วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

2. พัฒนาการกฎหมายศุลกากร (มุมมองทางทฤษฎีสังคม)

พัฒนาการกฎหมายศุลกากร (มุมมองทางทฤษฎีสังคม)
-----------------------------------------------
    การศึกษาพัฒนาการกฎหมายมีความจำเป็นอย่างมากในการค้นหาเหตุผลแห่งกฎหมาย ซึ่งบางครั้งตัวบทกฎหมายอาจจะไม่มีความชัดเจนจนทำให้ไม่สามารถตีความตามตัวอักษรได้ จึงจำเป็นต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยการค้นหาเหตุผลของกฎหมาย โดยการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมหรือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ในหลายมิติ
    กฎหมายศุลกากรเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีจัด และ ปฏิบัติการของกรมศุลกากรได้มีการประกาศใช้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2469 และแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งหลายคราวจนถึงฉบับปี พ.ศ. 2548 ใช้ระยะเวลาประมาณ 79 ปี พัฒนาการของกฎหมายศุลกากรก็เป็นไปตามกระแสเศรษฐกิจและเหตุการณ์ทางการเมืองของแต่ละยุคแต่ละสมัย ในทางทฤษฎีสังคมสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะได้แก่
1. ระยะเกษตรกรรม (ก่อน พ.ศ. 2469 – 2494) หลังสนธิสัญญาบาวนิ่ง พ.ศ. 2398
2. ระยะเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. 2494 – 2504) ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
3. ระยะพัฒนาสู่ความสมดุล (พ.ศ. 2504 – 2514)
4. ระยะพุ่งตัว (Take - off) ของผลผลิตนอกสาขาเกษตร (พ.ศ. 2514 เป็นต้นไป) ผลิตเพื่อการส่งออก

2.1 ระยะเกษตรกรรม (ก่อน พ.ศ. 2469 – 2494) 
    หลังสนธิสัญญาบาวนิ่ง พ.ศ. 2398 มีผลใช้บังคับตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 - 2411) เป็นช่วงที่ยุโรปแข่งขันกันล่าอาณานิคม ในปี พ.ศ. 2399 เป็นการรื้อโครงสร้างทางการค้าและการคลังของไทยที่ทำมาก่อนนี้อย่างช้านาน รัฐบาลต้องสูญเสียเสรีภาพทางการค้า และต้องขาดรายได้อย่างมหาศาล จากระบบการผูกขาดการค้าและการจัดเก็บภาษีที่ทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อย่างไรก็ตามนับเป็นก้าวแรกของการเปิดประตูการค้ากับต่างประเทศอย่างเสรี ผลของสนธิสัญญาฯ ทำให้ประเทศอื่น ๆ ส่งทูตเข้ามาขอเจรจาทำสนธิสัญญาทางการค้าลักษณะเดียวกันนี้
    เหตุการณ์ทางศุลกากรได้เริ่มตั้งแต่การยกร่างกฎหมายศุลกากรในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 - 2468) ที่เรียกว่า Trade and Customs Regulations 128 หลังจากนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วง พ.ศ. 2457- 2461 จนถึงช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 - 2477) จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมายศุลกากรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2469 โดยมีบันทึกหลักการและเหตุผลจะเห็นได้จากวรรคที่สองว่า “โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า วิธีจัด และ ปฏิบัติการของกรมศุลกากรนั้น สมควรจะกำหนดลงไว้ให้เป็นระเบียบสืบไป” ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปิดประเทศที่ต้องการค้าขายทางทะเลกับชาวต่างชาติ เนื้อหาของฉบับแรกจึงว่าด้วยการค้าทางทะเล หากจะมีการค้าข้ามแดนทางบกหรือทางอากาศก็จะให้นำไปใช้โดยอนุโลม ในช่วงของรัชกาลที่ 7 นี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากร 4 ครั้งคือ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2471, ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2472, ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2474 และฉบับที่ 4 พ.ศ. 2475 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขในรายละเอียดปลีกย่อย
    ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 จนถึงช่วงของรัฐบาลพันเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา (พ.ศ. 2476 - 2481) ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากรถึง 3 ฉบับกล่าวคือ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2479 (นับรวมฉบับ พ.ศ. 2469 ด้วยจึงทำให้ฉบับที่ 5 ไม่มี) แก้ไขความหมายพนักงานศุลกากร, ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2480 ว่าด้วยการนำของเข้าหรือส่งของออกทางบก และฉบับที่ 8 พ.ศ. 2480 ว่าด้วยการนำของเข้าและส่งของออกทางอากาศยาน
    จนถึงช่วงของรัฐบาลพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481 - 2485) ได้มีการแก้ไขอีก 2 ฉบับคือ
    - ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2482 ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่สำคัญโดยเฉพาะได้แก่ มาตรา 16 การกระทำโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งนี้ เป็นผลพวงมาจากคดีที่กรมศุลกากรแพ้อันเนื่องมาจากศาลได้พิพากษาให้การกระทำตามมาตรา99 ต้องมีเจตนาด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 581/2481), มาตรา 17 กำหนดให้ริบของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469, มาตรา 19 ว่าด้วยของ Re-export ให้คืนอากร 7 ใน 8 ส่วน
    - ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2483 เป็นการแก้ไขมาตรา 88 ด้วยคลังสินค้าและมาตรา 122 ว่าด้วยการออกกฎกระทรวง ในช่วงสมัยรัฐบาลนี้ได้เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (พ.ศ. 2483 - 2484) ทำให้ลัทธิชาตินิยมแพร่หลายมากขึ้น ญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ยและลงนามในอนุสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2488
    ในปี พ.ศ. 2485 – 2488 เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามจนถึงปี พ.ศ. 2490 ได้มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากร ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2490 เป็นการแก้ไขอัตราโทษตามมาตรา 27 ซึ่งเป็นสมัยของรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2489 - 2490)

2.2 ระยะเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. 2494 – 2504) ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า 
    ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2491 - 2500) ซึ่งถือว่าเป็นช่วงรอยต่อระหว่างระยะเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (พ.ศ. 2494 – 2504) ได้มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากร 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2497 เป็นการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นสิบเท่าของอัตราโทษเดิม, แก้ไขอายุความการตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 24, แก้ไขมาตรา 102 , เพิ่มมาตรา 102 ทวิ – ตรี กำหนดจ่ายเงินสินบน, การบันทึกข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็นและการกำหนดเขตควบคุมศุลกากร และฉบับที่ 13 พ.ศ. 2499 เพิ่มมาตรา 19 ทวิ เป็นการคืนอากรแก่ของที่นำเข้าและเพิ่มมาตรา 27 ทวิ ลงโทษผู้รับซื้อของลักลอบ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2501 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 31 (พลโท ถนอม กิตติขจร) ส่งเสริมให้มีการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้เอง โดยการจัดให้มีการผ่อนผันให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ได้ใช้บรรดาเครื่องจักรและวัตถุที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้โดยไม่ต้องวางเงินประกันเงินอากรที่พึงเรียกเก็บแก่สิ่งของเหล่านั้นตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และในปีนี้เองรัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 จำนวน 4 ฉบับ [6]

2.3 ระยะพัฒนาสู่ความสมดุล (พ.ศ. 2504 – 2514) 
    ในปี พ.ศ. 2504 นี้เองประเทศไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 -2509 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากโลกทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในขณะนั้นว่า การพัฒนาคือการพัฒนาเศรษฐกิจ จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2510 – 2514 ยังคงเน้นการขยายอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ได้เริ่มให้ความสำคัญของการกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2.4 ระยะพุ่งตัว (Take - off) ของผลผลิตนอกสาขาเกษตร (พ.ศ. 2514 เป็นต้นไป) 
    ผลิตเพื่อการส่งออก นโยบายผลิตเพื่อการส่งออกเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรม เริ่มเห็นเป็นรูปร่างขึ้นตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2515 – 2519 แนวทางการพัฒนาจึงมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการส่งออก ปรับปรุงโครงสร้างการนำเข้า ปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและยกระดับการผลิต เร่งรัดการส่งออกและทดแทนสินค้านำเข้า และในปี พ.ศ. 2515 นี้เองได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 (พลโท ถนอม กิตติขจร, พ.ศ. 2506 - 2516) แก้ไขกฎหมายศุลกากรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสินค้าขาออก จะเห็นได้จากบทนำ "โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยศุลกากรยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สะดวกแก่การปฏิบัติและช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสินค้าขาออก..." เช่น มาตรา 8 กำหนดสถานที่ตรวจและเก็บของซึ่งมีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน มาตรา 8 ทวิ อนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร และอนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า รวมทั้งการคืนอากรแก่ของ Re – Export ตามมาตรา 19 ให้คืนอากรได้ 9 ใน 10 ส่วน (เดิมคืนได้ 7 ใน 8 ส่วน) การคืนอากรแก่ของที่นำเข้ามาผลิตหรือผสม หรือประกอบ หรือบรรจุและส่งกลับออกไปตามมาตรา 19 ทวิ ให้คืนอากรทั้งหมด และเพิ่ม ม.19 ตรี ให้รับการค้ำประกันของธนาคารแทนเงินสด เป็นต้น
    ในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2529 เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520 - 2524 ที่ยังคงเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งขยายการผลิตสาขาเกษตร ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525 – 2529 เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ปรับโครงสร้างการเกษตร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค ส่วนเหตุการณ์ทางศุลกากรได้มีการออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 พ.ศ. 2528 (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, พ.ศ. 2523 - 2531) เนื่องจากได้มีการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากร โดยออกเป็น พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากรเพื่อให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรในทำนองเดียวกับคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้การพิจารณาดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

กระแสโลกาภิวัตฒน์ (Globalization) และการค้าระหว่างประเทศไร้พรมแดน 
    ในระยะพุ่งตัวของผลผลิตนอกสาขาเกษตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมานั้นเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรม จนถึงปี พ.ศ. 2529 เศรษฐกิจของประเทศไทยไปผูกพันกับเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มตัวเริ่มขึ้นลงตามกระแสโลกาภิวัตฒน์ (Globalization) การค้าระหว่างประเทศไร้พรมแดน อิทธิพลของบริษัทข้ามชาติและการรวมกลุ่มเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่าง ๆ
    (1) ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู (พ.ศ. 2529 - 2533) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดที่เรียกว่า ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นช่วงรอยต่อของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 พ.ศ.2530 - 2534 เน้นวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตรงกับรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน (พ.ศ. 2531 - 2534)
    (2) ยุคเศรษฐกิจชะลอตัว ( พ.ศ. 2534 -2539) เป็นช่วงใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535 – 2539 เริ่มมองเห็นความจำเป็นในการกำหนดแนวความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ในสมัยรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2534 - 2535) มีการตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากการนำสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ สิ่งมีพิษ หรือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างอื่น เข้ามาในประเทศและปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นของตกค้าง จึงได้แก้ไขโดยการออก พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2534 เพิ่มมาตรา 6(6) กำหนดประเภทของสินค้าอันตราย, มาตรา 61 วิธีดำเนินการกับสินค้าอันตรายที่ตกค้าง และเพิ่มมาตรา 63 ทวิ สั่งให้ตัวแทนเรือนำสินค้าอันตรายกลับออกไป
    (3) ยุคกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF พ.ศ. 2540 – 2542) เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 – 2544 ปรับแนวคิดการพัฒนาจากเดิมที่เน้นเศรษฐกิจมาเป็นการเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ในสมัยของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (พ.ศ. 2535 – 2543) ได้มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากรถึง 4 ฉบับ
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2540 กำหนดการสอบสวนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่เกิดในทะเลอาณาเขต และเนื่องจากได้มีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย จึงได้กำหนดการใช้อำนาจทางศุลกากรในเขตต่อเนื่องให้ชัดเจน
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2542 กำหนดความผิดสำหรับการขนถ่ายสิ่งของใด ๆ ในทะเลนอกเขตท่าเป็นมาตรา 37จัตวา เพิ่มอำนาจของศาลในการริบเรือที่มีขนาดเกินสองร้อยห้าสิบตันเป็นมาตรา 32 วรรค 2 และของที่มิได้เป็นของผู้กระทำความผิดในบางกรณีตามาตรา32 ทวิ
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2543 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 จึงต้องยกเลิกการใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ประเมินเงินอากรสำหรับของนำเข้าโดยให้ใช้ราคาศุลกากรแทน กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และกระบวนการในการพิจารณาอุทธรณ์ รวมทั้งการกำหนดให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออก มีหน้าที่เก็บรักษาบัญชี เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออกเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 การค้าขายระหว่างประเทศได้มีการแข่งขันกันอย่างมาก การสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ จึงกำหนดให้มีการจัดตั้งเขตปลอดอากรขึ้นในประเทศไทย เพื่อผลิตผสม ประกอบ บรรจุหรือดำเนินการอื่นใดกับสินค้านั้นเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
    - สำหรับในปี 2548 ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการแก้ไขอีก 2 ฉบับ ได้แก่
     (1) พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2548 สาระสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมโทษปรับให้สูงขึ้น
     (2) พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2548 เพิ่มหมวด 4 ตรี ว่าด้วยอำนาจทางศุลกากรในพื้นที่พัฒนาร่วม เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 และในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซียว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วเพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจและความตกลงดังกล่าวในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจทางศุลกากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

------------------------------------------------------------------------------------------

[6] ได้ให้สัตยาบันเมื่อปี พ.ศ. 2511 และประกาศใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2512 รวม 4 ฉบับคือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง (3) อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง (4) อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2511 เป็นต้นไป

หมายเหตุ ดูปฏิทินลำดับกฎหมายศุลกากรเพิ่มเติม


© ดร.สงบ สิทธิเดช (Dr.Sangob Sittidech, Update March 27, 2016)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น