วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ให้ถือว่า (ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้)

3. ให้ถือว่า (ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้) 

    บทบัญญัติในกฎหมายที่ใช้ถ้อยคำ “ให้ถือว่า” ศาลท่านบอกว่าคือ “ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้” ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2548
    ฎีกาที่ 2903/2548 “ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่าการมีแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป... ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมายนั้น จำเลยไม่อาจนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งตาม ป.อ. มาตรา 64 บัญญัติว่า "บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" เมื่อจำเลยมิได้ขออนุญาตแสดงพยานหลักฐานต่อศาลให้เชื่อว่าจำเลยไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ย่อมเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15”
   ฉะนั้นถ้อยคำ “ให้ถือว่า” ปรากฏใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ในมาตราต่าง ๆจึงเป็น “ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้” ดังนี้ 

    มาตรา 11 การดำเนินการทางศุลกากร ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการทางศุลกากรโดยเอกสาร ทั้งนี้ การนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
 
    มาตรา 12 การดำเนินการใดโดยทางเอกสารซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าเป็นความผิดและมีโทษเช่นเดียวกับการกระทำที่ได้ดำเนินการโดยทางเอกสาร

    มาตรา 31 การโอนของที่ได้จากการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดตามมาตรา 29 เข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่น ให้ถือว่าเป็นการส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร และเป็นการส่งของออกสำเร็จในเวลาที่โอนหรือจำหน่ายของนั้น ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 29 และมาตรา 30 มาใช้บังคับกับการคืนอากรหรือประกันอย่างอื่นแก่ผู้นำของเข้าโดยอนุโลม
    การรับของที่ได้โอนหรือจำหน่ายตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรนับแต่เวลาที่ได้โอนหรือจำหน่ายของนั้น และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการนำของเข้ามาใช้บังคับโดยอนุโลม
    การโอนของเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน การจำหน่ายของแก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากร และการรับของดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา ๕๐ การนำของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสำเร็จ ในกรณีดังต่อไปนี้
    (๑) การนำของเข้าทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ส่วนการส่งของออกทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตท่าท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (๒) การนำของเข้าทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาถึงเขตด่านพรมแดน ส่วนการส่งของออกทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตด่านพรมแดนเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (๓) การนำของเข้าทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่นำของเข้ามานั้นได้ถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ส่วนการส่งของออกทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (๔) การนำของเข้าทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้เปิดถุงไปรษณีย์ ส่วนการส่งของออกทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้ปิดถุงไปรษณีย์และได้ดำเนินการส่งออกตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา 54 ในกรณีที่ผู้นำของเข้าไม่สามารถทำใบขนสินค้าสำหรับของใดได้ เพราะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับของนั้นทั้งหมด ผู้นำของเข้าอาจยื่นคำขออนุญาตเปิดตรวจของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรนั้นได้ โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อครบกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าได้รับอนุญาตให้เปิดตรวจของตามวรรคหนึ่งแล้วผู้นำของเข้ายังไม่ยื่นใบขนสินค้าและไม่เสียอากรหรือวางประกันให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าของที่มีการเปิดตรวจนั้นเป็นของตกค้าง

    มาตรา 55 ในกรณีที่พนักงานศุลกากรเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนเงินอากรสำหรับของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากร ให้นำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือนำไปเก็บไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีความมั่นคง ปลอดภัย เว้นแต่พนักงานศุลกากรและผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะตกลงให้เก็บตัวอย่างของไว้เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว รวมทั้งได้เสียอากรตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและได้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันหรือวางประกันเป็นอย่างอื่นจนครบจำนวนเงินอากรสูงสุดที่อาจต้องเสียสำหรับของนั้น
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้ประเมินอากรที่ต้องเสียและแจ้งผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกให้เสียอากรแล้ว ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องเสียอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการวางเงินประกันตามวรรคหนึ่ง และเงินดังกล่าวคุ้มค่าอากรแล้ว ให้พนักงานศุลกากรเก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจำนวนที่ประเมินได้ และให้ถือว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้เสียอากรครบถ้วนแล้ว
 
    มาตรา 71 เรือลำใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากท่าที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่เรือของทางราชการจะต้องได้รับใบปล่อยเรือขาออก โดยให้นายเรือมีหน้าที่ทำรายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออก
    การทำรายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา 72 ถ้าเรือที่ได้รับใบปล่อยเรือขาออกแล้วได้ออกจากท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งอื่นในราชอาณาจักร ให้นายเรือทำรายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่บรรทุกขึ้นเรือนั้นต่อพนักงานศุลกากรประจำท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น พร้อมทั้งแนบใบปล่อยเรือขาออกที่ออกให้ภายหลังติดไว้กับใบปล่อยเรือฉบับแรก และต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เป็นด่านศุลกากรจนกว่าจะได้รับใบปล่อยเรือขาออกท้ายสุดออกนอกราชอาณาจักร
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออกของท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น เพื่อให้เรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
    การทำรายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา 80 ให้นายเรือที่ได้รับอนุญาตให้ขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอกจัดทำและยื่นบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายโดยเรือลำเลียงแต่ละลำต่อพนักงานศุลกากรผู้กำกับที่จอดเรือภายนอกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อพนักงานศุลกากรผู้กำกับที่จอดเรือภายนอกได้รับบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบอนุญาตให้นำของในเรือลำเลียงนั้นเข้าไปยังเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากรได้
    เมื่อเรือลำเลียงมาถึงท่าที่เป็นด่านศุลกากรแล้ว ให้นายเรือประจำเรือลำเลียงนั้นส่งมอบบัญชีสินค้าให้แก่พนักงานศุลกากรประจำด่านศุลกากรนั้น แล้วจึงขนถ่ายของและดำเนินพิธีการศุลกากรต่อไป 

  มาตรา 180 การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานศุลกากรในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในราชอาณาจักร

    มาตรา 185 เรือที่ทำการค้าชายฝั่งที่จะออกจากท่า ให้นายเรือทำบัญชีสินค้าแสดงรายละเอียดแห่งของในเรือยื่นต่อพนักงานศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับบัญชีสินค้าตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบปล่อยสินค้าและปล่อยเรือ
    เมื่อเรือที่ทำการค้าชายฝั่งมาถึงท่าอีกแห่งหนึ่งแล้ว ให้นายเรือแสดงใบอนุญาตปล่อยสินค้าและปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เรือนั้นมาถึงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือมาถึงเพื่อตรวจสอบของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือนั้นว่าถูกต้องตรงกับบัญชีสินค้าที่บรรทุกหรือขนส่งมาจากท่าเรือต้นทาง
    ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือมีชนิด ประเภท ปริมาณแตกต่างจากบัญชีสินค้า ให้สันนิษฐานว่าของที่มีชนิด ประเภท หรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่นำเข้าหรือส่งออกโดยยังมิได้เสียอากร
    ก่อนการขนถ่ายของขึ้นจากเรือ นายเรือต้องยื่นใบอนุญาตปล่อยสินค้าและใบปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากร เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรแล้วจึงจะทำการขนถ่ายของขึ้นได้ โดยต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เรือนั้นเดินทางไปถึง

ดร.สงบ สิทธิเดช 
น.บ., ศศ.ม., รป.ด.
Online 2 Feb 2019






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น