วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

องค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายศุลกากร 2560: หลักการใช้กฎหมาย

   บทความเรื่อง “องค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายศุลกากร 2560: หลักการใช้กฎหมาย” (Criminal elements of customs law 2017) ผู้เขียนต้องการจะสื่อการอ่านและการใช้ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ให้ถูกต้อง ต้องยอมรับผู้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือบุคคลทั่วไป ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก ผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร นายเรือหรือตัวแทนเรือ ผู้ควบคุมยานพาหนะ ฯลฯ ไม่ได้มีพื้นด้านกฎหมาย (นิติศาตร์) มาก่อน ทำให้การอ่านและใช้กฎหมายไขว้เขว หรือผิดทาง ทั้งนี้ อาจจะมาจากการยกร่างโดยนักนิติศาตร์ด้านกฎหมายโดยเฉพาะ จึงใช้วรรคตอน ถ้อยคำสำนวนเป็นที่เข้าใจของผู้ร่าง เพื่อให้กฎหมายที่ออกมากระชับ รัดกุม ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

    ตัวอย่างที่ 1 มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    เมื่ออ่านแล้ว หากมีการนำของในประเทศเข้าเขตปลอดอากรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร บางท่านเห็นว่าน่าจะมีความผิดตามมาตรานี้ เพราะว่าผู้ใดนำเข้ามาใน...เขตปลอดอากรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
   แต่บางท่านเห็นว่าไม่น่าจะผิดมาตรานี้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายของออกไปจาก...เขตปลอดอากรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร

   ตัวอย่างที่ 2 มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    ถ้าอ่านอย่างคร่าว ๆ บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เฉพาะของนำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำเท่านั้นถึงจะมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ทั้งนี้เนื่องจากวรรคตอนแยกออกจากกันแล้ว

    ฉะนั้น เพื่อให้ได้คำตอบที่มีเหตุและผล เป็นไปตามหลักวิชาการผู้เขียนจึงได้รวบรวมบทความทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “องค์ประกอบความผิดทางอาญา” มาสรุปและปรับใช้อธิบาย ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น

   “ความผิดทางอาญา” คือ การกระทำความผิดที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคม หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ และต้องได้รับโทษทางอาญาตามที่รัฐกำหนดไว้ในกฎหมาย โทษทางอาญาตาม ป.อาญา มาตรา 18 ประกอบด้วย (เรียงตามความหนักเบา) (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน
   พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ถือว่าเป็นกฎหมายมหาชนทางภาษี ซึ่งมีบทบัญญัติที่มี “ความผิดทางอาญา” โทษทางอาญาตามกฎหมายนี้ประกอบด้วย (1) จำคุก (2) ปรับ (3) ริบทรัพย์สิน เช่น มาตรา 242 ข้างต้น “...ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่”

  “องค์ประกอบความผิดทางอาญา”[1]
  ในการรับผิดทางอาญาต้องมีครบทั้ง 2 องค์ประกอบ คือ
1. องค์ประกอบภายนอก คือ องค์ประกอบภายนอกของความผิดแต่ละฐาน จะประกอบไปด้วย
   (1) ผู้กระทำ
   (2) การกระทำ
   (3) วัตถุแห่งการกระทำ/กรรมของการกระทำ
   (4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (ทฤษฎีเงื่อนไข (Condition Theory) กับ ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม (Theory of Adequate Cause))
2. องค์ประกอบภายใน ประกอบด้วย
   
(1) เจตนา (เจตนาธรรมดา คือ ประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผล)
   (2) เจตนาพิเศษ (มูลเหตุชักจูงใจ: “โดยทุจริต” “เพื่อ”)
   (3) ประมาท (กฎหมายศุลกากรฉบับปี 2560 ไม่ระบุไว้ แต่ถ้าเป็นฉบับที่ 9 พ.ศ. 2482 ที่ยกเลิก ได้ระบุไว้ดังนี้ “ม.16 การกระทำที่บัญญัติไว้ใน ม.27 และ ม.99 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่

  Note: Elements of a crime. In general, for an act to be a crime in U.S. criminal justice systems, for elements must be present:
   1. A criminal act / Conduct (Actus reus) /external element: "guilty action"
   2. A criminal state of mind / Mental state (Mens rea) “guilty mind”
   3. Concurrence of a criminal act and a criminal intent
   4. Causation: the "causal relationship between conduct and result". In other words, causation provides a means of connecting conduct with a resulting effect, typically an injury.


Dr.Sangob Sittidech: Criminal elements of customs law,27.10.18


link
1. องค์ประกอบความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242
2. องค์ประกอบความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียอากรตาม ม.243
3. องค์ประกอบความผิดฐานนำของเข้าหรือส่งของออก หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้ามตาม ม. 244

4. พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 (คำอธิบายรายมาตรา)



ดร. สิทธิเดช สิทธิเดช
4.11.61
Update 2.02.62



[1] อ่านเพิ่มเติมได้จาก หยุด แสงอุทัย, ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน, แสวง บุญเฉลิมวิภาส, เฉลิมวุฒิ สาระกิจ, Element (criminal law) – Wikipedia.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น