วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

6. การลงโทษฐานพยายามกระทำความผิด

 6. ลักษณะพิเศษเกี่ยวกับการลงโทษฐานพยายามกระทำความผิด

       การพยายามคือการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่ทำไปไม่ตลอด หรือทำไปตลอด แล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ประมวลกฎหมายอาญาลงโทษแก่ผู้พยายามกระทำผิดโดยทั่วไป เพียงสองในสามส่วนของอัตราโทษกำหนดไว้ หรืออาจได้รับโทษเพียงกึ่งหนึ่งหากการ กระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ ตามมาตรา 80, 81, 82 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
     “มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
      ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
      มาตรา 81 ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
      ถ้าการกระทำดังกล่าวในวรรคแรกได้กระทำไปโดยความเชื่ออย่างงมงาย ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้
      มาตรา 82 ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ”

     แต่กฎหมายศุลกากรบางมาตรา ได้ลงโทษการพยายามกระทำความผิดเท่ากับโทษที่ได้กระทำความผิดสำเร็จ สำหรับความผิดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดใน 3 กรณีดังต่อไปนี้
     (1) ความผิดเกี่ยวกับของลักลอบหนีศุลกากรตาม มาตรา 242
     (2) ความผิดเกี่ยวกับของหลีกเลี่ยงอากรตาม มาตรา 243 และ
     (3) ความผิดเกี่ยวกับของต้องห้าม ต้องจำกัด ผ่านแดน ถ่ายลำ ตาม มาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้

      “มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

      ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
      มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
      มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน”


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
Dr.Sangob Sittidech
dr.sangob.law@gmail.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น