วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

หมวด ๗ พนักงานศุลกากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๗
พนักงานศุลกากร
                  

มาตรา ๑๕๗  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร ให้พนักงานศุลกากรซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวกับการประกอบการของผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ผู้ขนส่ง หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการของสถานที่นั้น  ในการนี้ มีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นปฏิบัติเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
(๒) จับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องมีหมายจับ เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุอื่นตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
(๓) ยึดหรืออายัดบัญชี เอกสาร หลักฐาน ข้อมูล หรือสิ่งของอื่นใดที่อาจใช้พิสูจน์ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร
(๔) มีหนังสือเรียกผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ผู้ขนส่ง หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือการส่งของออก มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมาประกอบการพิจารณาได้  ทั้งนี้ ต้องให้เวลาแก่บุคคลดังกล่าวไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น

มาตรา ๑๕๘  ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรหรืออยู่ในอำนาจกำกับตรวจตราของศุลกากร และเอาตัวอย่างของไปเพื่อตรวจสอบ หรือประเมินราคา หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นของทางราชการได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องชดใช้ราคา  ทั้งนี้ ต้องกระทำด้วยวิธีการที่จะทำให้เจ้าของเสียหายหรือมีภาระน้อยที่สุด และถ้ามีของคงเหลือให้ส่งคืนแก่เจ้าของโดยมิชักช้า

มาตรา ๑๕๙  การใช้อำนาจของพนักงานศุลกากรซึ่งอธิบดีมอบหมายตามมาตรา ๑๕๗ หรือพนักงานศุลกากรตามมาตรา ๑๕๘ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการเพื่อตรวจสอบหรือเรียกบัญชี เอกสารหลักฐาน และข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับของที่กำลังผ่านหรือได้ผ่านพิธีการศุลกากรภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่นำของเข้าหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรหรือนำผ่านราชอาณาจักร

มาตรา ๑๖๐  เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการใช้ยานพาหนะใดในการนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งหรือพาของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจสั่งให้หยุดยานพาหนะเพื่อตรวจหรือค้นยานพาหนะ หรือบุคคลที่อยู่ในยานพาหนะนั้น

มาตรา ๑๖๑  พนักงานศุลกากรอาจตรวจหรือค้นหีบห่อของผู้โดยสารที่เข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรได้ หากพบว่ามีของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจยึดหีบห่อหรือของนั้นไว้ได้

มาตรา ๑๖๒  ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจเข้าไปตรวจของ ณ สถานประกอบการ สถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง หรือยานพาหนะใดตามที่ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา ๑๖๓  อธิบดีมีอำนาจตั้งด่านตรวจเรือเข้าและออก และจะมอบหมายให้พนักงานศุลกากรประจำอยู่ในเรือลำใด ๆ ในเวลาที่เรือนั้นอยู่ในเขตน่านน้ำไทยก็ได้
เรือทุกลำที่จะผ่านด่านตรวจต้องมีพนักงานศุลกากรขึ้นเรือกำกับไปด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรกำกับด่านตรวจ และเมื่อเรือลำนั้นจะออกจากเขตท่า ให้หยุดลอยลำที่ด่านตรวจเพื่อส่งพนักงานศุลกากรขึ้นจากเรือ

มาตรา ๑๖๔  เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า เรือลำ ใดเป็นเรือที่พึงต้องถูกยึดหรือตรวจตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจสั่งให้นายเรือลำนั้นหยุดลอยลำหรือนำเรือไปยังที่ใดที่หนึ่งหากนายเรือฝ่าฝืนให้พนักงานศุลกากรเตือนให้นายเรือปฏิบัติตามคำสั่ง และหากนายเรือฝ่าฝืนคำเตือนดังกล่าว ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจดำเนินการใด ๆ เพื่อบังคับให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อนำเรือไป หรือเพื่อป้องกันการหลบหนี

มาตรา ๑๖๕  เรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันกรอส ยานพาหนะอื่นใด เว้นแต่อากาศยาน หีบห่อ ภาชนะบรรจุ หรือสิ่งใด ๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
ถ้าเรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำตามวรรคหนึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตันกรอสให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเรือนั้นได้ตามควรแก่การกระทำความผิด

มาตรา ๑๖๖  ของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นของที่พึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๖๗  ให้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึดหรืออายัดสิ่งใด ๆ อันจะพึงต้องริบหรือเป็นที่สงสัยว่าจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ได้
สิ่งที่อายัดไว้นั้น หากตรวจสอบแล้วพบว่าสิ่งนั้นไม่เป็นของอันพึงต้องริบ ให้เพิกถอนการอายัดสิ่งนั้น แต่กรณีเป็นสิ่งอันพึงต้องริบ ให้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึดสิ่งนั้น
สิ่งที่ยึดไว้นั้น ถ้าเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด และเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนดหกสิบวันหรือถ้าเป็นสิ่งอื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ยึด ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน

มาตรา ๑๖๘  ในกรณีของที่ริบได้เนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มิได้เป็นของผู้กระทำความผิด ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ถ้าเจ้าของนั้นรู้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรือจะมีการกระทำความผิด แต่มิได้กระทำการใดเพื่อมิให้เกิดการกระทำความผิดหรือแก้ไขมิให้การกระทำนั้นบรรลุผล หรือมิได้ระมัดระวังมิให้ของนั้นไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

มาตรา ๑๖๙  ถ้าพนักงานศุลกากรพบว่าบุคคลใดมีสิ่งอันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ในครอบครอง ให้บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้เป็นหลักฐานโดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้นเป็นความจริง และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำเข้ามาโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินด้วย

มาตรา ๑๗๐  บรรดาของหรือสิ่งที่ยึดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากรต้องส่งมอบให้พนักงานศุลกากรเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ของหรือสิ่งที่ยึดและตกเป็นของแผ่นดินหรือที่ศาลสั่งให้ริบตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร ให้จำหน่ายตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

มาตรา ๑๗๑  ถ้าของที่ยึดไว้เป็นของสดของเสียได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะมากเกินสมควร อธิบดีจะสั่งให้ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นก่อนที่ของนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ได้  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
เงินที่ได้รับจากการขายของตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระติดพันแล้ว ให้ถือไว้แทนของ

มาตรา ๑๗๒  ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานศุลกากรตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๑๗๓  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานศุลกากรต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานศุลกากร ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด


มาตรา ๑๗๔  ในกรณีที่ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นในทะเลอาณาเขต เมื่อพนักงานศุลกากรจับผู้กระทำความผิดและส่งให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ใด ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และมิให้นับระยะเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้กระทำความผิดส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น