วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

7. การงดการฟ้องร้องและคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

7. ลักษณะพิเศษในการงดการฟ้องร้องและคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

     การระงับคดีศุลกากรไม่จำเป็นต้องนำคดีฟ้องศาลเสมอไป พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้อำนาจแก่อธิบดีศุลกากรที่จะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ กล่าวคือ ความผิดตามกฎหมายศุลกากรนี้ ถ้าบุคคลนั้นยินยอมใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีเห็นสมควรแล้วอธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ตามมาตรา 256) โดยมีเงื่อนไขว่าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วต้องไม่เกินกว่าสี่แสนบาท เฉพาะความผิดใน 4 กรณี ดังต่อไปนี้
     (1) การนำของเข้าออกนอกทางอนุมัติตามมาตรา 86 ประกอบมาตรา 227
     (2) ความผิดเกี่ยวกับของลักลอบหนีศุลกากรตาม มาตรา242
     (3) ความผิดเกี่ยวกับของหลีกเลี่ยงอากรตาม มาตรา 243 และ
     (4) ความผิดเกี่ยวกับของต้องห้าม ต้องจำกัด ผ่านแดน ถ่ายลำ ตาม มาตรา 244
     แต่ถ้าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเกินกว่าสี่แสนบาท ต้องเสนอให้คณะกรรมการเปรียบเทียบ (ตามมาตรา 257) ซึ่งจะมีอำนาจเปรียบเทียบได้ (คณะกรรมการเปรียบเทียบประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับหรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกัน ตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


     ปรากฏตามมาตรา 256, 257 และมาตราที่เกี่ยวข้องแห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้
     “มาตรา 256 ภายใต้บังคับมาตรา 257 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าบุคคลนั้นยินยอมใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีเห็นสมควรแล้วอธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
      ในกรณีที่อธิบดีเห็นสมควรจะฟ้องบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บันทึกเหตุผลในการฟ้องผู้กระทำความผิดไว้ด้วย
      มาตรา 257 ความผิดตามมาตรา 227 มาตรา 242 มาตรา 243 มาตรา 244 และมาตรา 247 ถ้าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเกินกว่าสี่แสนบาท ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้
      คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
      เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับหรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกัน ตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
      มาตรา 227 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 86 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
       (มาตรา 86 การขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตั้งแต่เขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากร หรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนทางบก ต้องขนส่งตามทางอนุมัติ และภายในกำหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด
        การขนส่งของตามทางอื่นนอกจากทางอนุมัติหรือในเวลาอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด)
      มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
     มาตรา 247 ผู้ใดนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกหรือออกจากยานพาหนะ ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 242 หรือมาตรา 244 แล้วแต่กรณี

ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
Dr.Sangob Sittidech
dr.sangob.law@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น