วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

2. พัฒนาการกฎหมายศุลกากร (มุมมองทางทฤษฎีสังคม)

พัฒนาการกฎหมายศุลกากร (มุมมองทางทฤษฎีสังคม)
-----------------------------------------------
    การศึกษาพัฒนาการกฎหมายมีความจำเป็นอย่างมากในการค้นหาเหตุผลแห่งกฎหมาย ซึ่งบางครั้งตัวบทกฎหมายอาจจะไม่มีความชัดเจนจนทำให้ไม่สามารถตีความตามตัวอักษรได้ จึงจำเป็นต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยการค้นหาเหตุผลของกฎหมาย โดยการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมหรือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ในหลายมิติ
    กฎหมายศุลกากรเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีจัด และ ปฏิบัติการของกรมศุลกากรได้มีการประกาศใช้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2469 และแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งหลายคราวจนถึงฉบับปี พ.ศ. 2548 ใช้ระยะเวลาประมาณ 79 ปี พัฒนาการของกฎหมายศุลกากรก็เป็นไปตามกระแสเศรษฐกิจและเหตุการณ์ทางการเมืองของแต่ละยุคแต่ละสมัย ในทางทฤษฎีสังคมสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะได้แก่
1. ระยะเกษตรกรรม (ก่อน พ.ศ. 2469 – 2494) หลังสนธิสัญญาบาวนิ่ง พ.ศ. 2398
2. ระยะเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. 2494 – 2504) ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
3. ระยะพัฒนาสู่ความสมดุล (พ.ศ. 2504 – 2514)
4. ระยะพุ่งตัว (Take - off) ของผลผลิตนอกสาขาเกษตร (พ.ศ. 2514 เป็นต้นไป) ผลิตเพื่อการส่งออก

2.1 ระยะเกษตรกรรม (ก่อน พ.ศ. 2469 – 2494) 
    หลังสนธิสัญญาบาวนิ่ง พ.ศ. 2398 มีผลใช้บังคับตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 - 2411) เป็นช่วงที่ยุโรปแข่งขันกันล่าอาณานิคม ในปี พ.ศ. 2399 เป็นการรื้อโครงสร้างทางการค้าและการคลังของไทยที่ทำมาก่อนนี้อย่างช้านาน รัฐบาลต้องสูญเสียเสรีภาพทางการค้า และต้องขาดรายได้อย่างมหาศาล จากระบบการผูกขาดการค้าและการจัดเก็บภาษีที่ทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อย่างไรก็ตามนับเป็นก้าวแรกของการเปิดประตูการค้ากับต่างประเทศอย่างเสรี ผลของสนธิสัญญาฯ ทำให้ประเทศอื่น ๆ ส่งทูตเข้ามาขอเจรจาทำสนธิสัญญาทางการค้าลักษณะเดียวกันนี้
    เหตุการณ์ทางศุลกากรได้เริ่มตั้งแต่การยกร่างกฎหมายศุลกากรในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 - 2468) ที่เรียกว่า Trade and Customs Regulations 128 หลังจากนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วง พ.ศ. 2457- 2461 จนถึงช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 - 2477) จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมายศุลกากรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2469 โดยมีบันทึกหลักการและเหตุผลจะเห็นได้จากวรรคที่สองว่า “โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า วิธีจัด และ ปฏิบัติการของกรมศุลกากรนั้น สมควรจะกำหนดลงไว้ให้เป็นระเบียบสืบไป” ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปิดประเทศที่ต้องการค้าขายทางทะเลกับชาวต่างชาติ เนื้อหาของฉบับแรกจึงว่าด้วยการค้าทางทะเล หากจะมีการค้าข้ามแดนทางบกหรือทางอากาศก็จะให้นำไปใช้โดยอนุโลม ในช่วงของรัชกาลที่ 7 นี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากร 4 ครั้งคือ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2471, ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2472, ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2474 และฉบับที่ 4 พ.ศ. 2475 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขในรายละเอียดปลีกย่อย
    ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 จนถึงช่วงของรัฐบาลพันเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา (พ.ศ. 2476 - 2481) ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากรถึง 3 ฉบับกล่าวคือ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2479 (นับรวมฉบับ พ.ศ. 2469 ด้วยจึงทำให้ฉบับที่ 5 ไม่มี) แก้ไขความหมายพนักงานศุลกากร, ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2480 ว่าด้วยการนำของเข้าหรือส่งของออกทางบก และฉบับที่ 8 พ.ศ. 2480 ว่าด้วยการนำของเข้าและส่งของออกทางอากาศยาน
    จนถึงช่วงของรัฐบาลพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481 - 2485) ได้มีการแก้ไขอีก 2 ฉบับคือ
    - ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2482 ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่สำคัญโดยเฉพาะได้แก่ มาตรา 16 การกระทำโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งนี้ เป็นผลพวงมาจากคดีที่กรมศุลกากรแพ้อันเนื่องมาจากศาลได้พิพากษาให้การกระทำตามมาตรา99 ต้องมีเจตนาด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 581/2481), มาตรา 17 กำหนดให้ริบของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469, มาตรา 19 ว่าด้วยของ Re-export ให้คืนอากร 7 ใน 8 ส่วน
    - ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2483 เป็นการแก้ไขมาตรา 88 ด้วยคลังสินค้าและมาตรา 122 ว่าด้วยการออกกฎกระทรวง ในช่วงสมัยรัฐบาลนี้ได้เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (พ.ศ. 2483 - 2484) ทำให้ลัทธิชาตินิยมแพร่หลายมากขึ้น ญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ยและลงนามในอนุสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2488
    ในปี พ.ศ. 2485 – 2488 เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามจนถึงปี พ.ศ. 2490 ได้มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากร ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2490 เป็นการแก้ไขอัตราโทษตามมาตรา 27 ซึ่งเป็นสมัยของรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2489 - 2490)

2.2 ระยะเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. 2494 – 2504) ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า 
    ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2491 - 2500) ซึ่งถือว่าเป็นช่วงรอยต่อระหว่างระยะเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (พ.ศ. 2494 – 2504) ได้มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากร 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2497 เป็นการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นสิบเท่าของอัตราโทษเดิม, แก้ไขอายุความการตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 24, แก้ไขมาตรา 102 , เพิ่มมาตรา 102 ทวิ – ตรี กำหนดจ่ายเงินสินบน, การบันทึกข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็นและการกำหนดเขตควบคุมศุลกากร และฉบับที่ 13 พ.ศ. 2499 เพิ่มมาตรา 19 ทวิ เป็นการคืนอากรแก่ของที่นำเข้าและเพิ่มมาตรา 27 ทวิ ลงโทษผู้รับซื้อของลักลอบ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2501 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 31 (พลโท ถนอม กิตติขจร) ส่งเสริมให้มีการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้เอง โดยการจัดให้มีการผ่อนผันให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ได้ใช้บรรดาเครื่องจักรและวัตถุที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้โดยไม่ต้องวางเงินประกันเงินอากรที่พึงเรียกเก็บแก่สิ่งของเหล่านั้นตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และในปีนี้เองรัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 จำนวน 4 ฉบับ [6]

2.3 ระยะพัฒนาสู่ความสมดุล (พ.ศ. 2504 – 2514) 
    ในปี พ.ศ. 2504 นี้เองประเทศไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 -2509 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากโลกทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในขณะนั้นว่า การพัฒนาคือการพัฒนาเศรษฐกิจ จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2510 – 2514 ยังคงเน้นการขยายอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ได้เริ่มให้ความสำคัญของการกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2.4 ระยะพุ่งตัว (Take - off) ของผลผลิตนอกสาขาเกษตร (พ.ศ. 2514 เป็นต้นไป) 
    ผลิตเพื่อการส่งออก นโยบายผลิตเพื่อการส่งออกเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรม เริ่มเห็นเป็นรูปร่างขึ้นตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2515 – 2519 แนวทางการพัฒนาจึงมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการส่งออก ปรับปรุงโครงสร้างการนำเข้า ปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและยกระดับการผลิต เร่งรัดการส่งออกและทดแทนสินค้านำเข้า และในปี พ.ศ. 2515 นี้เองได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 (พลโท ถนอม กิตติขจร, พ.ศ. 2506 - 2516) แก้ไขกฎหมายศุลกากรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสินค้าขาออก จะเห็นได้จากบทนำ "โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยศุลกากรยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สะดวกแก่การปฏิบัติและช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสินค้าขาออก..." เช่น มาตรา 8 กำหนดสถานที่ตรวจและเก็บของซึ่งมีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน มาตรา 8 ทวิ อนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร และอนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า รวมทั้งการคืนอากรแก่ของ Re – Export ตามมาตรา 19 ให้คืนอากรได้ 9 ใน 10 ส่วน (เดิมคืนได้ 7 ใน 8 ส่วน) การคืนอากรแก่ของที่นำเข้ามาผลิตหรือผสม หรือประกอบ หรือบรรจุและส่งกลับออกไปตามมาตรา 19 ทวิ ให้คืนอากรทั้งหมด และเพิ่ม ม.19 ตรี ให้รับการค้ำประกันของธนาคารแทนเงินสด เป็นต้น
    ในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2529 เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520 - 2524 ที่ยังคงเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งขยายการผลิตสาขาเกษตร ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525 – 2529 เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ปรับโครงสร้างการเกษตร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค ส่วนเหตุการณ์ทางศุลกากรได้มีการออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 พ.ศ. 2528 (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, พ.ศ. 2523 - 2531) เนื่องจากได้มีการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากร โดยออกเป็น พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากรเพื่อให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรในทำนองเดียวกับคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้การพิจารณาดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

กระแสโลกาภิวัตฒน์ (Globalization) และการค้าระหว่างประเทศไร้พรมแดน 
    ในระยะพุ่งตัวของผลผลิตนอกสาขาเกษตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมานั้นเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรม จนถึงปี พ.ศ. 2529 เศรษฐกิจของประเทศไทยไปผูกพันกับเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มตัวเริ่มขึ้นลงตามกระแสโลกาภิวัตฒน์ (Globalization) การค้าระหว่างประเทศไร้พรมแดน อิทธิพลของบริษัทข้ามชาติและการรวมกลุ่มเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่าง ๆ
    (1) ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู (พ.ศ. 2529 - 2533) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดที่เรียกว่า ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นช่วงรอยต่อของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 พ.ศ.2530 - 2534 เน้นวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตรงกับรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน (พ.ศ. 2531 - 2534)
    (2) ยุคเศรษฐกิจชะลอตัว ( พ.ศ. 2534 -2539) เป็นช่วงใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535 – 2539 เริ่มมองเห็นความจำเป็นในการกำหนดแนวความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ในสมัยรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2534 - 2535) มีการตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากการนำสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ สิ่งมีพิษ หรือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างอื่น เข้ามาในประเทศและปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นของตกค้าง จึงได้แก้ไขโดยการออก พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2534 เพิ่มมาตรา 6(6) กำหนดประเภทของสินค้าอันตราย, มาตรา 61 วิธีดำเนินการกับสินค้าอันตรายที่ตกค้าง และเพิ่มมาตรา 63 ทวิ สั่งให้ตัวแทนเรือนำสินค้าอันตรายกลับออกไป
    (3) ยุคกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF พ.ศ. 2540 – 2542) เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 – 2544 ปรับแนวคิดการพัฒนาจากเดิมที่เน้นเศรษฐกิจมาเป็นการเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ในสมัยของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (พ.ศ. 2535 – 2543) ได้มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากรถึง 4 ฉบับ
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2540 กำหนดการสอบสวนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่เกิดในทะเลอาณาเขต และเนื่องจากได้มีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย จึงได้กำหนดการใช้อำนาจทางศุลกากรในเขตต่อเนื่องให้ชัดเจน
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2542 กำหนดความผิดสำหรับการขนถ่ายสิ่งของใด ๆ ในทะเลนอกเขตท่าเป็นมาตรา 37จัตวา เพิ่มอำนาจของศาลในการริบเรือที่มีขนาดเกินสองร้อยห้าสิบตันเป็นมาตรา 32 วรรค 2 และของที่มิได้เป็นของผู้กระทำความผิดในบางกรณีตามาตรา32 ทวิ
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2543 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 จึงต้องยกเลิกการใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ประเมินเงินอากรสำหรับของนำเข้าโดยให้ใช้ราคาศุลกากรแทน กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และกระบวนการในการพิจารณาอุทธรณ์ รวมทั้งการกำหนดให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออก มีหน้าที่เก็บรักษาบัญชี เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออกเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
    - พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 การค้าขายระหว่างประเทศได้มีการแข่งขันกันอย่างมาก การสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ จึงกำหนดให้มีการจัดตั้งเขตปลอดอากรขึ้นในประเทศไทย เพื่อผลิตผสม ประกอบ บรรจุหรือดำเนินการอื่นใดกับสินค้านั้นเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
    - สำหรับในปี 2548 ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการแก้ไขอีก 2 ฉบับ ได้แก่
     (1) พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2548 สาระสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมโทษปรับให้สูงขึ้น
     (2) พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2548 เพิ่มหมวด 4 ตรี ว่าด้วยอำนาจทางศุลกากรในพื้นที่พัฒนาร่วม เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 และในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซียว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วเพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจและความตกลงดังกล่าวในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจทางศุลกากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

------------------------------------------------------------------------------------------

[6] ได้ให้สัตยาบันเมื่อปี พ.ศ. 2511 และประกาศใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2512 รวม 4 ฉบับคือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง (3) อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง (4) อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2511 เป็นต้นไป

หมายเหตุ ดูปฏิทินลำดับกฎหมายศุลกากรเพิ่มเติม


© ดร.สงบ สิทธิเดช (Dr.Sangob Sittidech, Update March 27, 2016)

1. ประวัติความเป็นมาของกฎหมายศุลกากร

ม.1-1. ประวัติความเป็นมาของกฎหมายศุลกากร

1. ประวัติความเป็นมาของกฎหมายศุลกากร
    คำว่า “ศุลกากร” นั้น ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง “อากรที่เรียกเก็บจากสินค้าเข้าและสินค้าออก ได้แก่ อากรขาเข้าและอากรขาออก” แต่จะเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อไรนั้น ปรากฏหลักฐานตามตำนานกรมศุลกากรของพระยาอนุมานราชธน (2494, หน้า 42) ได้บันทึกไว้ว่า “ได้ความว่าคำว่าศุลกากรนั้น เจ้าพระยาภาศกรวงศ์เป็นผู้คิดขึ้นเพื่อหาตรงกับคำว่า Customs ในภาษาอังกฤษ คำว่าศุลกากรจะประกาศใช้ขึ้นเมื่อใด ค้นหาหลักฐานอะไรไม่ได้เข้าใจว่าจะไม่ได้ประกาศใช้เป็นทางราชการโดยตรงเพราะในหนังสือราชการสมัยนั้น ลางฉบับก็ใช้เป็นกรมศุลกสถานก็มี เช่น เมื่อจุลศักราช 1250[1] (พ.ศ. 2431) มีคำว่า “อธิบดีผู้บัญชาการกรมศุลกากร” แต่ในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศฉบับหนึ่งเรียกผู้บัญชาการกรมศุลกสถาน พ.ศ. 2432 เรียกว่าผู้บัญชาการกรมศุลกากร (ไม่มีคำว่าอธิบดี) พ.ศ. 2433 เรียกว่า พณฯ ที่เกษตราธิบดีผู้บัญชาการศุลกากร เพราะฉะนั้น คำศุลกากรจะต้องเกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลัง พ.ศ. 2426 และก่อน พ.ศ. 2431”
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ประเทศไทยได้ประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2461 ประเทศไทยถือโอกาสเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ ซึ่งได้ทำไว้ตั้งแต่ครั้งสนธิสัญญาบาวริง โดยเฉพาะในเรื่องพิกัดศุลกากรซึ่งเดิมเราจะเก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าร้อยชักสามไม่ได้ ในการนี้รัฐบาลได้ แต่งตั้งให้ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ (Dr. Francis B. Sayre ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรี) ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ ไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ ไทยมีอิสระสมบูรณ์ที่จะตั้งพิกัดอัตราศุลกากรได้เต็มที่
    ในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีศุลกากร ปรากฎว่าในสมัยที่พระ วรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี และ มร.วิลเลียมนันท์ (Mr. Wullam Nuns) เป็นที่ปรึกษาศุลกากร ทางการได้จัดร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากรขึ้นฉบับหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 (ร.ศ.128) เรียกว่า ร่างข้อบังคับการค้าและศุลกากร [Trade and Customs Regulations 128 (1909)] โดยอาศัยตามหลักในกฎหมายอังกฤษเป็นแบบฉบับ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1879 (พ.ศ. 2419) ชื่อ Customs Consolidation Act.1879 แล้วส่งร่างข้อบังคับทางการค้าดังกล่าว [Draft of Proposed Trade and Customs Regulation for the Kingdom of Siam, R.S. 128 (1909)] ไปให้นานาประเทศที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศไทย พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน หลังจากนั้นจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายนั่นคือ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 43 หน้า 272 วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2469 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการศุลกากรได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางมีอิสระสมบูรณ์ทุกประการ [2]
    สำหรับภูมิหลังของ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469 ได้มีการศึกษาจากรายงานการประชุมเสนาบดีที่ 6/2468 ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2468 [3] พบว่า ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ขึ้นไป ยังไม่มีพระราชบัญญัติศุลกากรบังคับใช้เป็นกิจจะลักษณะ ต้นฉบับพระราชบัญญัติศุลกากรมิใช่ภาษาไทย แต่มีการร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงมาแปลเป็นภาษาไทยในภายหลัง ดังนั้นการจะเข้าใจหลักกฎหมายศุลกากรอย่างถ่องแท้จะต้องอ่านเทียบเคียงกับฉบับภาษาอังกฤษด้วย โดยเฉพาะมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หากอ่านแต่ฉบับภาษาไทยอย่างเดียวอาจจะทำให้ตีความคลาดเคลื่อนได้ แม้จะมีการตรวจแก้ไขร่างภาษาไทยกับต้นร่างภาษาอังกฤษแล้วก็ตาม กระนั้นก็ดีภาษาไทยที่แปลจากภาษาอังกฤษก็ยังมีความหมายที่ไม่ตรงกัน (ดร.สกล สกลเดช , 2540, หน้า 48-52)
    ส่วนในด้านพิกัดอัตราศุลกากรก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2469 ปีเดียวกันนี้ด้วย ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อนรวม 11 ครั้ง ทางราชการจึงได้ทำสังคายนายกร่างขึ้นใหม่เป็น พ.ร.บ. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2478 และได้แก้ไขให้สอดคล้องกับระบบราคาของ BDV (Brussels Definition of Value) ซึ่งใช้การจำแนกประเภทสินค้าตามแบบ CCCN (Customs Co-operation Council Nomenclature) โดยออกเป็น พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 และก็ได้มีการแก้ไขหลายครั้งจนถึงครั้งที่ 57 เป็น พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย จึงได้ถูกยกเลิกทั้งหมดและให้นำ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาใช้แทน เนื่องจากฉบับของ CCCN ล้าสมัย ขาดรายละเอียดและความชัดแจ้ง ซึ่งเป็นผลเสียแก่การค้า การอุตสาหกรรมและการลงทุนของประเทศ จึงได้ปรับปรุงพระราชกำหนดดังกล่าวเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำหลักการและโครงสร้างการจำแนกประเภทพิกัดสินค้า ซึ่งเรียกว่าระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System) อันเป็นระบบที่ชัดแจ้งกว่ามาใช้แทน
    ในระหว่างที่พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร (พ.ศ. 2478 - 2481) ได้ทรงปรับปรุงงานด้านศุลกากรเพื่อให้เป็นกรมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ผลงานสำคัญคือ การตราพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2478 เปลี่ยนการเก็บภาษีศุลกากรจากหลักการเก็บตามราคามาเป็นตามสภาพ นับเป็นแม่บทในการเรียกเก็บภาษีอากรของไทยตามแบบอารยประเทศ และยังได้ขยายประเภทของสินค้าที่ต้องเสียภาษีจาก 30-40 ประเภทเป็น 198 ประเภท
    นอกจากนี้ยังทรงรับสั่งให้จัดรวบรวมประมวลคำสั่ง ระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานศุลกากรต้องปฏิบัติเข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นคู่มือของข้าราชการเรียกว่า "ประมวลข้อบังคับศุลกากร พ.ศ. 2481" [4] ซึ่งข้าราชการกรมศุลกากรได้ยึดถือเป็นคู่มือการปฏิบัติราชการตลอดมา [5]
------------------------------------------------------------------------------------------------
[1] จุลศักราช : ศักราชน้อย ตั้งขึ้นภายหลังมหาศักราช เป็นศักราชที่เราใช้กันก่อนใช้ศักราชรัตนโกสินทร์ เริ่มภายหลังพุทธศักราช 1181 ปี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)
[2] สำหรับประวัติของการร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือหอรัษฎากรพิพัฒน์ที่ 142/16953 ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2468 ที่พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงร่างกฎหมายดังกล่าว (ถวิล วิสุทธจินดา, กฎหมายเกี่ยวกับการศุลกากร, หน้า 8 อ้างถึงใน ชูชาติ อัศวโรจน์, 2538, หน้า 78)
[3] ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติศุลกากรเข้าที่ประชุมเสนาบดีพิจารณา ปรากฏในรายงานฯ ดังนี้ “ได้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างเสนาบดีต่างประเทศ, มุรธาธร, มหาดไทย, ทหารเรือ, คลังและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ ยุติความเห็นส่วนใหญ่ว่า กฎหมายในเรื่องนี้ไม่มีปัญหาว่าจะควรหรือไม่ ควรให้มีขึ้น เพราะกิจการส่วนมากได้ปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่หากยังไม่ได้ประมวลขึ้นไว้เป็นบทพระราชบัญญัติ ข้อความทั้งนี้ได้ปรึกษาหารือผู้แทนนานาประเทศมากมายหลายชั้น แต่ตัวพระราชบัญญัติภาษาไทยนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ถ้อยคำยังไม่เรียบร้อยจนความก็ดูไม่สู้สนิธ แต่ต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้นคลังไม่ได้ทูลเกล้าถวายขึ้นมา จึงไม่ได้พระราชทานไปให้ที่ประชุมได้อ่านตรวจเทียบ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เสนาบดีคลังคัดร่างพระราชบัญญัติภาษาอังกฤษถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์และเสนาบดีสภาอ่านทราบทั่วกันก่อนแล้วจึงจะได้ปรึกษากันใหม่อีกชั้น 1” เสนาบดีคลังรับกระแสรับสั่ง
[4] ประมวลข้อบังคับศุลกากร พ.ศ.2481 ได้มีการแก้ไขหลายครั้งโดยกรมศุลกากรได้แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานแก้ไขปรับปรุง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2530 ได้แก้ไขปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 แบ่งออกเป็น 22 หมวด ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2541 และครั้งที่ 4 แก้ไขตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 17/2544 ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เรียกว่า “ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2544” แบ่งออกเป็น 5 ภาค รวม 32 หมวด
[5] ประวัติความเป็นมาของกระทรวงการคลัง (http://www.mof.go.th/mofhistory.htm.)
วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

2. พัฒนาการกฎหมายศุลกากร

© ดร.สงบ สิทธิเดช (Dr.Sangob Sittidech, Update October 01, 2012)

ประวัติความเป็นมาของ กม. ศุลกากร 2469

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2469 และให้ใช้เป็นกฎหมายเมื่อพ้นวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 3 เดือน

*(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 43 วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2469 หน้า 272)

Section 1. This Act is called the “Customs Act, B.E. 2469 (1926)”, and it shall come into force three months after the date of its publication in the Government Gazette.
[Published in the Government Gazette Vol. 43 Page 272, dated 13th August B.E. 2469 (1926).]

สารบัญ
1. ประวัติความเป็นมาของกฎหมายศุลกากร
2. พัฒนาการกฎหมายศุลกากร (มุมมองทางทฤษฎีสังคม)
3. ปฏิทินลำดับเหตุการณ์กฎหมายศุลกากร

ภาพรวมกฎหมายศุลกากร



© ดร.สงบ สิทธิเดช 
(Dr.Sangob Sittidech, April 30, 2013)
วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

4.3 กฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)

 4.3 กฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) 14 ฉบับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง WMD (Weapon of mass destruction) คณะรัฐมนตรีของไทยได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1540 (2004) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2546 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อมติดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายของตนเองเพื่อให้ควบคุมถึง WMD สถานะล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2563 ได้มีกฎหมายที่ปรับปรุงและออกใหม่รวมประมาณ 14 ฉบับ ดังนี้

1. พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 (ยกเลิก พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469)

2. พ.ร.บ. ควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2495 และ พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552

3. พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 (ยกเลิก พ.ร.บ. พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504)

4. พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

5. พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (ยกเลิก พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2523)

6. พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต 30.11.50 และที่แก้ไข ฉบับ 2 (2552) และฉบับ 3 (2559)

7. พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑

8. พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 (ยกเลิก พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499)

9. พ.ร.บ. เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 (ยกเลิก พ.ร.บ. เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2525)

10 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 - พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมฯ 2546 ความผิดมูลฐาน (8) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตาม ป.อาญา และ (ฉบับที่ 5) 2558 ม.6(21) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เฉพาะที่เป็นการค้ายุทธภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อการร้ายการรบ หรือการสงคราม

11. พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. ๒๕๕๙

12. ประมวลกฎหมายอาญา ม.135/1-135/4 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546) - ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

13. พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498

14. พ.ร.บ. การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทาลายล้างสูง พ.ศ. 2562

 

4.4 ความรู้เกี่ยวกับสินค้าสองทางและอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)



ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
14 มี.ค. 2564

4. รวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อห้าม ข้อจำกัด ในการนำเข้า/ส่งออกและนำผ่าน

 4. รวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อห้าม ข้อจำกัด ในการนำเข้า/ส่งออกและนำผ่าน

4.1 เงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ปรากฏอยู่ใน มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ดังนี้

“เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งหรือนำเงินออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ให้ถือว่าเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

การส่งหรือนำ หรือพยายามส่งหรือนำ หรือช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย และให้นำบทกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของ หรือการจับกุมผู้กระทำผิด การแสดงเท็จ และการฟ้องร้องมาใช้บังคับแก่การกระทำดังกล่าวรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้อง”

4.2 กฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร Thailand National Single Window (68 ฉบับ)

กฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากรผู้เขียนได้รวบรวมจากระบบ Thailand National Single Window และได้เพิ่มเติมที่เห็นว่าเกี่ยวข้องรวมอย่างน้อยประมาณ 68 ฉบับ ดังนี้

 

กฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร Thailand National Single Window

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

1

พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542

กรมการค้าต่างประเทศ

2

พระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550

กรมการค้าต่างประเทศ

3

พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

กรมการค้าต่างประเทศ

4

พระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทาลายล้างสูง พ.ศ. ๒๕๖๒

กรมการค้าต่างประเทศ

5

พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542

กรมการค้าภายใน

6

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

กรมการค้าภายใน

7

พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495

กรมการค้าภายใน

8

พระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489

กรมการค้าภายใน

9

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

กรมการปกครอง

10

พระราชบัญญัติโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550

กรมการอุตสาหกรรมทหาร

11

พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530

กรมการอุตสาหกรรมทหาร

12

พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2495

กรมการอุตสาหกรรมทหาร

13

พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521

กรมเจ้าท่า

14

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456

กรมเจ้าท่า

15

พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

16

พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551

กรมทรัพยากรธรณี

17

พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543

กรมธุรกิจพลังงาน

18

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

กรมประมง

19

พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490

กรมประมง

20

พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547

กรมประมง

21

พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525

กรมปศุสัตว์

22

พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

กรมปศุสัตว์

23

พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545

กรมป่าไม้

24

พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535

กรมป่าไม้

25

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

กรมป่าไม้

26

พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

27

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518

กรมวิชาการเกษตร

28

พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

กรมวิชาการเกษตร

29

พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542

กรมวิชาการเกษตร

30

พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518

กรมวิชาการเกษตร

31

พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507

กรมวิชาการเกษตร

32

พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

กรมศิลปากร

33

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560

กรมศุลกากร

34

พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

กรมสรรพสามิต

35

พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต พ.ศ. 2527

กรมสรรพสามิต

36

พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493

กรมสรรพสามิต

37

พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509

กรมสรรพสามิต

38

พระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ. 2486

กรมสรรพสามิต

39

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

กรมสรรพากร

40

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

41

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

42

พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. 2556

กรมการขนส่งทางบก

43

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522

กรมการขนส่งทางบก

44

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

45

พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

46

พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494

การท่าเรือแห่งประเทศไทย

47

พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

48

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)

49

พระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503

สนง. กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

50

พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498

สนง. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

51

พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520

สนง. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

52

พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

สนง. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

53

พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551

สนง. คณะกรรมการอาหารและยา

54

พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551

สนง. คณะกรรมการอาหารและยา

55

พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและ ประสาท พ.ศ. 2518

สนง. คณะกรรมการอาหารและยา

56

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

สนง. คณะกรรมการอาหารและยา

57

พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

สนง. คณะกรรมการอาหารและยา

58

พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558

กรมวิทยาศาตร์การแพทย์

59

พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

กรมวิทยาศาตร์การแพทย์

60

พระราชบัญญัพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559

สานักงานปรมาณูเพื่อสันติภาพ

61

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559

สนง. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

62

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

สนง. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

63

ประมวลกฎหมายอาญา ม.135/1-135/4

สนง. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

64

พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485

ธนาคารแห่งประเทศไทย

65

พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

ธนาคารแห่งประเทศไทย

66

พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

สนง.คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

67

พระราชบัญญัติห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481

หน่วยงานราชการ

68

พระราชบัญญัติปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก พ.ศ. 2471

หน่วยงานราชการ

          ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thainsw.net/



ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
14 มี.ค. 2564