วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณ/หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย

2. ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณ/หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย 
    1. ข้อสันนิษฐานกฎหมายที่เป็นคุณแก่ศุลกากร ตาม ม.169, 176, 185 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560    ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณแก่ศุลกากร เป็นประโยชน์แก่ศุลกากรในการดำเนินคดี เพราะตามหลักกฎหมาย ป.วิ.อ. และ ป.วิ.พ.มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว” เช่น ข้อสันนิษฐานตาม ม. 169 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 “ถ้าพบว่าบุคคลใดมีสิ่งอันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ในครอบครอง ให้บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้เป็นหลักฐานโดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้นเป็นความจริง” ผู้บันทึกจะต้องพิสูจน์เพียงว่าขณะบันทึกผู้ถูกกล่าวหามีสิ่งของ ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครองและผู้บันทึกมีอำนาจถูกต้อง ข้อเท็จจริงตามที่บันทึกไว้นั้นอาจใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีชั้นศาลได้ ส่วนแนวทางบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนได้พบเห็นได้มีแนวทางปฏิบัติตาม ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ข้อ 7 02 02 05 ว่าด้วย “การบันทึกการตรวจค้น -จับกุม และการบันทึกสภาพหีบห่อที่บรรจุของกลาง” (หน้า 18) อย่างไรก็ปัญหาที่ท้าทายของพนักงานศุลกากรอยู่ที่ว่า จะต้องนำสืบเพียงใดและสืบอะไรอีกจึงจะไม่ให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง
    โอสถ โกสิน (2501) กฎหมายลักษณะพยานเปรียบเทียบ กล่าวโดยสรุป “ข้อสันนิษฐาน” คือ หลักการรับฟังข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำมาใช้ได้ต่อเมื่อ มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงบางอย่างให้ปรากฏแล้ว ศาลจำต้องสันนิษฐาน หรืออาจสันนิษฐานได้ ว่าข้อเท็จจริงอื่นบางประการได้มี หรือได้เกิดขึ้นแล้ว กล่าวให้ง่ายก็คือ ข้อสันนิษฐานเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงตามเงื่อนไขอันเกิดจากข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่ง

   2. ความเห็นเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานกฎหมายตาม ม.10 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497
    การบันทึกข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็น ตาม ม. 169 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ร่างเดิมมาจาก ม.10 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ดังนี้
    “มาตรา 10 ถ้าปรากฏว่า ผู้ใดมีสิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัด หรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ให้อธิบดี พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น บันทึกนี้ถ้าเสนอต่อศาลในเมื่อมีการดำเนินคดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
    ให้นำบทบัญญัติในวรรคก่อนมาใช้บังคับแก่การกระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง และกฎหมายว่าด้วยการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย”

    2.1 หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย 
    หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ปรากฏในหมายเหตุท้ายฎีกาอธิบายกฎหมายศุลกากรที่สำคัญ ดังนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 834/2503 ในการฟ้องร้องคดีเกี่ยวด้วยรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ถ้ามีข้อโต้เถียงขึ้นเกี่ยวกับการชำระภาษีถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือว่าของนั้น ๆ ได้นำเข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หน้าที่พิสูจน์ตกแก่จำเลย
    หมายเหตุ กฏหมายศุลกากรนั้น มีหลักอยู่อันหนึ่งซึ่งเหมือนกันหรือเป็นไปทำนองเดียวกัน คือ เปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย...
    ไม่ว่าโต้เถียงของฝ่ายจำเลยจะมีประการใดก็ตาม ตามกฏหมายศุลกากรยังมีบทสันนิษฐานอีกหลายประการ ซึ่งฝ่ายจำเลยมีภาระจะต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนั้นให้ศาลเห็นจริง เช่นบท สันนิษฐานตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับ12) พ.ศ.2497 ว่า ถ้าผู้ใดมีสินค้าไว้เพื่อการค้าของตนเอง หรือผู้อื่นในบริเวณพิเศษที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระอากร เว้นแต่จะแสดงให้เป็นที่พอใจว่าได้ชำระอากรแล้ว หรือบทสันนิษฐานตามมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันว่า ในเขตควบคุมศุลกากร เมื่ออธิบดีกรมศุลกากรประกาศให้ผู้ทำการค้าสินค้าชนิดใดจัดให้มีสมุดควบคุมและลงรายการในสมุดนั้นเป็นรายวันแล้ว ถ้าตรวจพบว่ามีสินค้าเกินหรือขาดบัญชี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้าซึ่งเกินหรือขาดนั้นได้นำมาไว้ในครอบครอง หรือย้ายขนไปโดยผิดกฏหมายแล้วแต่กรณีโดยยังไม่ได้ชำระอากร (กรณีขาดบัญชีนั้นมุ่งหมายถึงของมาตรา) เป็นต้น บทสันนิษฐานที่สำคัญซึ่งปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ คือบทสันนิษฐานตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่12) พ.ศ. 2497 ที่ว่า “ถ้าปรากฏว่าผู้ใดมี สิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัด หรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ให้อธิบดี พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น บันทึกนี้ถ้าเสนอต่อศาลในเมื่อมีการดำเนินคดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฏหมาย หรือนำเข้ามาโดย การลักลอบหนีศุลกากรแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น “ข้อสันนิษฐานตามมาตรานี้จะต้องปรากฏในเบื้องต้นว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งของต้องห้ามในการนำเข้า (คือของที่มีกฏหมายห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด) หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของต้องกำกัด (เช่น ของที่จะนำเข้าได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตก่อน) หรือเป็นของลักลอบหนีศุลกากร (คือนำเข้ามาโดยไม่ผ่านศุลกากร)เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้แล้วและเจ้าพนักงานดังระบุไว้ในกฏหมาย ได้ทำบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้แล้วเสนอต่อศาลเมื่อมีการดำเนินคดี จึงสันนิษฐานว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงในบันทึกนั้น และผู้ที่ครอบครองสิ่งของดังกล่าวได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฏหมายหรือโดยการลักลอบหนีศุลกากร ฝ่ายจำเลยย่อมสามารถนำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้ด้วยประการต่าง ๆ แต่ถ้าหลักฐานนั้นไม่พอฟัง ก็ต้องมีความผิดตามข้อสันนิษฐานของกฏหมายเช่นในคดีนี้
    มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานดังกล่าวข้างต้นอยู่บางประการ คือในเรื่องเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบหนีศุลกากรนั้น ย่อมมีได้ต่าง ๆ สุดแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ในคดีนี้จะเห็นได้จากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยมีของชนิดที่ต้องทำบัญชีควบคุมไว้โดยไม่ได้ทำบัญชีก็เป็นเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบหนีศุลกากร ซึ่งในอีกทางหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าการที่ไม่ได้ทำบัญชีเลยก็เท่ากับมีของเกินบัญชี ซึ่งมาตรา 14 ให้สันนิษฐานว่าเป็นของยังไม่ได้ชำระอากรอีกด้วย อีกประการหนึ่ง ข้อเท็จจริงในบันทึกของเจ้าพนักงานนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น ไม่ใช่ความเห็นหรือความเข้าใจของผู้บันทึก แต่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบและอื่น ๆ ที่พบเห็นเองเกี่ยวกับเรื่องนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นข้อเท็จจริงว่าผู้ใดนำของนั้นเข้ามาทางไหน เมื่อใด เพราะถ้าบันทึกข้อเท็จจริงเช่นนี้ได้บทสันนิษฐานตามมาตรานี้ก็ไม่ต้องมีขึ้น และประการสุดท้ายก็คือตามข้อสันนิษฐานของกฏหมายนั้น ให้สันนิษฐานว่าผู้ครอบครองของซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าลักลอบหนีศุลกากรนั้นเองเป็นผู้ลักลอบนำเข้ามา ซึ่งก็เท่ากับผู้นั้นได้ของนั้นไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยการหลีกเลี่ยงอากรนั่นเอง
    การผลักภาระการพิสูจน์ให้ฝ่ายจำเลยโดยตรงตามมาตรา 100 ก็ดี การตั้งข้อสันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ฝ่ายเจ้าพนักงานหรือโจทก์ เพื่อให้ตกเป็นภาระแก่ฝ่ายจำเลยจะต้องพิสูจน์ว่าข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปตามข้อสันนิษฐานนั้นก็ดี เป็นคนละปัญหากับการนำสืบก่อนหลัง เรื่องการนำสืบก่อนหลังนั้นไม่มีปัญหาประการใด ในคดีอาญาโจทก์จะต้องนำสืบก่อนเสมอ แต่เมื่อมีข้อสันนิษฐานไว้ในกฏหมายเป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ก็มีภาระการพิสูจน์แต่เพียงให้เข้าเงื่อนแห่งการที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วน ตามหลักการในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84 วรรคสอง ประกอบมาตรา 15 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสำหรับข้อสันนิษฐานตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ก็มีเพียงว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่าของที่จำเลยมีไว้นั้นเป็นของลักลอบหนีศุลกากร เจ้าพนักงานได้บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้แล้ว และเสนอบันทึกนั้นต่อศาล เพิ่มเติมด้วยวิธีการในทางปฏิบัติว่าจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจ หรือฟังได้ว่าได้ของนั้นมาโดยชอบด้วยกฏหมาย เมื่อโจทก์พิสูจน์เพียงเท่านี้ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฏหมายว่า ผู้ครอบครองของนั้นได้ลักลอบนำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร จะเข้ามาทางไหน เมื่อใด ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ แต่เป็นภาระการพิสูจน์ของจำเลยตามมาตรา 100 และมาตรา 10 นี้เองด้วย ดังที่ศาลได้วินิจฉัยในฎีกานี้และฎีกาที่ 70/2503 และเมื่อภาระการพิสูจน์ของโจทก์เป็นดังนี้ กรณีจึงเกี่ยวโยงไปถึงการบรรยายฟ้องตามความในมาตรา 158 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด ซึ่งก็ต้องบรรยายให้เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเท่านั้น การจะบรรยายเลยไปถึงข้อที่กฏหมายสันนิษฐานให้ เช่นว่า จำเลยนำของเข้ามาทางนั้นทางนี้ เมื่อนั่นเมื่อนี้ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ต้องมีข้อสันนิษฐานของกฏหมายให้ประโยชน์แก่โจทก์ไว้ ส่วนการที่โจทก์จะฟ้องแต่เพียงฐานรับไว้ซึ่งของที่นำเข้าโดยการหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งมีโทษเบากว่า ฐานลักลอบและพิสูจน์ว่าจำเลยรู้เช่นนั้นโดยอาศัยพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไปประกอบกันสอดส่องให้เห็นเจตนาของจำเลย ซึ่งก็เป็นอันเดียวกับพยานหลักฐานที่แสดงเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบและจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่นนั้น ก็ไม่มีข้อขัดแย้งกันประการใดดังจะเห็นได้จากการที่ศาลแทบทุกศาลได้วินิจฉัยไปในแนวเดียวกันตลอดมา.
ที่มา: หมายเหตุท้ายฎีกาอธิบายกฎหมายศุลกากรที่สำคัญ

อ่านหลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย ฉบับเต็ม

    2.2 ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในคดีกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากรและการริบของกลาง (เรื่องเสร็จที่ 91/2501)
    คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4) ได้พิจารณาแล้วขอเสนอความเห็น ต่อไปนี้
    สำหรับปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4) ได้เคยพิจารณาทำความเห็นเสนอไปยังกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2496 กรรมการเห็นควรแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางกรณีที่จะเป็นการยกเว้นหลักการนำสืบอันเป็นหลักฐานในกรณีใด อย่างใด และในทางที่ไม่ล้มหลักมูลฐานนั้น แต่ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีอย่างใด ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ให้เป็นกฎหมาย บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บางมาตราได้ผ่านการพิจารณาของกรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4 แต่บางมาตราไม่ได้ผ่านการพิจารณาของกรรมการ เช่น มาตรา 100 อันเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ
    อย่างไรก็ดี เมื่อนำเอากฎหมายศุลกากร (พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469) และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษมาพิจารณาโดยเฉพาะแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4) ก็เห็นควรพิจารณาตอบปัญหาที่กระทรวงการคลังหารือมา (แทนกรมศุลกากร) ตามหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2500 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะเหตุว่า ตามความเห็นของกรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4 บทบัญญัติในกฎหมายสองฉบับดังกล่าวข้างต้นนั้นดูประหนึ่งว่าจะขัดกัน แต่ความจริงเมื่อพิจารณาตีความในโดยรอบคอบแล้วก็หาเป็นเช่นนั้นไม่
      ปัญหาข้อ 1 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 100 ได้นำเอาวิธีปฏิบัติซึ่งกรมศุลกากรได้ใช้มานานแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การควบคุมและปราบปรามการกระทำผิดมาบัญญัติไว้ กล่าวคือในกรณีที่มีการโต้เถียงกันเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ระหว่างเจ้าพนักงานและผู้ที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้นำของเข้าโดยการลักลอบหลบหนีศุลกากรนั้นหน้าที่นำสืบย่อมตกอยู่แก่บุคคลที่จะต้องถูกฟ้องร้อง โดยที่วิธีปฏิบัติเช่นนี้ถูกตำหนิว่าขัดกับหลักแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติให้หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่โจทก์ ดังนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 10 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนได้พบเห็น และให้เสนอบันทึกนั้นต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ(หรือต่อไปให้เสนอในศาล) ทั้งนี้หาใช่เป็นการกำหนดหน้าที่นำสืบให้ตกอยู่แก่เจ้าพนักงานไม่ เป็นเพียงแต่ว่าให้เจ้าพนักงานระบุและบันทึกสิ่งที่ตนได้พบเห็น (เช่น ของที่น่าจะได้ถูกลักลอบนำเข้ามา สถานที่ที่นำเข้ามาตลอดจนวันเวลาและพฤติการณ์ที่พบของบุคคลซึ่งน่าจะเป็นผู้กระทำผิด ราคาของ ฯลฯ บรรดารายละเอียดซึ่งเป็นแต่เพียงรายการข้อเท็จจริง) เท่านั้น นอกจากนี้ยังบัญญัติให้เป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานศุลกากรอย่างมาก กล่าวคือ ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานได้จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงแต่ถ้าจำเลยสามารถนำพยานมาสืบได้ว่าข้อเท็จจริงนั้นไม่ถูกต้อง ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็เป็นอันตกไป วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการธรรมดาเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานในทางอาญาซึ่งนำมาใช้แก่การกระทำผิดต่อกฎหมายศุลกากรด้วย โดยที่บันทึกของเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้นต้องรับฟังไว้ก่อน
    ข้อสำคัญประการหนึ่งมีอยู่ว่า ข้อสันนิษฐานในทางอาญาจะต้องเป็นหลักที่ยืดหยุ่นพอที่จะให้มีการสอบสวนทางอาญาและหาพยานหลักฐานมาประกอบความผิดได้ ในเมื่อความไม่แน่นอนได้เกิดขึ้นทั้งนี้เพราะข้อสันนิษฐานดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำบันทึกอยู่ฐานะที่มีเอกสิทธิ์อันเป็นเครื่องช่วยให้เจ้าหน้าที่นั้นปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน ขอนำเอากรณีซึ่งกรมศุลกากรได้ยกขึ้นเป็นตัวอย่างมาพิจารณาเพื่อให้ชัดว่าหน้าที่นำสืบมีถึงขนาดไหน กล่าวคือ ในกรณีที่พ่อค้านำลูกไม้ที่เรียกว่า “บ๊วย” (ห้ามนำเข้า) เข้ามาในประเทศและกรมศุลกากรไม่เคยทราบเรื่องหรือไม่เคยได้รับชำระอากรเลยนั้น ย่อมเป็นที่ยอมรับกันทีเดียวว่า จำต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าพ่อค้านั้นมีความผิดฐานลักลอบหนีภาษีศุลกากร จึงเป็นหน้าที่ของพ่อค้านั้นที่จะต้องนำสืบ (โดยนำใบรับ พยาน ฯลฯ มาแสดง) ว่าตนได้เสียค่าอากรแล้วหรือมีความสุจริตและกระทำโดยเปิดเผย ในตัวอย่างที่ว่านี้ถ้าจะกล่าวว่าเป็นการกลับหน้าที่นำสืบและหน้าที่นำสืบต้องตกอยู่แก่กรมศุลกากรโดยสิ้นเชิงแล้วก็จะเป็นการกล่าวที่เกินความจริงไป

อ่านความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในคดีกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากรและการริบของกลาง (เรื่องเสร็จที่ 91/2501) ฉบับเต็ม

   - ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว (เพิ่มโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2550)
    - ป.วิ.อ. มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

    ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณ ปรากฏตาม ม.169, 176, 185 ดังนี้
    1. บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นถ้ามีสิ่งอันพึงต้องริบไว้ครอบครอง (สามารถใช้กับ กม.ว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า และกม.ว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินด้วย)
    มาตรา 169 ถ้าพนักงานศุลกากรพบว่าบุคคลใดมีสิ่งอันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ในครอบครอง ให้บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้เป็นหลักฐานโดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้นเป็นความจริง และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำเข้ามาโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
    ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินด้วย
    (มาตรา 166 ของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นของที่พึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้)
    2. ของในเขตควบคุมนั้นมีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างจากที่ระบุไว้ในบัญชีโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลอันสมควร
    มาตรา 176 ภายใต้บังคับมาตรา 175 วรรคหนึ่ง อธิบดีมีอำนาจออกประกาศกำหนดประเภทหรือชนิดแห่งของที่ผู้ทำการค้าภายในเขตควบคุมศุลกากรต้องจัดให้มีบัญชีเพื่อแสดงรายละเอียดแห่งของนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจบัญชีและของที่ระบุไว้ในบัญชีตามวรรคหนึ่ง หากพบว่าของนั้นมีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างจากที่ระบุไว้ในบัญชีโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลอันสมควรได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ของที่มีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่มีไว้หรือได้มาโดยยังไม่ได้เสียอากร
    3. เรือค้าชายฝั่งมีของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือมีชนิด ประเภท ปริมาณแตกต่างจากบัญชีสินค้า
    มาตรา 185 เรือที่ทำการค้าชายฝั่งที่จะออกจากท่า ให้นายเรือทำบัญชีสินค้าแสดงรายละเอียดแห่งของในเรือยื่นต่อพนักงานศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับบัญชีสินค้าตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบปล่อยสินค้าและปล่อยเรือ
    เมื่อเรือที่ทำการค้าชายฝั่งมาถึงท่าอีกแห่งหนึ่งแล้ว ให้นายเรือแสดงใบอนุญาตปล่อยสินค้าและปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เรือนั้นมาถึงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือมาถึงเพื่อตรวจสอบของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือนั้นว่าถูกต้องตรงกับบัญชีสินค้าที่บรรทุกหรือขนส่งมาจากท่าเรือต้นทาง
    ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือมีชนิด ประเภท ปริมาณแตกต่างจากบัญชีสินค้า ให้สันนิษฐานว่าของที่มีชนิด ประเภท หรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่นำเข้าหรือส่งออกโดยยังมิได้เสียอากร
    ก่อนการขนถ่ายของขึ้นจากเรือ นายเรือต้องยื่นใบอนุญาตปล่อยสินค้าและใบปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากร เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรแล้วจึงจะทำการขนถ่ายของขึ้นได้ โดยต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เรือนั้นเดินทางไปถึง

อ่านบทความเดิมเพิ่มเติม ม.100 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หน้าที่พิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลย

ดร.สงบ สิทธิเดช
น.บ., ศศ.ม., รป.ด.
Online 2 Feb 2019


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น