วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

1. ของต้องห้าม ของต้องกำกัด ฐานข้อมูลของต้องห้าม/กำกัด

 1.1 ของต้องห้าม ตาม ม. 4 วรรค 4 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

ของต้องห้าม หมายความว่า ของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร 

“Prohibited goods” means goods which are, by laws, prohibited from importing into, exporting out of, transshipping or transiting through the Kingdom;

ผู้ใดนำของ/สินค้าต้องห้ามเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นความผิดตามมาตรา 244 และ มาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ด้วย

ของต้องห้าม ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 เดิม มีใช้อยู่ในมาตรา 17, 18, 27, 27 ทวิ และมาตรา 37 ทศ ตัวอย่างเช่น มาตรา 27  ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทยก็ดี เป็นต้น  แต่ก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ ดังนั้น พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงได้ให้คำจำกัดความหรือความหมายไว้

    ตัวอย่างของต้องห้ามในการนำเข้า-ส่งออก มีดังนี้
    1. ของที่มีเมืองกำเนิดเป็นเท็จ ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ห้ามนำของที่มีการแสดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 “ห้ามนำของหัตถกรรมใด ๆ ที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามาใน”
    2. วัตถุลามก การนำเข้าและส่งออกวัตถุลามก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนังสือ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งที่พิมพ์ขึ้น รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย และภาพยนตร์ลามกหรือวัตถุลามกอย่างอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก พ.ศ. 2471 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287
   2. สินค้าที่มีตราหรือลวดลายเป็นรูปธงชาติ (พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522)
   3. ยาเสพติดให้โทษ (พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522)
   4. เงินตรา พันธบัตร ใบสำคัญรับดอกเบี้ยพันธบัตรอันเป็นของปลอมหรือแปลง เหรียญกษาปณ์ที่ทำให้น้ำหนักลดลงโดยทุจริต (พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501)
   5. วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้าการส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง ตามมาตรา 18(4) แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
   7. ของต้องห้ามนำเข้า ของต้องห้ามส่งออก ของต้องห้ามนำเข้าและส่งออก ของต้องห้ามนำผ่าน ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ออกตาม พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ได้แก่
   7.1 ของต้องห้ามนำเข้า
    (1) เครื่องเล่นเกม - สล็อทแมชีน (Slot Machine), ตู้ม้าแข่งหรือสนามม้าแข่งจำลอง, ปาซิงโกะ (Pachinko), รูเล็ท (Roulette)
    (2) ตู้เย็น ตู้ทำน้ำเย็น ตู้แช่ หรือตู้แช่แข็งที่ใช้สารซีเอฟซี (Chlorofluorocarbons (CFCs))
    (3) เครื่องยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่ใช้แล้วของรถจักรยานยนต์
    (4) ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว
    (5) ไม้ซุงท่อนและไม้แปรรูปประเภทไม้สัก ไม้ยางและไม้ที่มีชนิดตรงกับไม้หวงห้าม ตามแนวชายแดนจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี
    (6) ภาชนะเซรามิกและภาชนะโลหะเคลือบที่ใช้บรรจุอาหาร
    (7) บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า
    (8) ตัวถังของรถยนต์นั่งที่ใช้แล้วและโครงรถจักรยานยนต์ที่ใช้แล้ว
    (9) ขยะเทศบาล
   7.2 ของต้องห้ามส่งออก
    ทรายธรรมชาติทุกชนิด ทั้งที่บดแล้วและยังไม่ได้บด
   7.3 ของต้องห้ามนำเข้าและส่งออก
    (1) สินค้าปลอม หรือเลียนแบบเครื่องหมายการค้า
    (2) สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หนังสือ สินค้าแถบบันทึกเสียง (เทปเพลง) แผ่นบันทึกเสียง (คอมแพ็คดิสก์) แถบบันทึกภาพ (วีดีโอ) และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือสินค้าอื่นใด
    7.4 ของต้องห้ามนำผ่าน
    (1) สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม หรือเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น (ตามชนิดประเภทสินค้า)
    (2) สินค้าแถบบันทึกเสียง (เทปเพลง) แผ่นบันทึกเสียง (คอมแพ็คดิสก์) แถบบันทึกภาพ (วีดีโอ) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หนังสือ หรือสินค้าอื่นใด ที่ทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น (ตามชนิดประเภทสินค้า)
    (3) บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า
    (4) เครื่องเล่นเกม - สล็อทแมชีน (Slot Machine), ตู้ม้าแข่งหรือสนามม้าแข่งจำลอง, ปาซิงโกะ (Pachinko), รูเล็ท (Roulette)
    (5) ช้าง (ตามชนิดประเภทสินค้า)
    (6) เทวรูป ชิ้นส่วนของเทวรูป พระพุทธรูป และชิ้นส่วนของพระพุทธรูป (ตามชนิดประเภทสินค้า)
    (7) โบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนินในต่างประเทศ (ตามชนิดประเภทสินค้า)
    (8) สารกาเฟอีน
    (9) ขยะเทศบาล
    นอกจากนี้ยังมีของที่ต้องห้ามนำผ่านตามมติ UN และของที่มีมาตรการคว่ำบาตรกับประเทศที่กำหนด เช่น อาวุธและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธทุกประเภท (ตามชนิดประเภทสินค้า) สินค้าอาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร เป็นต้น (รายละเอียดเพิ่มเติมเว็บไซด์ของกรมการค้าต่างประเทศ https://www.dft.go.th)

- ฐานข้อมูลของต้องห้ามหรือต้องมีใบอนุญาต ในการนำเข้า/ส่งออก (เว็บไซด์กรมศุลกากร)

- ใบอนุญาต/ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซด์กรมศุลกากร)

 

1.2 ของต้องกำกัด ตาม ม. 4 วรรค 5 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

ของต้องกำกัด” หมายความว่า ของที่มีกฎหมายกำหนดว่า หากจะมีการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร จะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

                     “Restricted goods” means goods which are required by laws that their importation into, exportation out of, transshipment or transit through the Kingdom shall be permitted or shall fulfill a requirement specified in such laws;




         “ของต้องกำกัด” ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 เดิมใช้ข้อความว่า “ของต้องจำกัด” ปรากฏอยู่ในมาตรา 17, 18, 27, 27 ทวิ, 70 และมาตรา 97 ทวิ ตัวอย่างเช่น มาตรา 27  ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทยก็ดี เป็นต้น  แต่ก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ ดังนั้น พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงได้ให้คำจำกัดความหรือความหมายไว้ ส่วนคำว่า “ต้องกำกัด” มีปรากฏใช้อยู่ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 เดิม ในมาตรา 102 ตรี และ มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2483 ดังนี้

“มาตรา 102 ตรี  ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ในกรณีต่อไปนี้

1. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร หรือของต้องห้ามต้องกำกัดในการนำเข้ามาใน หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละ ๕๕ จากเงินค่าขายของกลาง...

 มาตรา 10  ถ้าปรากฏว่า ผู้ใดมีสิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัด หรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ให้อธิบดี พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น...”

การนำของต้องกำกัดเข้ามาหรือส่งออกหรือนำผ่าน ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 244 และ มาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ด้วย ดังนี้

“มาตรา 244  ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

มาตรา 246  ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ

การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง หากเป็นการกระทำโดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 243 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง หากเป็นการกระทำโดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ตัวอย่างของต้องกำกัดในการนำเข้า-ส่งออก มีดังนี้

1. ไพ่ ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ไพ่ พ.ศ. 2486 “ห้ามมิให้ผู้ใดทำไพ่หรือนำไพ่เข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี”

2. วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ได้แก่วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับการอนุญาต ตามมาตรา 18(3) แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

3. วิทยุคมนาคม ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 “ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต”

 4. สุรา ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 “ห้ามมิให้ผู้ใดนำสุราเกินกว่าหนึ่งลิตรเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต”

- ฐานข้อมูลของต้องห้ามหรือต้องมีใบอนุญาต ในการนำเข้า/ส่งออก (เว็บไซด์กรมศุลกากร)

- ใบอนุญาต/ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซด์กรมศุลกากร)

 

          1.3 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวกับของต้องห้าม ต้องกำกัด

ของต้องห้าม “Prohibited goods” ของต้องกำกัด “Restricted goods” มีปรากฏใช้อยู่ใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 62, 66, 160, 161, 165, 166, 197 และ 247 ดังนี้

มาตรา 62  พนักงานศุลกากรอาจตรวจห่อพัสดุไปรษณีย์ที่นำเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้

ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย พนักงานศุลกากรอาจกักจดหมายหรือห่อพัสดุไปรษณีย์ไว้ได้จนกว่าผู้จะส่งของออกไปหรือผู้นำของส่ง หรือผู้มีชื่อที่จะรับของหรือผู้รับของ ได้แสดงต่อพนักงานศุลกากรว่าไม่มีของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้เสียอากรในจดหมายหรือในห่อพัสดุนั้น

มาตรา 66  ถ้านายเรือได้รายงานต่อพนักงานศุลกากรว่า ตนไม่ทราบว่าของที่อยู่ในหีบห่อหรือภาชนะบรรจุที่บรรทุกมาในเรือนั้นเป็นสิ่งใด พนักงานศุลกากรจะสั่งให้เปิดหีบห่อหรือภาชนะบรรจุนั้นออกเพื่อตรวจสอบก็ได้ และหากปรากฏว่าในหีบห่อหรือภาชนะบรรจุนั้นมีของต้องห้าม ให้ยึดของนั้นไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

มาตรา 160  เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการใช้ยานพาหนะใดในการนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งหรือพาของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจสั่งให้หยุดยานพาหนะเพื่อตรวจหรือค้นยานพาหนะ หรือบุคคลที่อยู่ในยานพาหนะนั้น

มาตรา 161  พนักงานศุลกากรอาจตรวจหรือค้นหีบห่อของผู้โดยสารที่เข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรได้ หากพบว่ามีของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจยึดหีบห่อหรือของนั้นไว้ได้

มาตรา 165  เรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันกรอส ยานพาหนะอื่นใด เว้นแต่อากาศยาน หีบห่อ ภาชนะบรรจุ หรือสิ่งใด ๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

ถ้าเรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำตามวรรคหนึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตันกรอสให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเรือนั้นได้ตามควรแก่การกระทำความผิด

มาตรา 166  ของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นของที่พึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 196  ของใด ๆ ที่จัดอยู่ในบัญชีของต้องห้ามตามกฎหมายของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วม เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นจะต้องมีการยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้ารายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ การยกเว้นนั้นจะกระทำได้ก็ด้วยความตกลงระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย

มาตรา 247  ผู้ใดนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกหรือออกจากยานพาหนะ ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 242 หรือมาตรา 244 แล้วแต่กรณี

1.4 ฐานข้อมูลของต้องห้ามหรือต้องมีใบอนุญาต ในการนำเข้า/ส่งออก (เว็บไซด์กรมศุลกากร)

           1.5 ใบอนุญาต/ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซด์กรมศุลกากร) 


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
14 มี.ค. 2564

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น