป็นการชำระที่ถูกต้อง แม้ต่อมาของที่โจทก์นำเข้าจะถูกไฟไหม้เสียหายหมดก่อนที่จะได้รับการตรวจปล่อยของไป ก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิโจทก์ที่จะเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ชำระไปแล้วคืนได้ ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าของที่นำเข้าถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับอากรคืนตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 95 ก็ดี รายรับของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 79 ตรี(15) ก็ดี เป็นข้อที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างอีกทั้งปัญหาดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 29

ฎีกาที่ 9485/2539 โรงพยาบาลมิชชั่นมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย การดำเนินกิจการใดจึงเป็นการกระทำในลักษณะของกลุ่มหรือคณะบุคคล จำเลยมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการหรือผู้จัดการโรงพยาบาลและทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการเมื่อผู้อำนวยการไม่อยู่ แม้จำเลยจะไม่ได้ลงนามในใบขนสินค้า แต่การที่จำเลยลงชื่อในหนังสือขอยกเว้นภาษีอากรถึงกรมศุลกากร เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบุคคลหรือคณะบุคคลที่ดำเนินกิจการในนามโรงพยาบาลมิชชั่น ในการนำเข้าสินค้า จำเลยจึงเป็นผู้นำเข้าสินค้าตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469

ฎีกาที่ 1920/2546 การส่งมอบสินค้าแก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบโดยชอบทำให้ผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า

จำเลยมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ธนาคารผู้รับตราส่งหรือ ช. ผู้ซื้อสินค้า การส่งมอบสินค้าแก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบโดยชอบทำให้ผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า เป็นเหตุให้ผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าจากผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ส่ง เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยได้ตามอำนาจแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยได้ทราบถึงการประกันภัยหรือไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไป

สินค้าที่ขนส่งเป็นเพียงพรมซึ่งเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตรใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า และอัญมณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 620 วรรคหนึ่ง

ฎีกาที่ 1639/2549 พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 ที่กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งนั้นอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ แต่การจำกัดความรับผิดก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 60 ด้วย เหตุที่ไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้ในกรณีตามมาตรา 60 ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่รวมถึงการประมาทเลินเล่อธรรมดา กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในลักษณะละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบล่าช้าอาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น จึงจะไม่ได้รับประโยชน์จากการจำกัดความรับผิด ส่วนกรณีประมาทเลินเล่อธรรมดา อันรวมถึงละเมิดด้วยนั้น ผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดตามมาตรา 39 กล่าวคือต้องรับผิดในความสูญเสีย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ภายใต้จำนวนจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58

การขนส่งสินค้าคดีนี้เป็นการขนส่งภายใต้เงื่อนไขให้ผู้ส่งนำสินค้าไปมอบให้ แก่ผู้ขนส่ง จากนั้นผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เอง โดยนำสินค้าของผู้ส่งหลายรายรวมไว้ในตู้เดียวกัน เมื่อถึงปลายทางผู้ขนส่งเป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์เอง แล้วนำสินค้าของผู้ส่งแต่ละรายไปเก็บไว้ในคลังสินค้ารอผู้รับตราส่งมารับสินค้า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543 บริษัท ท. ได้นำใบสั่งปล่อยสินค้าไปดำเนินพิธีทางศุลกากรและออกของ และไปติดต่อขอรับสินค้าของคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และได้รับแจ้งว่าสินค้าได้รับความเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ออกใบรายการสำรวจสินค้า จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ขนส่งได้มอบสินค้าที่แท้จริงให้แก่ผู้รับตราส่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (1) ของ พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กรณีไม่ใช่เป็นการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ให้แก่ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรับตู้ไปเปิดเอง ซึ่งจะนับอายุความตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 40 (3) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2543 จึงเป็นฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 46

ฎีกาที่ 5654/2560 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 ก.พ. 2564

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น