วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

รวมคำพิพากษาฎีกา กม. ศุลกากร 2560

รวมคำพิพากษาฎีกา กม. ศุลกากร 2560 และฎีกาใหม่ตั้งแต่ปี 2560
Update 04/02/2023

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2565
"แนวความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตาม ม.244 และการขอรับเงินรางวัลตาม กม. อื่นที่สูงกว่า"
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244
พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8

    โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยนำธนบัตรเงินตราไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,000,000 บาท อันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่มีการสำแดงแจ้งรายการนำเงินตราที่กฎหมายกำหนดออกนอกราชอาณาจักรต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในขณะผ่านด่านศุลกากรตามแบบที่เจ้าหน้าที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดหรือข้อห้าม ตามข้อห้ามอันเกี่ยวกับการนำของออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตรวจพบและทำการจับกุมจำเลยเสียก่อน จึงไม่อาจนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรสมดังเจตนาของจำเลย และอ้าง พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ธนบัตรเงินตราไทยเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นการบรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัด ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของกฎหมายฉบับใดหรือเป็นสิ่งของชนิดใด หรือไม่ได้แนบประกาศหรือระเบียบมาท้ายฟ้องนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะไม่สามารถนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือเป็นความผิดและศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งริบของนั้นก็ได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ไม่สำแดงรายการต่อเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายและลักลอบนำเงินตราซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นพฤติการณ์ที่สมควรริบธนบัตรของกลาง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ธนบัตรของกลางไม่ใช่ของจำเลย จึงไม่สมควรริบนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของแท้จริงจะต้องร้องขอคืนของกลางต่อศาลไม่เกี่ยวกับจำเลยตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข แต่ไม่สามารถแก้ได้เพราะเป็นบทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของค่าปรับนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2565
“การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตาม ป.วิอาญา ม.36”
ป.อ. มาตรา 36
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246

    การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถกระบะของกลางเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 จำเลยย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จำเลยไม่ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ โจทก์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในเวลาที่ขยายไว้ สิทธิที่ผู้ร้องจะขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดจึงต้องนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2564
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 
"หลักการคิดเงินเพิ่มตาม กม. ศุลกากรเก่ากับ กม. ศุลกากรใหม่"
    จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับแต่ละฉบับเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า “…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม...” เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 22 ดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2563
"การขอรับเงินสินบนแก่ผู้นำจับ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489"
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3, 4, 242, 246

    ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติแต่เพียงว่า คำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำจับ ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องโดยละเอียด เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยระบุว่าในการจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผู้นำจับนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จับกุมคดีนี้และมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับแล้ว การที่จำเลยให้การรับสารภาพย่อมแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและเงินรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดไม่อาจนำออกขายได้ และศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 ได้ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36, 56 วรรคหนึ่ง นั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 20 และมาตรา 31 ให้เพิ่มเติมมาตรา 29/9 วรรคสอง และมาตรา 56/4 ทั้งมาตรา 37 ยังบัญญัติให้คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ออกตามมาตรา 36 และมาตรา 38 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีคำสั่งใหม่หรือมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น การกระทำความผิดฐานขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ยังบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่ แต่โทษจำคุกตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6998/2562
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 246 ประกอบมาตรา 242

"ยินยอมให้นำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดกรณีถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วย"
    ตามพฤติการณ์แห่งคดีส่อแสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 3 นำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่จำเลยที่ 3 ต้องการ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 3 จะนำไปใช้ในกิจการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิด กรณีถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 กับพวกโดยปริยาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง
___________________________
    คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 246 ประกอบมาตรา 242 และพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 165, 203, 204 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ ของกลางผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ ของกลาง แก่ผู้ร้องโจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนผู้ร้องฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ ของกลาง จำเลยที่ 1 เป็นอดีตภริยาผู้ร้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรเขยและบุตรสาวผู้ร้อง วันที่ 30 ตุลาคม 2560 เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีและร่วมกันมีไว้เพื่อขายสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษี พร้อมยึดรถยนต์กระบะดังกล่าวที่ใช้กระทำความผิดเป็นของกลาง เหตุเกิดที่ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ กับให้ริบบุหรี่และรถยนต์ของกลางมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่ ผู้ร้องอ้างตนเองเป็นพยานกับมีจำเลยทั้งสามเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุ ผู้ร้องไม่อยู่บ้านเพราะไปว่าความที่จังหวัดชลบุรี และเนื่องจากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไม่สามารถติดเครื่องได้เพราะแบตเตอรี่รถยนต์เสื่อมสภาพ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงนำรถยนต์กระบะของกลางไปรับจำเลยที่ 1 ที่บ้านและเดินทางไปซื้อของที่ตลาดโรงเกลือโดยพลการ และรถยนต์กระบะของผู้ร้องไม่ได้ดัดแปลงสภาพให้มีช่องลับแต่อย่างใด ผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด และจำเลยทั้งสามเบิกความสนับสนุนเพิ่มเติมว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไปซื้อสินค้าที่ตลาดโรงเกลือมาขาย ส่วนจำเลยที่ 1 นอกจากจะไปซื้อสินค้าแล้ว ยังตั้งใจจะไปทวงหนี้จากนางเหมยซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ฝั่งราชอาณาจักรกัมพูชา แต่นางเหมยไม่มีเงินชำระหนี้ จึงนำบุหรี่ยี่ห้อต่างประเทศ ประมาณ 290 ซอง มาชำระหนี้แทน จำเลยที่ 1 นำบุหรี่เก็บในรถโดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็น เห็นว่า แม้ผู้ร้องมีจำเลยทั้งสามเป็นพยานเบิกความสนับสนุน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรเขยและบุตรของผู้ร้อง ส่วนจำเลยที่ 1 แม้เป็นอดีตภริยา แต่ก็ได้ความว่ายังคงติดต่อและไปมาหาสู่กัน จำเลยทั้งสามจึงล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกับผู้ร้อง ย่อมอยู่ในวิสัยจะเบิกความเข้าข้างผู้ร้อง จึงมีน้ำหนักให้รับฟังน้อย ที่ผู้ร้องอ้างว่าวันเกิดเหตุไม่อยู่บ้านต้องไปทำคดีให้ลูกความที่จังหวัดชลบุรี โดยออกเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2560 และเดินทางกลับในวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุในช่วงบ่ายนั้น แต่ตามสำเนาใบแต่งทนายความและสำเนารายงานกระบวนพิจารณาที่ผู้ร้องอ้างประกอบคำเบิกความนั้น กลับระบุวันเวลาไม่ตรงกับวันเกิดเหตุ ข้อนำสืบของผู้ร้องในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ที่ผู้ร้องเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าตามตลาดนัดและศูนย์การค้าทั่วไป โดยจะไปซื้อสินค้ามาจากตลาดโรงเกลือ และก่อนเกิดเหตุผู้ร้องเคยนำรถยนต์กระบะของกลางไปซื้อของที่ตลาดโรงเกลือกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เดือนละ 1 ถึง 2 ครั้ง ส่วนจำเลยที่ 1 เคยไปรถคันเดียวกันบางครั้งนั้น แสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยทั้งสามเคยเดินทางไปซื้อสินค้าที่ตลาดโรงเกลือด้วยรถยนต์กระบะของกลางมาก่อนหลายครั้ง ดังนั้น หากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เกิดขัดข้องอันเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่อ้างแล้ว การที่จำเลยทั้งสามจะนำรถยนต์กระบะของกลางไปซื้อสินค้าที่ตลาดโรงเกลือตามที่เคยปฏิบัติ ก็น่าจะขออนุญาตหรือแจ้งให้ผู้ร้องทราบ และหากผู้ร้องไม่อยู่บ้านตามที่อ้าง จำเลยทั้งสามก็ยังสามารถติดต่อกับผู้ร้องทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ เช่นเดียวกับที่ได้ติดต่อกับผู้ร้องภายหลังถูกจับกุม ทั้งผู้ร้องก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า เก็บกุญแจรถไว้ที่หน้าตู้เอกสารภายในบ้าน จึงไม่ใช่การเก็บไว้อย่างมิดชิด อันมีลักษณะหวงกันว่าหากจะใช้รถต้องขออนุญาตก่อน กรณีจึงยากแก่การรับฟังตามที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยทั้งสามนำรถไปใช้โดยพลการ ซึ่งจากลักษณะการซุกซ่อนบุหรี่ทั้งในช่องลับใต้เบาะนั่งหลังคนขับและในช่องด้านหลังรถลึกถึงกระจกด้านหลังคนขับโดยมีแผ่นไม้กระดานทับปิดอีกชั้นหนึ่ง นั้น แสดงว่ามีการเตรียมการมาก่อน สอดคล้องกับที่นายเกริกชัย เจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว พยานโจทก์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายประเภทยาสูบมากับรถยนต์กระบะของกลาง พยานกับพวกจึงเดินทางไปตรวจสอบ รถยนต์กระบะของกลางมีสภาพถูกดัดแปลงให้มีช่องลับ และการนำบุหรี่ซุกซ่อนในช่องลับนั้นไม่สามารถทำได้คนเดียว ดังนี้ เชื่อว่าจำเลยทั้งสามมีการวางแผนและร่วมกันกระทำความผิดจริงตามที่ได้ให้การรับสารภาพในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1422/2561 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยทั้งสามเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นนั้น จึงฟังไม่ขึ้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 3 นำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่จำเลยที่ 3 ต้องการ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 3 จะนำไปใช้ในกิจการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิด กรณีถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 กับพวกโดยปริยาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2563
“ขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานไม่นำเรือเข้าท่าเทียบเรือประมงภายในกำหนดเวลา”
     ขณะเรือ อ. ของจำเลยทั้งสามออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ได้ผ่านการตรวจจากหน่วยงานศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และกรมเจ้าท่าถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยอธิบดีกรมประมงได้ออกหนังสือรับรองให้เรือ อ. ออกไปทำการประมงในทะเลหลวงได้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ PIPO แต่ศูนย์ดังกล่าวเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 หลังจากนั้น วันที่ 25 ธันวาคม 2558 อธิบดีกรมประมงจึงออกประกาศกรมประมงโดยข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยในขณะที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ (วันที่ 29 ธันวาคม 2558) นำเรือประมงกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน โดยในวรรคสองมิให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับเจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่ไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ที่ได้แจ้งการออกจากท่าเทียบเรือประมงต่อศูนย์ PIPO ไว้ไม่เกินระยะเวลา 365 วัน นับแต่วันแจ้ง ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามข้อเสนอของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ที่เสนอว่าประเทศไทยจะต้องทำการตรวจเรือประมงนอกน่านน้ำไทยทุกลำ ดังนั้น ประกาศกรมประมงจึงเป็นแนวปฏิบัติใหม่ที่ออกมาช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติของผู้ประกอบอาชีพทำเรือประมงพาณิชย์ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการตีความเกี่ยวกับกรณีเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งได้ออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับว่า จะต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน ตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง หรือเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามข้อ 1 วรรคสอง ของประกาศดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ศูนย์ ศปมผ. จึงมีการประชุมย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกรณีที่ยังคงมีเรือประมงอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียต่อไป โดยไม่มีการแจ้งกำหนดเดินทางกลับมารับการตรวจ ผลการประชุมย่อยได้ข้อสรุปว่า เรือประมงนอกน่านน้ำที่ผ่านการตรวจจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างถูกต้องก่อนการจัดตั้งศูนย์ PIPO และออกไปทำการประมงยังไม่ถึงเวลา 1 ปี จะได้รับการอนุโลมให้ไม่ต้องกลับเข้ามารับการตรวจจากศูนย์ PIPO ซึ่งหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศปมผ. ได้มีหนังสือแจ้งผลการประชุมย่อยดังกล่าวไปให้นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบ แม้โจทก์กล่าวอ้างว่าเอกสารฉบับนี้ไม่มีผลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นการออกโดยหน่วยราชการผู้รับผิดชอบ อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์แจ้งผ่านไปยังนายกสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งในข้อนี้ อ. นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย พยานจำเลยทั้งสามเบิกความว่า ในวันดังกล่าวพยานได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธานและประธานในที่ประชุมได้แจ้งให้ทราบว่า เรือที่ออกไปทำการประมงยังไม่ถึง 1 ปี ได้รับการอนุโลมให้ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่เข้าใจว่า กรณีของเรือ อ. ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือ จึงนำเรือดังกล่าวเข้าจอดเทียบท่าที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันนำเรือออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี แม้ตามหนังสือของศูนย์ ศปมผ. จะระบุไว้ในวงเล็บทำนองว่า อนุโลมให้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2559 แต่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า อธิบดีกรมประมงอนุญาตให้เรือ อ. ออกไปทำการประมงได้ถึงวันที่ 10 กันยายน 2559 ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมมีเหตุผลทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจว่า การนำเรือเข้าจอดเทียบท่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่ได้รับการอนุโลมจากศูนย์ ศปมผ. ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า เรือประมงของจำเลยทั้งสามเป็นเรือขนาดใหญ่ถึง 721 ตันกรอส การนำเรือออกไปทำการประมงและนำกลับเข้าท่าเทียบเรือต้องมีการแจ้งต่อทางราชการเป็นหลักฐานทุกครั้ง อีกทั้งมีกำหนดระยะเวลากำกับไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้ การฝ่าฝืนดังกล่าวมีโทษปรับตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 152 วรรคสี่ สูงถึง 2,000,000 บาท จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยทั้งสามจะจงใจฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการนำเรือเข้าท่าเทียบเรือเกินกำหนดเวลาตามประกาศกรมประมงตามรูปคดีมีเหตุให้น่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสามเข้าใจโดยสุจริตว่า ได้รับการอนุโลมให้นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำเรือออกไปทำการประมง ดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสามขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานไม่นำเรือเข้าท่าเทียบเรือประมงภายในกำหนดเวลาตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2562
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรค สอง, 225
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

      ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 26, 75 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยให้ใช้และเพิ่มความใหม่แทน โดยความผิดฐานนำพืชกระท่อมเข้ามาในราชอาณาจักร เพิ่มบทความผิดมาตรา 26/2 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 75 วรรคสาม ความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพิ่มบทความผิดมาตรา 26/3 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 76/1 วรรคสี่ แต่เนื่องจากบทความผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่กับกฎหมายเดิมไม่แตกต่างกัน จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665 - 3666/2562
ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4), 195 วรรค สอง, 215, 225
     การปลอมหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนและการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ จ. ในความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6246/2561
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
     พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กำหนดสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรรวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 78,000 บาท ลงโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 312,000 บาท และไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วางโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 156,000 บาท และลดโทษกึ่งหนึ่งให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 78,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง
     แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035 - 6038/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 30
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8, 20, 29
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112
ข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 มาตรา ข้อ 21, วรรค ท้าย

     การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน อันเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวนคดีอาญา หาได้มีผลผูกพันกับคดีแพ่งไม่ จึงจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ขาด
     แม้จำเลยให้การว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง
     จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินไม่ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมิน อันมีผลให้การประเมินเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2561
ป.อ. มาตรา 3
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8

   ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้น จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3
    มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้วและศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2561
ป.อ. มาตรา 3, 80, 90
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรค สอง, 225
พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรค หนึ่ง, 20 วรรค หนึ่ง
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244

    การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานพยายามส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มีระวางโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน และตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่ได้บัญญัติการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม ป.อ. มาตรา 80 ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้เพียง 6 ปี 8 เดือน โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นโทษหนักกว่าความผิดฐานนี้ จึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
    ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิด หรือกระทำความผิดสำเร็จ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากัน เมื่อโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 5,410,932 บาท โทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด การกำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2561 

ป.พ.พ. มาตรา 193/12, 193/14 (5), 193/31
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10, 10 ทวิ, 102 ตรี, 112 จัตวา, 112 อัฏฐารส
    โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงอัตราพิกัดศุลกากรไม่ถูกต้อง จึงได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีนับตั้งแต่วันนำของเข้า และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยมีใบขนสินค้าหลายฉบับ นับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีจะเกินสิบปี แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย ส่งให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดสิบปี แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้าอยู่ด้วย แต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
    เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และจำเลยได้รับแล้วมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 112 อัฏฐารส แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงเป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำนวนภาษีจึงยุติตามการประเมินและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว และต้องฟังว่า สินค้าพิพาทจัดเป็นของตามประเภทพิกัด 9403.20 และพิกัดประเภทที่ 9403.20.00 ในฐานะเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ทำด้วยโลหะตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
    ตามมาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระได้เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบสินค้าขาเข้าโดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นำเข้าโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยว่า จำเลยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงยังไม่ยุติ เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดโดยเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 30
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1), 8
    การคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าต้องอาศัยมูลค่าของสินค้าหรือราคาที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินเพื่อเป็นราคาสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า เมื่อการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องอากรขาเข้าอันเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/2 (1) โดยตรง ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับการประเมินอากรขาเข้าซึ่งโจทก์ยื่นคำอุทธรณ์ไว้ต่อจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ได้โดยไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร
    ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในปี 2552 ถึงปี 2553 นั้น ยังมิได้ระบุถึงการให้สิทธิพิเศษในกรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม อันสอดคล้องกับประกาศกรมศุลกากร ที่ 122/2549 กำหนดวิธีปฏิบัติสำหรับของที่นำเข้าโดยส่งผ่านเขตของประเทศอื่นนอกเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ไว้เท่านั้น แต่ไม่มีข้อความที่ระบุให้การซื้อขายผ่านประเทศที่สาม (Third Party Invoicing) ได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดอัตราอากรแต่อย่างใด ดังนั้น แม้บริษัท ท. สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าพิพาทตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) แต่เมื่อโจทก์ทำสัญญาซื้อขายและเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตชำระเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัท ย. สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน กรณีจึงเป็นการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม มิใช่เป็นการนำเข้าสินค้าพิพาทจากสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยตรง โจทก์ย่อมไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศกรมศุลกากรทั้งสองฉบับที่ใช้บังคับในเวลานั้น แม้ต่อมาอธิบดีกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 106/2553 ระบุถึงกรณีซื้อขายผ่านประเทศที่สามไว้ แต่ประกาศกรมศุลกากรฉบับนี้ก็มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกมาใช้ภายหลังจากที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาท ไม่อาจนำมาใช้ขยายความประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เพื่อยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากรแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2561
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
    โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ที่จำเลยใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นของกลาง โดยได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยถูกตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในกระเป๋าเดินทางของจำเลยขณะที่เจ้าพนักงานฝ่ายควบคุมทางศุลกากร ศูนย์บริการศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมืองขอตรวจค้นกระเป๋าเดินทางของจำเลย และเจ้าพนักงานยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางซึ่งจำเลยแจ้งว่าใช้ติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่ว่าจ้างให้จำเลยนำกระเป๋าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อกับ ม. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยนำกระเป๋าใบดังกล่าวจากสาธารณรัฐอินเดียไปส่งให้ที่ประเทศมาเลเซีย โดย ม. จะให้ค่าจ้างเป็นเงิน 25,000 บาท และจำเลยทราบว่าภายในกระเป๋าดังกล่าวมีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ จำเลยจึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก่อนเพื่อจะนำกระเป๋าใบดังกล่าวไปส่งให้แก่ชายไม่ทราบชื่อที่ประเทศมาเลเซีย พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือในการติดต่อรับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสาธารณรัฐอินเดียเพื่อให้มาอยู่ในความครอบครองของจำเลยก่อนแล้วจึงนำเข้ามาในประเทศไทย ดังนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงอันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9146/2560
ป.รัษฎากร มาตรา 79/2, 83/10
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8
พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มาตรา 3

    โจทก์เป็นบริษัทหรือวิสาหกิจอเมริกัน ย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจได้ภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2511
    ในการนำสินค้าบุหรี่ซิกาแรตเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าแสตมป์ยาสูบและต้องส่งเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 ที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนนำคดีมาฟ้องศาลแต่อย่างใด และตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีวางประกัน ) 210 ฉบับ กับแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) 180 ฉบับ ก็ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพไว้ในเอกสารแนบท้ายแบบแจ้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนของภาษีสรรพสามิต (ค่าแสตมป์ยาสูบ) และเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
    ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้า ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19)..." ดังนั้น แม้ ป.รัษฎากร ตามมาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีอันเป็นราคาศุลกากรที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นราคาใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี และ ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร..." ดังนั้นความรับผิดเกี่ยวกับมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้ราคาศุลกากรลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับราคาศุลกากรซึ่งเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร อีก
    คดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในปี 2545 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ซึ่งแบบแสดงรายละเอียดราคาศุลกากรที่โจทก์ยื่นประกอบใบขนสินค้าขาเข้าระบุว่า ผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์กันในลักษณะบุคคลทั้งสองถูกควบคุม โดยบุคคลที่สามไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีผลต่อราคาซื้อขาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ใช้ราคาซื้อขายของที่นำเข้าเป็นราคาศุลกากร แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ข้อ 5 กำหนดว่า ในการกำหนดราคาศุลกากรตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้นำของเข้ามีหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงหรือความถูกต้องของข้อความหรือเอกสารใด ๆ ที่ได้สำแดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อ 14 กำหนดว่า ราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้... (4) ผู้ซื้อต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ขายตามที่กำหนดในข้อ 4 เว้นแต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่มีผลต่อราคาซื้อขายของที่นำเข้าตามข้อ 15 วรรคสอง กำหนดว่า ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุสงสัยว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอาจมีผลต่อราคาซื้อขายของที่นำเข้า ให้แจ้งผู้นำของเข้าทราบและกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ผู้นำของเข้ามาชี้แจงแสดงเหตุผลหรือนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อพิสูจน์เหตุสงสัยดังกล่าว และข้อ 6 กำหนดว่า ให้นำความในภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความตามความตกลงในการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ มาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดราคาศุลกากรตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งตามภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความ หมายเหตุทั่วไป 3. ในกรณีที่หน่วยงานบริหารทางศุลกากรไม่สามารถที่จะยอมรับราคาซื้อขายได้โดยไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติม หน่วยงานบริหารทางศุลกากรควรให้โอกาสผู้นำของเข้าในการจัดหาข้อสนเทศที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาท 4 ครั้ง จากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สำแดงราคา 8.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 มวน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 เพราะมีเหตุสงสัยผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์กันเช่นเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ได้ยื่นหนังสือเพื่อพิสูจน์ว่าราคาที่สำแดงใกล้เคียงกับราคาหักทอนของของที่เหมือนกันหรือของที่คล้ายกันแล้ว ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สามารถตรวจสอบสภาวการณ์ที่แวดล้อมการขายนั้นได้ จึงเห็นได้ว่าการนำเข้าสินค้าของโจทก์ในคดีนี้มีข้อมูล สถานะการขาย และลักษณะการซื้อขายของโจทก์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โจทก์ยังคงสำแดงราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมรับราคานั้นมาโดยตลอด จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีข้อสนเทศอย่างเพียงพออยู่แล้วไม่ต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมอีก พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัย ตามข้อ 15 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 และภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความตามความตกลงในการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7839 - 7840/2560
ป.รัษฎากร มาตรา 78/2, 79/2, 83/8, 83/9, 89/1
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 8, 8 ทวิ, 10 ทวิ, 87, 88, 95
    เมื่อโจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ความรับผิดในค่าภาษีย่อมเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ การที่โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราที่นำเข้ามาฝากเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป เป็นเพียงการชะลอการชำระค่าภาษีซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 87 มาตรา 88 และ มาตรา 10 ทวิ วรรคสอง ที่ให้คำนวณตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของออกไป หากโจทก์นำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรก็จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามมาตรา 88 วรรคสอง แต่หากโจทก์นำสินค้าออกเพื่อบริโภคภายในประเทศ โจทก์ยังคงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 10 ทวิ กรณีนี้โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราวิสกี้จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและได้นำของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ต่อมาโจทก์ขออนุมัติขนย้ายหัวน้ำเชื้อสุราดังกล่าวไปยังคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าของโจทก์ และปรากฏว่าหัวน้ำเชื้อสุราขาดหาย ไปจากจำนวนที่เคยจดแจ้งไว้ในใบขนสินค้าเดิมที่นำเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป โจทก์จึงไม่อาจนำปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปก่อนนำเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าไปรวมกับปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่คงเหลืออยู่แล้วถือว่าได้ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกอันจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และแม้โจทก์จะอ้างว่าหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปเกิดจากการระเหยตามธรรมชาติที่เกิดจากขั้นตอนการจัดเก็บและหมักบ่มเป็นกระบวนการผลิตสุราวิสกี้ แต่เหตุดังกล่าวไม่ใช่การสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 95 ที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรได้ โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปดังกล่าว
    กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นจากการนำเข้า โจทก์จึงต้องรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ต้องชำระอากรขาเข้า โดยโจทก์มีหน้าที่ยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากร พร้อมกับชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 83/8 และมาตรา 83/9 แห่ง ป.รัษฎากร และถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อโจทก์ไม่ชำระหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 การที่เจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 เริ่มคิดเงินเพิ่มนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2544 วันที่ 9 สิงหาคม 2544 และวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำเข้าและยื่นใบขนส่งสินค้าเพื่อนำของเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปอันเป็นวันที่ต้องชำระอากรขาเข้าจึงชอบแล้ว



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2560 
ป.รัษฎากร มาตรา 77/1
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2

    ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2560

ป.พ.พ. มาตรา 193/12, 193/14 (5), 193/31
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10, 10 ทวิ
    พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาด...ให้มีอายุความสิบปี... แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำเข้าหรือส่งของออก" บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดสิทธิเรียกร้องของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดในกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรให้มีอายุความสิบปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งออก ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี และมาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ" คือเริ่มนับตั้งแต่วันนำของเข้า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ซึ่งมีอายุความสองปี แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำของเข้า
    เมื่อใบขนสินค้า 16 ฉบับ ที่จำเลยนำเข้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2543 ซึ่งนับแต่วันนำสินค้าเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเป็นการประเมินและฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าอากรของโจทก์ที่ 1 สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความ สำหรับสินค้าที่นำเข้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 รวม 5 ฉบับ โจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรที่ขาดแก่จำเลย และจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เป็นการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยแต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียว
    กับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 กันยายน 2554 จึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ 5 ฉบับดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2560
พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ, 19 ตรี
    พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ บัญญัติว่า "ของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... ถ้าพิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วให้แก่ผู้นำของเข้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้...(ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออก เข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน..." และมาตรา 19 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิต... เพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้รับการค้ำประกัน... แทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย...เมื่อมีการส่งออกซึ่งของที่จะได้คืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ ก็ให้คืนหลักประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร"
   การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนเงินประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ กำหนดไว้เพียงกรณีเดียว คือ เมื่อผู้นำเข้าได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก) ถึง (จ)
    แม้กากถั่วเหลืองที่โจทก์นำเข้าได้ใช้ผสมอาหารสัตว์เลี้ยงไก่เพื่อส่งไก่สดแช่แข็งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และเหตุที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายนั้นจะเกิดจากการที่ต่างประเทศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากกรณีภัยพิบัติไข้หวัดนก อันมิใช่ความผิดของโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่เหตุตามมาตรา 19 ทวิ ที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าแก่โจทก์
    การที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้เพราะ รัฐบาลห้ามส่งออก คู่ค้าต่างประเทศประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย อันเป็นเหตุจากไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลประกาศภัยพิบัติไข้หวัดนกให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยโดยออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 ขยายเวลาการส่งออกไก่สดเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่เป็ด ออกไปอีกหกเดือนสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 โจทก์ก็ยังไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้จากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2560
ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรค สอง (1)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรค หนึ่ง
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรค สาม

   ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2550 ของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ศาลพิพากษาว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0109-0148-70129 จัดเข้าพิกัดศุลกากร 8471.90 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ย ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบสองเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าเลขที่เดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ต่อมาจะได้ความจากอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ได้ก่อนคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
    กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก่อนมีการออกแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า โจทก์เคยมีข้อโต้แย้งการจัดประเภทพิกัดสินค้าพิพาทในคดีนี้ โดยส่งหนังสือสอบถามไปยังกลุ่มงานพิกัดอัตราศุลกากร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าพิพาท เจ้าพนักงานประเมินเคยมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงและยื่นเอกสาร และโจทก์ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายโต้แย้งการจัดพิกัดสินค้าพิพาทของผู้จับกุม ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีแบบแจ้งการประเมินอ้างถึงเลขที่ใบขนสินค้าพิพาทที่ตรวจพบว่าสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้อง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
    พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ ซึ่งหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ระบุว่า "ชื่อของหมวด ตอน และตอนย่อย ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สะดวกแก่การอ้างอิงเท่านั้น ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทให้จำแนกตามความของประเภทนั้น ๆ ตามหมายเหตุของหมวดหรือของตอนที่เกี่ยวข้องและตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ หากว่าประเภทหรือหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น" หลักเกณฑ์ข้อ 6 ระบุว่า "ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทของของเข้าในประเภทย่อยของประเภทใดประเภทหนึ่งให้เป็นไปตามความของประเภทย่อยที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์ข้างต้นโดยอนุโลม โดยพิจารณาเปรียบเทียบในระหว่างประเภทย่อยที่อยู่ในระดับเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์นี้ให้ใช้หมายเหตุของหมวดและของตอนที่เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่จะมีข้อความระบุไว้เป็นอย่างอื่น" ซึ่งหมายเหตุของหมวด 16 ข้อ 4 ระบุว่า "ในกรณีเครื่องจักร (รวมถึงกลุ่มเครื่องจักร) ที่มีองค์ประกอบแยกเป็นแต่ละส่วน (ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะแยกกันหรือต่อเชื่อมกันด้วยท่อ อุปกรณ์ส่งกำลัง เคเบิลไฟฟ้าหรือด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ) โดยเจตนาที่จะให้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนึ่งที่ระบุได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคลุมถึงโดยประเภทใดประเภทหนึ่งในตอนที่ 84 หรือตอนที่ 85 ให้จำแนกของทั้งหมดเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่นั้น" ส่วนหมายเหตุของหมวด 18 ตอนที่ 90 ข้อ 3 ระบุว่า "ข้อกำหนดของหมายเหตุ ข้อ 4 ในหมวด 16 ให้ใช้กับตอนนี้ด้วย" และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 จ. ระบุว่า "เครื่องจักรที่ประกอบร่วมกันหรือทำงานเชื่อมกันกับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และทำงานเฉพาะอย่างนอกจากการประมวลผลข้อมูลให้จำแนกเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของเครื่องจักรนั้นหรือจำแนกเข้าประเภทอื่นที่เหลือ" เมื่อสินค้าเครื่องสแกนเนอร์พิพาทที่โจทก์นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องเลเซอร์ปริ้นเตอร์และใช้งานร่วมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างเป็นเครื่อง DIGITAL MINILAB นำมาใช้งานเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการภาพถ่ายออกแบบเพื่อทำงานร่วมกันตรงตามความในหมายเหตุข้อ 4 หมวด 16 หมายเหตุข้อ 3 ตอน 90 และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 (จ) จึงจัดเป็นของตามพิกัดประเภทที่ 9010.50 ในฐานะเป็นเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ตามห้องปฏิบัติการภาพถ่าย (รวมถึงภาพยนตร์) และเครื่องเนกาโตสโกป ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 และข้อ 6 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2560
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1), 8

    พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน การที่จำเลยเพียงแต่มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อโจทก์และมีหนังสือขอความเป็นธรรมจากโจทก์ ก็หาใช่คำอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์การประเมิน จำนวนค่าอากรจึงยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีนี้ว่า จำเลยไม่ต้องเสียอากรตามการประเมินเพราะเหตุการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของประกาศกรมศุลกากรฯ และจำเลยสามารถใช้สิทธิยกเว้นให้ถูกต้อง แม้ใช้สิทธิภายหลังการตรวจปล่อยสินค้าหรือเสียอากรไปแล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2560
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร มาตรา 4, 14
    ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 กำหนดให้ของในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทพิกัด 84.72 ประเภทย่อย 8472.90 รายการเฉพาะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว มิได้ให้คำนิยามของ "เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไว้" จึงต้องถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ประเภทพิกัด 84.72 เครื่องสำนักงานอื่น ๆ (Other office Machines) ประเภทย่อย 8472.90 อื่น ๆ (6) ระบุว่า เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ซึ่งลูกค้าสามารถใช้ฝาก ถอน และโอนเงินและดูยอดคงเหลือของบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ดังนั้น แม้สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามโบรชัวร์สินค้า จะใช้ชื่อว่า "Cash Dispenser" คล้ายกับเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 (5) ที่สามารถทำงานได้เพียงอย่างเดียวคือการจ่ายธนบัตร และตามพิกัดนี้ไม่ได้รับยกเว้นอาการขาเข้า ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว แต่ตามโบรชัวร์สินค้าพิพาทได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) พิพาทไว้ว่า เป็นเครื่องสำหรับให้บริการ ทำรายการธุรกรรมทางการเงิน ดังนี้ ถามยอดบัญชี โอนเงิน เบิกเงินสด ชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจึงจัดเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว

ดร.สงบ สิทธิเดช
รวบรวมจาก ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

คำอธิบายผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก ตาม ม.4 ว.2-3

 1. ผู้นำของเข้า (Importer) และ "ผู้ส่งของออก" (Exporter) ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

มาตรา 4 วรรค 2 และวรรค 3 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ 

ผู้นำของเข้า ให้หมายความรวมถึง เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร

“Importer” shall include an owner, a possessor or an interested person in any goods as from the time of the importation until the time a customs officer duly releases such goods from his custody;


                       ผู้ส่งของออก ให้หมายความรวมถึง เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในอารักขาของพนักงานศุลกากรจนถึงเวลาที่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

“Exporter” shall include an owner, a possessor or an interested person in any goods as from the time such goods are delivered to a customs officer’s custody until the time of exportation;

หมายเหตุ ความเดิมตาม มาตรา 2 วรรคสิบเอ็ด พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของ หรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครอง หรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกัน โดยอนุโลม

บทบัญญัติ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 25460 ที่กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับผู้นำของเข้าและผู้ส่งของออก จะกำหนดไว้หมวด 3 ว่าด้วยการนำของเข้าและส่งของออก (ม.50 - 63) ตัวอย่างเช่น

“มาตรา 51  ก่อนที่จะนำของใดไปจากอารักขาของศุลกากรหรือก่อนที่จะส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียอากรจนครบถ้วนหรือวางประกันไว้

                      มาตรา 52 เมื่อนำของเข้ามาในหรือจะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
                     (1) ชนิดแห่งของ
                     (2) ปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพแห่งของ
                     (3) ราคาศุลกากร
                     (4) ประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทาง”

คำว่า ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก” ตามคำนิยามศัพท์ ในมาตรา 4 วรรค 2 และวรรค 3 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ให้หมายความรวมถึง บุคคลต่าง ๆ สามจำพวก ได้แก่ (1) เจ้าของ (2) ผู้ครอบครอง และ (3) ผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด  นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร (สำหรับการนำของเข้า) หรือนับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในอารักขาของพนักงานศุลกากรจนถึงเวลาที่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (สำหรับการส่งของเข้า) แยกอธิบายได้ดังนี้

1.1 เจ้าของ (Any Owner)

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (Online) หมายถึง ผู้มีกรรมสิทธ์ในทรัพย์สิน หรือผู้มีสิทธิครอบครอง ใช้สอย เก็บผลประโยชน์และจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ทรัพย์สินในทางศุลกากรก็คงจะหมายถึงทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจับต้องได้ (รูปธรรม) เคลื่อนย้ายได้หรือซื้อขายได้ ทั้งนี้ เนื่องจากต้องเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เท่านั้น ถึงจะสามารถจัดเก็บอากรศุลกากรได้ ส่วนทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (นามธรรม) เช่น เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ เป็นต้น ปัจจุบันได้มี พ.ร.บ. การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 ควบคุมการส่งออกแล้ว (มาตรา 4 สินค้า หมายความว่า สิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ตลอดจนภาชนะบรรจุสิ่งนั้นและหีบห่อของภาชนะบรรจุสิ่งนั้น และให้หมายความรวมถึงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ด้วย)

ในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน (ป.พ.พ. มาตรา 458)   ส่วนสิทธิครอบครองเพียงแต่ยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน บุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1367)  ฉะนั้น เจ้าของในที่นี้จึงหมายถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยแท้จริง ในทางการขนส่งสินค้าจะเรียกว่า “ผู้รับสินค้า (Consignee Name or Notify Party Name)”  ซึ่งจะมีเอกสารหลักฐานสำคัญที่แสดงความเป็นเจ้าของ เช่น  ใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of Lading) หรือทางอากาศยาน (Air Waybill) เป็นต้น สำหรับ “ใบตราส่ง” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทะเล พ.ศ. 2534  หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล แสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง

กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมฯ ที่ 10/2561 เรื่องการตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าขาเข้ากับข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า กำหนดให้การสำแดงข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ใช้ชื่อผู้นำของเข้าภาษาอังกฤษในฐานทะเบียนผู้ผ่านพิธีการหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร ตรวจสอบกับ “ชื่อผู้รับสินค้า (Consignee Name or Notify Party Name)” ตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือ หรือบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน หรือบัญชีสินค้าแสดงรายการของที่ขนส่งทางบก (ศบ.1) ในการผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อกำหนดเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า

เจ้าของอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  ในอดีตเป็นการผ่านพิธีการศุลกากรด้วยเอกสารโดยการจัดพิมพ์ใบขนสินค้าแล้วนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่พร้อมเอกสารประกอบต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกเลขที่ใบขนสินค้าให้ ซึ่งกรมศุลกากรได้กำหนดระเบียบในการลงลายมือชื่อในใบขนสินค้าขาเข้าว่า ผู้นำของเข้าจะต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ถ้าจะตั้งตัวแทนให้ลงลายมือชื่อแทนตน ต้องทำเป็นหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์โดยถูกต้อง การลงลายมือชื่อในใบขนสินค้าฯ ถ้าผู้นำของเข้าเป็นบริษัทจำกัดให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ถ้าผู้นำของเข้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนให้หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ถ้าผู้นำของเข้าเป็นบุคคลธรรมดาให้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง แต่หากผู้นำเข้าเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่ได้รับเอกสิทธิทางการทูต ก็จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของหน่วยงานนั้นเป็นผู้มาติดต่อขอผ่านพิธีการศุลกากรด้วยตนเอง

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 กรมศุลกากรเริ่มนำระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) ด้วยการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าและขาออกด้วยระบบดังกล่าว และได้พัฒนามาเป็นระบบไร้เอกสารเมื่อปี 2549 ตามประกาศกรมฯ ที่ 116/2549  จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้ใช้ระบบไร้เอกสารเต็มรูปแบบทำให้ “การลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร” จะต้องดำเนินการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ตามประกาศกรมฯ ที่ 20/2550 ปัจจุบันได้แก้ไขเป็นประกาศกรมฯ ที่ 64/2561 เรื่อง “การลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือการดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร”

                ข้อปฏิบัติในการยื่นแบบคำขอ และ วิธีการกรอกแบบคำขอเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร (แนบท้ายประกาศกรมฯ ที่ 64/2561)
                 1. เอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม ที่ต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
                      1.1 กรณีผู้มีอำนาจลงนามเป็นคนไทย
                           1.1.1 บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือ
                        1.1.2 บัตรแสดงตนตัวจริงอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการออกให้ โดยจะต้องมีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนปรากฏอยู่
                        1.1.3 กรณีไม่สามารถนำเอกสารตามข้อ 1.1.1 หรือ 1.1.2 มาแสดงได้ ให้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่มีทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร (Notarial Services Attorney) เป็นผู้ลงนามรับรอง และออกให้ไม่เกินหนึ่งเดือน พร้อมแนบสำเนาหนังสือรับรอง (Certificate) การขึ้นทะเบียนเป็นทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้อง โดยทนายความเจ้าของหนังสือรับรองนั้น
               หมายเหตุ กรณีผู้มีอำนาจลงนามมีมากกว่าหนึ่งคน ให้นำบัตรตามข้อ 1.1.1 หรือ 1.1.2 หรือเอกสาร ตามข้อ 1.1.3 แล้วแต่กรณี ของผู้มีอำนาจลงนามทุกคน เป็นรายบุคคล มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
                   1.2 กรณีผู้มีอำนาจลงนามเป็นชาวต่างชาติ
                        1.2.1 หนังสือเดินทาง (Passport) ตัวจริง หรือ
                        1.2.2 ใบสำคัญประจาตัวคนต่างด้าวตัวจริง
                        1.2.3 กรณีไม่สามารถนำเอกสารตามข้อ 1.2.1 หรือ 1.2.2 มาแสดงได้ และชาวต่างชาติผู้มีอำนาจลงนามอยู่ต่างประเทศ ให้ใช้หนังสือรับรองหนังสือเดินทางซึ่งมี Notary Public ที่เชื่อถือได้ หรือสถานทูตตามสัญชาติของบุคคลนั้น เป็นผู้รับรอง และออกให้ไม่เกินหกเดือน
                       1.2.4 กรณีไม่สามารถนำเอกสารตามข้อ 1.2.1 หรือ 1.2.2 มาแสดงได้ และชาวต่างชาติผู้มีอำนาจลงนามอยู่ในประเทศไทย ให้ใช้เอกสารตามข้อ 1.2.3 หรือสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร (Notarial Services Attorney) เป็นผู้ลงนามรับรอง และออกให้ไม่เกินหนึ่งเดือน พร้อมแนบสำเนาหนังสือรับรอง (Certificate) การขึ้นทะเบียนเป็นทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องโดยทนายความเจ้าของหนังสือรับรองนั้น
                   หมายเหตุ กรณีผู้มีอำนาจลงนามมีมากกว่าหนึ่งคน ให้นำเอกสารตัวจริงตามข้อ 1.2.1 หรือ 1.2.2 หรือ 1.2.3 หรือ 1.2.4 แล้วแต่กรณี ของผู้มีอำนาจลงนามทุกคน เป็นรายบุคคล มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
             2. การมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นแบบคำขอกับกรมศุลกากร
             กรณีผู้มีอำนาจลงนามประสงค์จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นแบบคำขอ ขอให้ใช้หนังสือมอบอำนาจจากเว็บไซต์ของกรมศุลกากร (http://www.customs.go.th) ในหัวข้อผู้ประกอบการ -> การลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนาเข้า/ส่งออก -> หนังสือมอบอำนาจ


                    1.2 ผู้ครอบครอง
(Other person for the time being possessed of)

การครอบครองในที่นี้น่าจะหมายถึงการครอบครองเป็นการชั่วคราวแทนเจ้าของในขณะที่นำของเข้ามาหรือส่งออกไปนั้น เช่น ในลักษณะของการรับฝากของนำติดตัว (Hand Carry) เข้ามาหรือออกไป   โดยที่บุคคลผู้ครอบครองของนั้นไม่ใช่เจ้าของสินค้าที่แท้จริง เป็นต้น กรณีเช่นนี้ ทางศุลกากรก็จะถือว่าผู้ที่ครอบครองของเข้ามานั้น   เป็นผู้นำของเข้าที่จะต้องมีหน้าที่เสียค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามานั้นทันที   แต่ทั้งนี้ ผู้ที่นำของเข้ามานั้นจะร้องขอให้เสียค่าภาษีอากรในนามเจ้าของที่แท้จริงก็ได้ โดยจะต้องแสดงหลักฐานประกอบด้วย

1.3 ผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด   (Or beneficially interested in any goods)

 นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร (สำหรับการนำของเข้า) หรือนับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในอารักขาของพนักงานศุลกากรจนถึงเวลาที่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (สำหรับการส่งของเข้า)

บุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่ง ในที่นี้น่าจะหมายถึง นอกจากบุคคลตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แล้ว ยังรวมถึงตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของสินค้านั้น ๆ ตามความนัยมาตรา 99 - 101 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้

“มาตรา 99  บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้นำของผ่านแดนหรือผู้ขอถ่ายลำ ให้เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการอย่างใด ๆ เกี่ยวกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ของเพื่อการผ่านแดน หรือของเพื่อการถ่ายลำ หรือกิจการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนตามวรรคหนึ่ง เป็นเจ้าของของที่ได้นำเข้า ส่งออกผ่านแดนหรือถ่ายลำด้วย

มาตรา 100  บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ควบคุมยานพาหนะให้เป็นตัวแทนเพื่อกระทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 101  ตัวแทนที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 99 หรือมาตรา 100 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่ตัวแทนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนการอนุญาตของตัวแทนดังกล่าว โดยไม่ตัดสิทธิที่จะบังคับหลักประกันที่ตัวแทนให้ไว้ตามจำนวนที่เห็นสมควรและไม่ทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น”

- ตัวอย่างฎีกาที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้า

ฎีกาที่ 5654/2560 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า

2. ผู้นำเข้า และ "ผู้ส่งออก" ตามประมวลรัษฎากร 

ตามประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มได้ให้คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

มาตรา ๗๗  ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมิน

มาตรา ๗๗/๑  ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(๙) “สินค้าหมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด

(๑๑) ผู้นำเข้าหมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า

(๑๒) นำเข้าหมายความว่า นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงการนำสินค้าที่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออกด้วย

(๑๓) ผู้ส่งออกหมายความว่า ผู้ประกอบการซึ่งส่งออก

(๑๔) ส่งออกหมายความว่า ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ และให้หมายความรวมถึง

(ก) การนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออกหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(ข) การขายสินค้าของคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ขายให้แก่ผู้ที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

โดยสรุป ถ้าเป็นกฎหมายศุลกากรจะใช้ถ้อยคำว่า “ผู้นำของเข้า” หรือ “ผู้ส่งของออก” แต่ถ้าเป็นกฎหมายของสรรพากรจะใช้ถ้อยคำว่า “ผู้นำเข้า” หรือ “ผู้ส่งออก” ทั้งนี้เนื่องจากความหมายของแต่ละถ้อยคำจะแตกต่างกันไป ย่อมแล้วแต่วัตถุประสงค์ในการเสียภาษีอากรของแต่ละกฎหมายนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าตามประมวลรัษฎากรจะหมายถึงผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ถ้อยคำว่า “บุคคลอื่นซึ่งนำเข้า” น่าจะหมายถึงผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร ตามคำจำกัดความของ “ผู้นำของเข้า” แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 นั่นเอง

3. คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวข้องกับผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 ก.พ. 2564
แก้ไข 24 เม.ย. 2564

ผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก” ตาม ม.4 ว.2-3

“ผู้นำของเข้า” “ผู้ส่งของออก” ตามมาตรา 4 วรรค 2-3 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

1. “ผู้นำของเข้า” (Importer) และ "ผู้ส่งของออก" (Exporter) ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560
   1.1 เจ้าของ (Any Owner)
      - ข้อปฏิบัติในการยื่นแบบคำขอ และ วิธีการกรอกแบบคำขอเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร
   1.2 ผู้ครอบครอง (Other person for the time being possessed of)
   1.3 ผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ (Or beneficially interested in any goods)
      - ตัวอย่างฎีกาที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้า

ม.4 วรรค 1 อากร

อากร ตามมาตรา 4 วรรค 1 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

1. อากรตามกฎหมายศุลกากร
   1.1 จัดเก็บอากรกับ “ของ” ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอก “ราชอาณาจักร”
      (1) ความแตกต่าง "ของ/สินค้า" ตามกฎหมายศุลกากรกับประมวลรัษฎากร
      (2) ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดสามารถจัดเก็บอากรได้หรือไม่

     (3) การยื่นใบขนสินค้าและเสียอากรสำหรับพลังงานไฟฟ้า
      (4) กฎหมายอื่น ๆ ที่ควบคุมทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง
   2.4 เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone)
   2.5 ทะเลหลวง (High Seas)
   2.6 การไล่ติดตามเรือต่างชาติในทะเลหลวง


3. ประวัติของ ค่าภาษี ค่าอากร

4. ค่าธรรมเนียมและแนวคำวินิจฉัย
   4.1 ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บตามกฎหมายศุลกากร
   4.2 แนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม
    (1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนถือว่าเป็น “ค่าภาษี” หรือ “อากร” ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย (คณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 83/2520 มีนาคม 2520)
    (2) การหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีหรืออากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (คณะกรรมการกฤษฎีกา มีนาคม 2528)
    (3) การหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 574/2560 พฤษภาคม 2560 อากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องไม่ถือว่าเป็นอากรตามกฎหมายศุลกากร)
    (4) ฎีกาที่ 5008/2536 กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกเก็บหรือคืน “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอก ฯ ด้วยหรือไม่

แก้ไขล่าสุด 06 มิ.ย. 2564

1. อากรตามกฎหมายศุลกากร

1. อากรตามกฎหมายศุลกากร
     “อากร” ตามมาตรา 4 วรรค 1 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 หมายความว่า อากรศุลกากรที่จัดเก็บกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร

     “Duty” means a customs duty collected from goods imported into or exported out of the Kingdom under this Act and the law on customs tariff or other laws specifying it as a customs duty;


แยกอธิบายความหมายอากรได้ดังนี้
1.1 จัดเก็บอากรกับ “ของ” ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอก “ราชอาณาจักร”
    (1) ความแตกต่าง “ของ/สินค้า” ตามกฎหมายศุลกากรกับประมวลรัษฎากร
     “ของ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Goods” ศัพท์นิติศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2557) หมายถึง ของ, สินค้า, สิ่งของ ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 จะใช้คำว่า “ของ” คือจัดเก็บอากรกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต่างกับประมวลรัษฎากรจะใช้คำว่า “สินค้า” เช่น การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้าที่เป็นการกระทำกิจการในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 77/2 (2) แห่งประมวลรัษฎากร) อย่างไรก็ตามภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Goods” เหมือนกัน ฉะนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า
     “ของ” ตามกฎหมายศุลกากร โดยทั่วไปหมายถึง สินค้า ของหรือสิ่งของที่จับต้องได้ในลักษณะรูปธรรม (ทรัพย์สินที่มีรูปร่าง) แต่มีของบางอย่างที่จับต้องไม่ได้ที่เรียกว่า “พลังงานไฟฟ้า” ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าเนื่องจากสามารถซื้อขายได้ อย่างไรก็ตามจะจัดเก็บอากรได้หรือไม่ ต้องเป็น สินค้า ของหรือสิ่งของที่ปรากฏอยู่อยู่ใน พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เท่านั้น เช่น กรณีของพลังงานไฟฟ้า (Electrical energy) ปรากฏอยู่ตามพิกัดฯ 2716.00.00 ยกเว้นอากร เป็นต้น ส่วนพลังงานอาทิตย์ (แสงแดด) ขณะนี้มีเรียกเก็บอากรเฉพาะท่อสุญญากาศสำหรับเก็บพลังงานรังสีอาทิตย์ ตามพิกัดฯ 7020.00.40 เท่านั้น
      ต่างจาก “สินค้า” ตามประมวลรัษฎากร ได้ให้ความหมายครอบคลุมถึง ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ตาม มาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร (แก้ไขตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลราฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

      (2) ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดสามารถจัดเก็บอากรได้หรือไม่
       คำตอบ อธิบายไว้แล้วในข้อ 1.1(1) อากรศุลกากรจะจัดเก็บได้กับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากรเท่านั้น ในเมื่อกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรไม่ได้ระบุให้เก็บทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด จึงไม่สามารถจัดเก็บอากรศุลกากรได้ ประกอบกับประมวลรัษฎากรได้แก้ไขเมื่อปี 2564 ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้ สินค้า ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด     

    (3) การยื่นใบขนสินค้าและเสียอากรสำหรับพลังงานไฟฟ้า
    ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1.1(1) พลังงานไฟฟ้าถือว่าเป็นสินค้าตามพิกัดฯ 2716.00.00 ยกเว้นอากร การนำเข้าได้กำหนดพิธีการยื่นใบขนสินค้าไว้โดยเฉพาะ ดังนี้
    ปรากฏอยู่ใน กฎกระทรวงกำหนดการยื่นใบขนสินค้าและการเสียอากรสำหรับก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 ดังนี้
    ข้อ 4 การยื่นใบขนสินค้าและการเสียอากร สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     (1) ให้เจ้าของพลังงานไฟฟ้าจัดทำรายงานการนำเข้าและบัญชีสินค้าตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนดเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แล้วยื่นรายงานการนำเข้าและข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าเป็นรายเดือนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร และปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่นำของเข้า
     (2) การยื่นใบขนสินค้าขาเข้า อย่างน้อยต้องมีเอกสาร ดังต่อไปนี้
          (ก) บัญชีสินค้า
          (ข) บัญชีราคาสินค้า
          (ค) ข้อมูลยืนยันปริมาณและมูลค่าพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ารายเดือน
      (3) การตรวจวัดปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้า ให้ใช้วิธีการตรวจวัดหรือคำนวณโดยใช้ค่าที่อ่านได้จากมิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้ง ณ ประเทศผู้ส่งออกหรือประเทศผู้นำเข้า
       (ประกาศกรมศุลกากรที่ 134/2561 ข้อ 13(2) ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561)

    (4) กฎหมายอื่น ๆ ที่ควบคุมทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง
        (4.1) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559
        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
        “ทรัพย์สิน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์ หรือวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้รวมทั้งดอกผลของเงิน ทรัพย์ หรือวัตถุดังกล่าว เอกสารทางกฎหมาย หรือตราสารในรูปแบบใด ๆ ทั้งที่ปรากฏในสื่ออื่นใด กระดาษ หรือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิเรียกร้อง หรือประโยชน์อื่นใดในทรัพย์สินนั้น
        (4.2) พ.ร.บ. การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทาลายล้างสูง พ.ศ. 2562
         มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
         “สินค้า” หมายความว่า สิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ตลอดจนภาชนะบรรจุสิ่งนั้นและหีบห่อของภาชนะบรรจุสิ่งนั้น และให้หมายความรวมถึงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ด้วย

       (5) ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรต้องเสียอากรหรือไม่
        คำตอบ ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เช่น เรือ รถยนต์ เครื่องบินที่ใช้ขนส่งของ/สินค้าระหว่างประเทศ หากมีสภาพในขณะที่นำเข้า/ส่งออกเป็นของ/สินค้าย่อมที่จะต้องเสียอากรตามทีระบุไว้ใน พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 แต่หากในขณะที่นำเข้า/ส่งออกไม่มีสภาพเป็นของ/สินค้าเป็นแต่เพียงยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งของระหว่างประเทศก็ย่อมที่จะไม่ต้องเสียอากร ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้กำหนดพิธีการสำหรับยานพาหนะที่ใช้ขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแยกไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนี้
        “มาตรา 64 เรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่เรือของทางราชการ ให้นายเรือมีหน้าที่ทำรายงานเรือเข้าและยื่นบัญชีสินค้าสำ หรับเรือและแสดงใบทะเบียนเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
         มาตรา 71 เรือลำใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากท่าที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่เรือของทางราชการจะต้องได้รับใบปล่อยเรือขาออก โดยให้นายเรือมีหน้าที่ทำรายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
        มาตรา 88 ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
       (1) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดจำนวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านพรมแดนมายังด่านศุลกากรได้
       มาตรา 89 ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
       (1) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจำด่านศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดจำนวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจำด่านศุลกากรตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านศุลกากรมายังด่านพรมแดนได้
        มาตรา 94 เมื่ออากาศยานลำใดเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการให้ผู้ควบคุมอากาศยานทำรายงานอากาศยาน พร้อมทั้งยื่นบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจำสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
        มาตรา 96 อากาศยานลำใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่อากาศยานของทางราชการ จะต้องได้รับใบปล่อยอากาศยาน โดยให้ผู้ควบคุมอากาศยานมีหน้าที่ทำรายงานอากาศยานและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจำสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ”


    (6) อากรศุลกากรจะจัดเก็บได้ก็ต่อเมื่อมีการนำของเข้าหรือส่งออกสำเร็จ
      เนื่องจากราชอาณาจักรหมายถึงอาณาเขตของประเทศไทยหรือดินแดนของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยไปด้วยอาณาเขตทางบก อาณาเขตทางทะเล (12 ไมล์ทะเล) และอาณาเขตทางอากาศ เมื่อจะกำหนดเวลาว่าภาระอากรศุลกากรที่จะจัดเก็บกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรที่จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นจึงเป็นการยาก พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามตรา 50 กำหนดให้การนำของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสำเร็จใน 4 ช่องทางไว้ดังนี้
      มาตรา 50 การนำของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสำเร็จ ในกรณีดังต่อไปนี้
      (1) การนำของเข้าทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ส่วนการส่งของออกทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตท่าท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
     (2) การนำของเข้าทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาถึงเขตด่านพรมแดน ส่วนการส่งของออกทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตด่านพรมแดนเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (3) การนำของเข้าทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่นำของเข้ามานั้นได้ถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ส่วนการส่งของออกทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (4) การนำของเข้าทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้เปิดถุงไปรษณีย์ ส่วนการส่งของออกทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้ปิดถุงไปรษณีย์และได้ดำเนินการส่งออกตาม (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    ประกอบกับมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ว่าด้วยหลักในการเสียภาษี กล่าวคือความรับผิดในอันจะต้องเสียอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จหรือส่งของออกสำเร็จ ดังนี้
    “มาตรา 13 การนำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้เรียกเก็บอากรจากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
     ความรับผิดในอันจะต้องเสียอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จหรือส่งของออกสำเร็จตามมาตรา 50
    ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีหน้าที่เสียอากรเมื่อได้ยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรและพนักงานศุลกากรได้รับและออกเลขที่ใบขนสินค้าแล้ว”

1.2 ตามพระราชบัญญัตินี้
     ตามพระราชบัญญัตินี้หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีต
ามกฎหมายอื่น (ฎีกาที่ 1470/2551) ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 นี้ เช่น การจัดเก็บอากร ตามหมวดที่ 2 อันประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การเสียอากร (ม.13-18) ส่วนที่ 2 การประเมินอากร (ม.19-24) ส่วนที่ 3 การคืนอากร (ม.25-31) และส่วนที่ 4 การวินิจฉัยอากรและการอุทธรณ์การประเมินอากร (ม.32-49) เป็นต้น
     ฎีกาที่ 14750/2551 คำว่า “อากร” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีตามกฎหมายอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยโดยนำภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมคำนวณค่าปรับ เป็นการลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
    ฎีกาที่ 2481/2555 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน การที่ศาลลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นการปรับจำเลยทั้งห้าสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
     หมายเหตุ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก็ดี หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ”
      พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๔๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ”

    (1) เงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้ถือเป็นเงินอากร
    มาตรา 22 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 “ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วน ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรจนถึงวันที่นำเงินมาชำระเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม
    ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่เสียอากรภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรตามมาตรา ๒๐ ให้เสียเบี้ยปรับร้อยละยี่สิบของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม
    เงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้ถือเป็นเงินอากร
    เงินเพิ่มอาจลดลงได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับเบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี”
    (2) ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนในกรณีคืนอากรหรือเงินประกันให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืน
    มาตรา 27 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 “ในกรณีที่ต้องคืนอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้คืนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละศูนย์จุดหกสองห้าต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน
    ในกรณีที่ได้เปลี่ยนการวางประกันอย่างอื่นเป็นการวางเงินประกันภายหลังจากที่ได้นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คำนวณดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินประกันที่ต้องคืนนับแต่วันที่วางเงินประกันครั้งสุดท้ายแทนการวางประกันจนถึงวันที่อนุมัติให้จ่ายคืน
    ดอกเบี้ยที่จ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้เกินจำนวนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรที่ต้องคืน
    ในการคำนวณดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืน”

1.3 ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร 
   ได้แก่ พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (18 มาตรา) โดยเฉพาะ มาตรา 4 กำหนดให้ “ของที่นำเข้ามาหรือพาเข้ามาในหรือส่งหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดนี้ หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้” แยกอธิบายข้อความได้ดังนี้
   “พิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดนี้” ประกอบไปด้วย 4 ภาค ได้แก่ ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร (6 ข้อ) ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า (21 หมวด 97 ตอน 97 ประเภท) ภาค 3 พิกัดอัตราอากรขาออก (9 ประเภท) และภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากร (19 ประเภท)
   “หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้” เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560
     “มาตรา 12 เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศหรือเพื่อความผาสุกของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศลดอัตราอากรสำหรับของใด ๆ จากอัตราที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากร หรือยกเว้นอากรสำหรับของใด ๆ หรือเรียกเก็บอากรพิเศษเพิ่มขึ้นสำหรับของใด ๆ ไม่เกินร้อยละห้าสิบของอัตราอากรที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับของนั้น ทั้งนี้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้”

1.4 ตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร
    ตัวอย่างกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร เช่น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลทุน พ.ศ. 2520 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าเป็นเสมือนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ดังนี้
    พ.ร.บ. ส่งเสริมการลทุน พ.ศ. 2520
    “มาตรา 49 ในกรณีที่จำเป็นเพื่อให้ความคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริม คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือทดแทนกันได้กับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบในอัตราที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของราคารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งนอกประเทศของผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้น
     การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่คราวละไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
      คณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศตามมาตรานี้ในเวลาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร
       ในกรณีที่มีปัญหาว่าผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลใดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการหรือไม่ ให้คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
      การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าตามมาตรานี้ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าเป็นเสมือนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
      ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษและผู้ใดได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับของนั้นแล้ว ก็ให้กรมศุลกากรคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่ผู้นั้น”

หมายเหตุดูแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในข้อ 4.2 ท้าย

      นอกจาก “อากร” ที่กรมศุลกากร ต้องจัดเก็บอากรตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 แล้ว ยังมีภาษีที่ต้องจัดเก็บให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2560 และภาษีเพื่อมหาดไทย ตามพระราชกฤษฎีกาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2527 มาตรา 3 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เสียภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในอัตราร้อยละสิบของภาษี

2. ราชอาณาจักรตามกฎหมายศุลกากร
2.1 ราชอาณาจักร (The Kingdom)
    จากความหมายของอากร หมายความว่า อากรศุลกากรที่จัดเก็บกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอก “ราชอาณาจักร” ตามพระราชบัญญัตินี้นั้น คำว่า “ราชอาณาจักร” (The Kingdom) ได้เคยมีแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 28/2525 มกราคม 2525) ไว้ดังนี้ กฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้ให้คำนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ว่ามีความหมายเพียงใด แต่มีนิยามที่อ้างถึง “ราชอาณาจักร” ไว้หลายแห่งด้วยกัน เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 บัญญัติว่า คำว่า “ท่าต่างประเทศ” “ภาคต่างประเทศ” หรือ “เมืองต่างประเทศ” หมายความว่า ที่ใด ๆ นอกพระราชอาณาจักรสยาม
    นอกจากนี้พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 4 วรรคแรกบัญญัติว่า “ของที่นำหรือพาเข้ามาในหรือส่งหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรแนบท้ายพระราชกำหนดนี้”
     การที่กฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้นิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ก็เป็นเพราะว่าเป็นที่เข้าใจได้อยู่ในตัวแล้วว่า “ราชอาณาจักร” หมายถึงอาณาเขตของประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น อาณาเขตหรือดินแดนของรัฐ ได้แก่
    (1) อาณาเขตภาคพื้นดิน ตลอดจนพื้นน้ำที่อยู่ภายในพื้นดินด้วย
    (2) อาณาเขตทางทะเลที่ประชิดติดชายฝั่งภาคพื้นดิน อันได้แก่ น่านน้ำภายใน (Internal water) และทะเลอาณาเขต (Territorial sea)
    (3) ห้วงอากาศที่อยู่เหนือ (1) และ (2)
     ฉะนั้น ราชอาณาจักรจึงประกอบไปด้วยไปด้วยอาณาเขตทางบก อาณาเขตทางทะเลและอาณาเขตทางอากาศ การที่จะรู้ว่าดินแดนส่วนใดอยู่นอกอาณาเขต จะต้องอาศัยการปักปันเขตแดนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนี้
     1) อาณาเขตทางบก การปักปันเขตแดนทางบกเกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างรัฐข้างเคียงให้มีเครื่องหมายกำหนดไว้โดยแจ้งชัด เช่น หลักหรือหมุดบอกอาณาเขตของดินแดนรัฐข้างเคียง
      หมายเหตุ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 2 วรรค 10 “เขตแดนทางบก” หมายความว่า เขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรกับดินแดนต่างประเทศและให้หมายความรวมถึงทางน้ำใด ๆ ที่เป็นเขตแดนแห่งราชอาณาจักรหรือตอนหนึ่งแห่งเขตแดนนั้น
     2) อาณาเขตทางอากาศ เหนือเขตแดนทางบกและทางทะเล
     3) อาณาเขตทางทะเล กฎหมายศุลการฉบับปี พ.ศ. 2469 มีใช้คำว่า “เขตน่านน้ำสยาม” ตามมาตรา 5 “อธิบดีจะตั้งด่านตรวจเรือกำปั่นเข้าและออก และจะวางพนักงานไว้ในเรือกำปั่นลำใด ๆ ในเวลาที่เรือนั้นอยู่ในเขตน่านน้ำสยามก็ได้” แต่มิได้ให้นิยามศัพท์ไว้ มีแต่ในฉบับที่ 8 พ.ศ. 2480 ได้นิยามว่า "เขตน่านน้ำสยาม" ให้หมายความรวมถึง เขตแห่งราชอาณาจักร และอากาศเหนือราชอาณาจักร (พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 163 ใช้ข้อความว่า “เขตน่านน้ำไทย”)
      ประเทศไทยได้ประกาศใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2512 รวม 4 ฉบับคือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง (3) อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง (4) อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2511 เป็นต้นไป

2.2 ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) 
      ตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (Convention on the Territorial Sea and the Contiguous Zone) ที่ทำขึ้น ณ กรุงเจนีวา ใน ค.ศ. 1958 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1 (1) ว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐนอกจากขยายต่อออกไปจากอาณาเขตพื้นดินและน่านน้ำภายในแล้วยังรวมถึงพื้นน้ำส่วนที่เป็นแนวทะเลประชิดชายฝั่งของตนที่เรียกว่าทะเลอาณาเขตอีกด้วย และบัญญัติไว้ในมาตรา 1 (2) ว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐขยายไปถึงห้วงอากาศเหนือทะเลอาณาเขตตลอดจนพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินของทะเลอาณาเขตด้วย
    หมายเหตุ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎหมายทะเลได้รับความสนใจและมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว องค์การสหประชาชาติ ได้จัดให้มีการประชุม 3 ครั้ง ครั้งที่1 ค.ศ.1958 ได้ยอมรับอนุสัญญา 4 ฉบับ เรียกว่า “อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 ได้แก่ (1) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง (3) อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป และ(4) อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง ครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ.1960 เพื่อหาข้อยุติของความกว้างของทะเลอาณาเขต และครั้งที่ 3 ค.ศ.1973-1982 ยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982
     อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องปี ค.ศ. 1958 มิได้กำหนดถึงความกว้างของทะเลอาณาเขตไว้ แต่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี ค.ศ. 1982 ได้กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตว่าต้องไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐาน (Baselines) ซึ่งรัฐชายฝั่งเป็นผู้กำหนดตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยได้ประกาศกำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตไว้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2509 “กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตประเทศไทยเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐาน ที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต”
      หมายเหตุ เส้นฐานจำแนกได้ 3 ประเภท คือเส้นฐานปกติ (normal baselines) ได้แก่แนวน้ำลดตลอดชายฝั่งทะเลตามที่รัฐชายฝั่งกำหนดไว้ในแผนที่ของตน เส้นฐานตรง (straight baselines) และเส้นฐานหมู่เกาะ (straight archipelagic baselines) (จุมพล สายสุนทร, 2536 : 19-37)

      พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในทะเลอาณาเขต ได้มีกำหนดไว้ตาม มาตรา 20 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2548 ดังนี้ “ในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นในทะเลอาณาเขตเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จับผู้ต้องหาและส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ใด ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในกรณีนี้ มิให้นับระยะเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” (พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 174)

2.3 เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) 
     ในความหมายตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ อาณาเขตของทะเลหลวงซึ่งอยู่ภายนอกแต่ติดต่อกับทะเลอาณาเขต ซึ่งรัฐชายฝั่งที่เป็นเจ้าของมีสิทธิพิเศษบางประการในการควบคุมและป้องกันเกี่ยวกับศุลกากร (Customs) รัษฎากร (Fiscal) การเข้าเมือง (Immigration) หรือการสุขาภิบาล (Sanitation) แต่ว่ารัฐชายฝั่งนั้นไม่มีอำนาจเด็ดขาดในเขตต่อเนื่องดังเช่นในทะเลอาณาเขตของตน ทั้งนี้ตามข้อ 24 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ค.ศ. 1958 นอกจากนี้ข้อ 24 วรรค 2 ยังกำหนดให้ “เขตต่อเนื่องมิอาจจะขยายเกินกว่า 12 ไมล์นับจากเส้นฐานซึ่งวัดความกว้างของทะเลอาณาเขต” แต่ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (ข้อ 33) เขตต่อเนื่องมีความกว้างไม่เกิน 24 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1982 (2525) [จุมพล สายสุนทร (2536 : 67) และสุวพจน์ นิลายน ( 2538 : 109)]
     หมายเหตุ ข้อ 24 เขตต่อเนื่อง 1.ในเขตทะเลหลวงซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของตน รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมตามที่จำเป็นเพื่อ (ก) ป้องกันการละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากร รัษฎากร การเข้าเมือง หรือการอนามัย ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน (ข) ลงโทษการละเมิดข้อบังคับข้างต้นซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขต หรือทะเลอาณาเขตของตน 2.เขตต่อเนื่องมิอาจจะขยายเกินกว่า 12 ไมล์นับจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (มัลลิกา พินิจจันทร์, 2532 : 22)
     ข้อ 33. เขตต่อเนื่อง 1. ในเขตที่ต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของตนซึ่งเรียกว่าเขตต่อเนื่อง รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็น เพื่อ (เอ.) ป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมืองหรือการสุขาภิบาล ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน (บี.) ลงโทษการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน 2.เขตต่อเนื่องมิอาจขยายเกินกว่า 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งวัดความกว้างของทะเลอาณาเขต
 
     สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเขตต่อเนื่อง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่15) พ.ศ. 2540 เพิ่มเติม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469 เป็นหมวด 4 ทวิ กำหนดอำนาจทางศุลกากรในเขตต่อเนื่องไว้ ตามมาตรา 37 ทวิ – เบญจ (พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ตามมาตรา หมวด 8 ส่วนที่ 4 เขตต่อเนื่อง มาตรา 188 – 191) ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดย พ.รบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกำหนดใหม่เป็นหมวด 8 อำนาจทางศุลกากรในพื้นที่เฉพาะ ส่วนที่ 4 เขตต่อเนื่อง (ม.188-191)

    คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง
     ฎีกาที่ 5445/2552 บริเวณทะเลจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีอำนาจ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่จะป้องกันมิให้มีการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรได้ ประเทศไทยได้ประกาศเขตอำนาจในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจตรวจค้นเรือใดๆ ที่สงสัยว่าจะละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดต่อกฎหมายและระเบียบดังกล่าวในทะเลซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องได้ การจับกุมจำเลยกับพวกจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2538 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว
     จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่ เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือ ย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรเพราะเรือที่รับช่วง น้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขต ซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายามต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27

     ฎีกาที่ 5445/2552 แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดซึ่งถือเสมือนเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469

2.4 เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) 
      เป็นแนวความคิดตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลแนวใหม่และเป็นที่ยอมรับกันโดยนานาอารยประเทศทั่วไปแล้ว หมายถึงน่านน้ำส่วนที่ต่อออกไปจากทะเลอาณาเขตโดยวัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตออกไปเป็นระยะ 200 ไมล์ทะเล ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้นรัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ในอันที่จะสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต บนพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินท้องทะเล และในห้วงน้ำเหนือขึ้นไป สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 กำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยไว้แล้วเช่นกัน
      หมายเหตุ ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย เพื่อความมุ่งประสงค์ในการใช้สิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยในการแสวงประโยชน์ และอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในทะเล จึงเห็นสมควรประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้
      1) เขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย ได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย มีความกว้าง 200 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต
      2) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนี้ ราชอาณาจักรไทยมี
           (ก) สิทธิอธิปไตยในอันที่จะสำรวจและแสวงหาประโยชน์ อนุรักษ์และจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต บนพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินท้องทะเล และในห้วงน้ำเหนือขึ้นไป สิทธิอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการสำรวจและแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเขตดังกล่าว อาทิ การผลิตพลังงานจากน้ำ กระแสน้ำ และกระแสลม
          (ข) เขตอำนาจเกี่ยวกับ (1) การสร้างและการใช้เกาะเทียม สิ่งติดตั้งและโครงสร้างต่างๆ (2) การสำรวจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล (3) การรักษาสภาวะแวดล้อมทางทะเล
          (ค) สิทธิอื่นใดซึ่งมีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
      3) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนี้ เสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่าน และในการวางสายเคเบิ้ลและท่อใต้น้ำ ให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
      4) ในกรณีที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยอยู่ประชิดหรือตรงข้ามกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยพร้อมที่จะเจรจากับรัฐชายฝั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างกันต่อไป
      ประกาศ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เป็นปีที่ 36 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี

2.5 ทะเลหลวง (High Seas) 
     อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ.1958 ตามข้อ 1 หมายถึงส่วนทั้งหมดของทะเลซึ่งไม่รวมอยู่ในทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) หรือในน่านน้ำภายใน (Internal Waters) ภายในรัฐ และตามข้อ 2 ในทะเลหลวงนั้นรัฐทุกรัฐจะมีเสรีภาพในการที่จะใช้ประโยชน์จากทะเลร่วมกัน 4 ประการ คือเสรีภาพในการเดินเรือ เสรีภาพในการประมง เสรีภาพที่จะวางสายและท่อใต้ทะเล เสรีภาพที่จะบินเหนือทะเลหลวง ซึ่งต่อมาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1982 ข้อ 87(1) ได้เพิ่มอีก 2 ประการคือ เสรีภาพในการสร้างเกาะเทียมและสิ่งติดตั้งอื่น ๆ และเสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

2.6 การไล่ติดตามเรือต่างชาติในทะเลหลวง (ตามข้อ 23) 
     ในกรณีที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นภายในเขตอำนาจหรือเขตสิทธิอธิปไตยของรัฐชายฝั่ง และผู้กระทำความผิดไม่ยอมให้มีการจับกุมแต่ได้มีการหลบหนีออกไปในทะเลหลวง กรณีนี้รัฐชายฝั่งมีสิทธิที่จะไล่ติดตามต่อไป ซึ่งการใช้สิทธิไล่ติดตามดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดต่อรัฐชายฝั่ง เช่น มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายในทะเลอาณาเขต มีการลักลอบขนถ่ายสินค้าหนีภาษีเกิดขึ้นในเขตต่อเนื่อง มีการลักลอบทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (2) การใช้สิทธิไล่ติดตามผู้กระทำความผิดนั้นรัฐชายฝั่งจะต้องกระทำโดยทันที และ (3) การไล่ติดตามนั้นจะต้องกระทำโดยต่อเนื่อง อนึ่งการไล่ติดตามจะสิ้นสุดลงก็ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ การไล่ติดตามไม่ได้กระทำโดยต่อเนื่อง หรือผู้กระทำความผิดได้หลบหนีไปยังทะเลอาณาเขตของรัฐที่สามหรือทะเลอาณาเขตของรัฐผู้กระทำความผิด

หมายเหตุ อาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากฐานข้อมูลความรู้ทางทะเลhttp://www.mkh.in.th/

ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 มี.ค. 2564
แก้ไขครั้งที่ 1- 24 เม.ย. 64
แก้ไขครั้งที่ 2- 06 มิ.ย. 64