3. ประวัติของ ค่าภาษี ค่าอากร
คำว่า “ค่าภาษี” “อากร” ความหมายเดิมตามมาตรา 2 วรรค 9 และวรรค 13 แห่ง
พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หมายความว่า “ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียมหรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร
หรืออากรชั้นใน”
เอกสารไทยรุ่นเก่าที่สุดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น
พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ได้ศึกษาไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย (2544,
หน้า 99-100) พบเพียง 2 แห่ง คือ (1) ศิลาจารึกสุโขทัย และ (2) พระอัยการอาชญาหลวง
ซึ่งประกาศในสมัยอยุธยา
ความในศิลาจารึกสุโขทัยมีเพียงว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง
เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบเอาจกอบในไพร่ลู่ทาง” ส่วนคำว่า “จกอบ” แปลว่าอะไร พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ได้เขียนไว้ว่า “ ข้าพเจ้าได้เคยฟังคำอธิบายจากพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่า “จกอบ” ซึ่งกฎหมายในตอนสมัยอยุธยาเขียนว่า “จังกอบ” หรือ “จำกอบ” นั้น แปลว่าหางเสือเรือ คือ
เมื่อเรือขนาดใหญ่ผ่านด่านภาษี ก็บังคับให้หยุดยกหางเสือเรือขึ้นเสีย แล้วเจ้าหน้าที่ก็ตรวจเก็บภาษี
แต่ก็พบคำอธิบายอีกแห่งหนึ่งของเจ้าคุณอนุมานราชธน เขียนไว้ในหนังสือตำนานศุลกากรว่า “จกอบ” เป็นภาษาเขมร
หมายถึงภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บแก่สัตว์และสิ่งของที่นำเข้ามาจำหน่าย”
จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์พบว่า “อากร” เป็นศัพท์ที่ใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อากร
เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้ คือ นาไร่หรือการอนุญาตต่าง ๆ เช่น
อนุญาตให้เก็บของป่า จับปลาในน้ำ ต้มกลั่นสุรา
รายการอากรที่หาได้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราขมีดังนี้ (1) อากรค่านา (2) อากรสวน (3) อากรสุรา (4)
อากรค่าน้ำ (5) อากรบ่อนเบี้ย (6) อากรโสเภณี
ซึ่งปรากฏว่าผู้ขอนุญาตตั้งซ่องเป็นข้าราชการทั้งสิ้น (7) อากรมรดก (หลวงวิจิตรวาทการ, 2544 : 109)
ส่วนคำว่า “ภาษี” เพิ่งจะมาเริ่มใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่
3)
และต่อมามีการใช้คำสองคำนี้สำหรับการเรียกเก็บเงินต่าง ๆ มากมาย มีนักเศรษฐศาสตร์ให้คำนิยามภาษีอากรว่า
ภาษีอากร คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร
โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนแก่ผู้เสียภาษีอากรโดยตรง
ด้วยเหตุนี้คำว่า “ภาษี” และ “อากร” ในความเข้าใจของคนทั่วไป
เข้าใจว่าหมายถึงเงินที่รัฐเรียกเก็บบางครั้งก็ใช้คำทั้งสองเรียกรวมกันเป็น “ภาษีอากร”
แต่ก็ไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อรรถาธิบายความแตกต่างไว้โดยเฉพาะ
พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวเกี่ยวกับ “ภาษีอากร” ไว้ในตำนานกรมศุลกากร (2494, หน้า 7) ว่า “ยังอากรอีกประเภทหนึ่ง
ซึ่งมีมาก่อนภาษี ตามคำอธิบายในตำนานภาษีอากร
ว่าเป็นส่วนชักจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้โดยประกอบการต่าง ๆ
เช่นทำนาทำสวนเป็นต้น หรือ โดยได้สิทธิของรัฐบาล
เช่นอนุญาตให้เก็บของในป่า
จับปลาในน้ำและต้มกลั่นสุราเป็นต้น
เพราะฉะนั้นอากรตามคำอธิบายจึงผิดกับภาษี
ในข้อที่อากรนั้นเรียกเก็บจากผลประโยชน์ซึ่งทำได้ ส่วนภาษีว่าโดยทั่วไปเรียกเก็บจากสินค้าผ่านด่าน แต่การเก็บภาษีและอากร โดยมากมีผู้ผูกขาดรับประมูลเอาไป และลักษณะการในลางอย่างก็คล้ายคลึงกันหรือปน ๆ
กัน จึงมักเรียกรวม ๆ
กันไปว่าภาษีอากร
(ถ้าเป็นอากรที่มีมาแล้วแต่ก่อนเรียกอากรตามเดิม ถ้าเป็นอากรเกิดใหม่เรียกว่าภาษี) และเรียกผู้รับประมูลได้ว่าเจ้าภาษีนายอากร ในการต่อมาสมัยปัจจุบัน ภาษีอากรผูกขาดมีเหลืออยู่น้อยแล้ว เช่น อากรรังนก เป็นต้น
แต่คำทั้งสองนี้ยังมีใช้อยู่ในลักษณะที่ไม่ใช้เป็นผูกขาดก็มี เช่น ภาษีเงินได้อากรแสตมป์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นในการเล่าเรื่องต่อไป แม้เมื่อเล่าถึงสมัยก่อนมีภาษีหรืออากรที่เกิดใหม่ก็จะใช้คำว่าภาษีเพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว”
ความหมายของ “ภาษีอากร”
นี้ได้มีผู้ให้คำนิยามไว้มากมายแตกต่างกันไปสุดแต่จะมองในแง่ใด
แต่คำจำกัดความซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปได้แก่นิยามของเซลิแกน (Seligman) ที่ว่า A
tax, in the modern sense, is the compulsory contribution from the person to the
government to defray the expenses incurred in the common interest of all
without reference to specials benefits conferred
เมื่อแปลแล้วได้ความว่า “ภาษีอากร” คือเงินที่รัฐบังคับเก็บจากบุคคลเพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของรัฐ โดยที่ผู้บริจาคมิได้รับผลประโยชน์ใด ๆ
ตอบแทนเป็นการพิเศษเฉพาะตัว
นอกจากนี้ประเภทภาษียังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
การแบ่งประเภทตามหลักการผลักภาระภาษี กับ การแบ่งประเภทตามลักษณะของฐานภาษี
การแบ่งประเภทภาษีตามหลักการผลักภาระภาษีนี้ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสำนักฟีซิโอแครท (Physiocrat) เป็นผู้เริ่มขึ้นก่อน โดยแบ่งประเภทภาษีอากรเป็นภาษีทางตรง (Direct
tax) และภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ซี่ง
จอนห์สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill)
ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์สำนักฟีซิโอแครท John Stuart Mill
มีความเห็นว่าในการแบ่งประเภทของภาษีอากรควรที่จะได้หยิบยกเอาเรื่องภาระภาษีขึ้นมาพิจารณาเป็นหลัก
เขามีความเห็นว่าภาษีประเภทใดก็ตามที่จัดเก็บโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเป็นผู้รับภาระภาษีนั้นจริง
ๆ แล้ว ภาษีชนิดนั้นจึงจะจัดว่าเป็นภาษีทางตรง
แต่ถ้าภาษีประเภทใดที่จัดเก็บโดยเปิดโอกาสให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายสามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่นรับแทนได้แล้ว
ภาษีชนิดนั้นก็คือภาษีทางอ้อม
ภาษีทางตรง (Direct tax)
ที่ประเทศต่าง ๆ ทำการจัดเก็บส่วนใหญ่ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal
Income Tax) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporation Income Tax) ภาษีมูลค่าเพิ่มของทรัพย์สิน (Capital Gains Tax)
ภาษีทรัพย์สิน (Properties Tax) ภาษีมรดกและภาษีการให้ (Death
and Gift Tax)
ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ได้แก่
ภาษีประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ภาษีการใช้จ่าย (Spending Tax)
ภาษีการขาย (Sales Tax) ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) ภาษีศุลกากร (Customs Tax)
(ปรีดา นาคเนาวทิม, 2535, หน้า 3, 19-21)
เมื่อพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) ได้ให้ความหมายภาษีกับอากรไว้แตกต่างกัน กล่าวคือ “ภาษี” หมายถึงเงินที่มีกฎหมายกำหนดให้รัฐหรือท้องถิ่นเรียกเก็บจากบุคคลในเหตุต่าง ๆ เช่น การมีรายได้ การมีทรัพย์สิน การประกอบกิจการ การบริโภค เพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศหรือท้องถิ่น เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนคำว่า “อากร” หมายถึง ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ ฉะนั้น ความหมายโดยทั่วไปค่าภาษีจึงหมายถึงทรัพย์สินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรโดยทางตรง ส่วนค่าอากรจึงหมายถึงทรัพย์สินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรโดยทางอ้อม สำหรับในทางศุลกากรตามกฎหมายเดิมก่อนแก้ไขเพื่อประโยชน์ในการตีความจึงกำหนดให้ “ค่าภาษี” ตามมาตรา 2 วรรค 9 และ “ค่าอากร” ตามมาตรา 2 วรรค 13 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีความหมายทำนองเดียวกันคือให้หมายความและกินความรวมไปถึง ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน ("TAXES" / “DUTY” shall mean any tax, duty, fee, or charge relating to the Customs or internal revenue ;)
4.1
ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บตามกฎหมายศุลกากร
นอกจาก “อากร” แล้ว ยังมี “ค่าธรรมเนียม” ที่ กรมศุลกากร ต้องจัดเก็บตามกฎหมายศุลกากร
เดิมความหมายของค่าธรรมเนียมปรากฏอยู่ในวิเคราะห์ศัพท์
“ค่าภาษี” “อากร”
ตามมาตรา 2 วรรค 9 และวรรค 13 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หมายความว่า “ค่าภาษี ค่าอากร
ค่าธรรมเนียมหรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน” ต่อมา พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.
2560 ได้ยกเลิกฉบับ พ.ศ. 2469 ไม่ได้ให้ความหมายของค่าธรรมเนียมไว้ แต่ได้กำหนดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไว้อยู่ในมาตรา
5 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม
“มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานศุลกากร
กับออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) กำหนดท่า ที่ หรือสนามบินใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นด่านศุลกากร
โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้
รวมทั้งระบุเขตศุลกากรของด่านศุลกากรนั้น
(2) กำหนดที่ใด ๆ ให้เป็นด่านพรมแดน
โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้
(3) กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้
หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม”
ปัจจุบันกรมศุลกากรได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตาม
กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร พ.ศ.
2560 (ดูคำอธิบายในมาตรา 5 (3))
“ค่าธรรมเนียม” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมาย ทั่ว ๆ ไปหมายถึง
ค่าบริการที่เรียกเก็บตามกฎหมาย สำหรับ “ค่าธรรมเนียม” ตามกฎหมายศุลกากรได้มีคำวินิจฉัยพิธีการศุลกากรที่ 12/2480
ได้วินิจฉัยไว้หมายความถึง “เงินที่เรียกเก็บ โดยอาศัยบทบังคับของกฎหมายผู้เสียจะต้องเสียเงินนั้น
ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดในฐานที่เจ้าหน้าที่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้” ปรากฏอยู่ในมาตรา 122 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469
ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม
ค่าภาระติดพัน ค่าใบอนุญาต ค่าแบบพิมพ์ ค่าเดินทาง และกิจการอื่น ๆ
เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงที่ออกในช่วงแรก
ได้แก่ กฎกระทรวงการคลังออกตามความใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ลงวันที่ 29
พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 กำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในใบแนบ ศ.1
ถึง ศ.7
ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมที่เลือกเก็บหลายครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการเงินแต่ละสมัย
เช่น ฉบับปี พ.ศ. 2483, ฉบับที่ 52 (พ.ศ. 2510), ฉบับที่ 66 (พ.ศ. 2517), ฉบับที่
71 (พ.ศ. 2521), ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2517), ฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2532), ฉบับที่ 90
(พ.ศ. 2534), ฉบับที่ 107 (พ.ศ. 2538) และฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2547) เป็นต้น
4.2 แนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม
(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนถือว่าเป็น
“ค่าภาษี” หรือ “อากร” ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย (คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่
83/2520 มีนาคม 2520)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ได้วินิจฉัยปัญหานี้ว่า
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 227 ข้อ 27 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ว่า “การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าตามข้อนี้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมศุลกากร
และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรใช้บังคับโดยอนุโลม
โดยถือเสมือนว่าค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประกาศของคณะปฏิวัตินี้เป็น “บทกฎหมายอันเกี่ยวกับศุลกากร” ตามนัยมาตรา 2
วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ ด้วย เพราะในประการแรก
การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษนี้เป็นการเรียกเก็บเพื่อการนำผลิตภัณฑ์เข้ามาในราชอาณาจักร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 “ศุลกากร น. ค่าอากรที่เรียกเก็บจากสินค้าขาเข้าและขาออก”
ค่าธรรมเนียมพิเศษที่มิใช่เป็นค่าธรรมเนียมประเภทที่เรียกเก็บสำหรับบริการ
หรือประโยชน์ที่รัฐให้แก่ผู้เสียค่าธรรมเนียม
หากแต่เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บที่คุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ
อย่างที่มักจะเรียกกันว่า “ค่าธรรมเนียมซึ่งมีสาระเป็นภาษีอากร” ฉะนั้นจึงเป็น “ค่าธรรมเนียมในทางศุลกากร” ตามความหมายของคำว่า “อากร” ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ เป็นประการที่สอง
(2)
การหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ
ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีหรืออากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
(คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีนาคม 2528)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ได้พิจารณาปัญหานี้มีความเห็นว่า
สำหรับค่าธรรมเนียมพิเศษที่เป็นปัญหาในเรื่องนี้ มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน
พ.ศ. 2520 ได้กำหนดวิธีการคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
โดยให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน
คล้ายคลึงกันหรือทดแทนกันได้กับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลใดต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษแล้ว
การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้น
กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร
และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม
โดยให้ถือว่าค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว “เป็นเสมือนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร”
ตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482
ได้ให้ความหมายของคำว่า “ค่าภาษี” และ “อากร” ตรงกันว่า หมายความว่า “ค่าภาษี
ค่าอากร ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน” ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมพิเศษที่เรียกเก็บตามมาตรา 49
แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็น “ค่าธรรมเนียมในทางศุลกากร”
เพราะเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ
เพื่อการนำผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่กำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเข้ามาในราชอาณาจักร
ค่าธรรมเนียมพิเศษนี้จึงเป็น “ค่าภาษี” หรือ “อากร” ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ดังนั้น บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บอากร
ขาเข้าทั้งหมดจึงต้องนำมาใช้แก่การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวด้วย
รวมทั้งบทบัญญัติที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีหรืออากร
เพราะการกระทำที่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ
ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีหรืออากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
(3) การหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น
(คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 574/2560 พฤษภาคม 2560)
คณะกรรมการกฤษฎีกา
ได้พิจารณาข้อหารือของกรมการค้าต่างประเทศ โดยมีผู้แทน กรมศุลกากร
กรมการค้าต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
และสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วเห้นว่า
กรณีตามปัญหานี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นสามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับการเรียกเก็บอากรขาเข้าตาม
พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือไม่
และหากมีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรดังกล่าวจะสามารถนำมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรฯ
มาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเห็นว่า พ.ร.บ.
การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการที่มีสินค้าชนิดเดียวกันที่ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดภายในประเทศจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน
ส่วน พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550
เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการที่มีสินค้าชนิดเดียวกันที่ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก
ซึ่งพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวอาจกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือมาตรการปกป้องการนำเข้าโดยกำหนดให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรปกป้องได้
ทั้งนี้ ตามาตรา 49 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.
การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศฯ และมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง
พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นฯ ซึ่งในการเรียกเก็บอากรนั้นพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวได้บัญญัติให้นำกฎหมายศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับกับการเรียกเก็บอากรเสมือนเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนหรือคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง
จึงสามารถเรียกเก็บอากรในลักษณะเดียวกันกับอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้
กรณีจึงมีปัญหาต่อมาว่าหากมีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น
จะสามารถนำมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรฯ
มาใช้บังคับได้หรือไม่หรือต้องดำเนินการอย่างไร
โดยข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นเรื่องการบังคับใช้บทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดทางอาญาของบุคคลอื่นจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด
ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ได้เคยวินิจฉัยในเรื่องเสร็จที่ 271/2545
ไว้แล้วว่า การนำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ต้องมีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นำบทกำหนดความผิดอาญาและบทกำหนดโทษของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องนั้นมาใช้บังคับแก่การนั้น
เพราะบุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้นที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8123/2553
ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในส่วนหนึ่งของคำพิพากษาฎีกา คำว่า “อากร” ตามมาตรา 27 แห่ง
พ.ร.บ. ศุลกากรฯ หมายถึง ค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น
หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพกร ภาษีสรรพสามิต
และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อมาตรา 49 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.
การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศฯ และมาตรา 23 วรรคสอง
แห่ง พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นฯ มิได้บัญญัติให้นำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้ในกรณีที่มีการเรียกเก็บอากรตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว
จึงไม่สามารถนำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 แห่ง
พ.ร.บ. ศุลกากรฯ
มาใช้บังคับเมื่อมีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้
(4) ฎีกาที่ 5008/2536
กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกเก็บหรือคืน “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอก ฯ ด้วยหรือไม่
ฎีกาศาลได้วินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า
พ.ศ. 2522 ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง
กำหนดระเบียบการเรียกเก็บ
และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไว้ดังนี้ “1. การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ
ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากรและให้นำกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม…” ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่
28/2533 เรื่อง
ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกเก็บและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำของเข้ามาในราชอาณาจักร
ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์และประกาศอื่น กำหนดไว้ตามความในข้อ 6 ว่า “การขอคืนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับของที่ได้รับคืนเงินอากรขาเข้า…
หรือที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสีย
ให้ผู้นำของเข้าปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการคืนเงินอากรขาเข้าโดยอนุโลม” จึงแสดงว่าจำเลยมีหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมพิเศษ
และคืนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ผู้นำเข้าได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียด้วย
ค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว
เป็นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า
จึงเป็นภาษีอากรตามความหมายของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร
พ.ศ. 2528 มาตรา 3 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวอันเป็นภาษีอากรจากจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางได้ ตาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (3)
หมายเหตุ “มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “ภาษีอากร” หมายความว่า ภาษี อากร และค่าภาคหลวงทุกชนิด และหมายความรวมถึง ....
(4)
ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า...
ให้เป็นภาษีอากรตามพระราชบัญญัตินี้”
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 มี.ค. 2564
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น