วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การกระทำที่ต้องการเจตนาและการกระทำที่ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา


4. การกระทำที่ต้องการเจตนาและการกระทำที่ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

    1. การกระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
    หลักทั่วไปตามกฎหมายอาญาในเรื่องเจตนา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
    กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น”
    โดยปกติถ้าการกระทำ ที่เป็นความผิดอย่างใด กฎหมายต้องการลงโทษจากเหตุที่ กระทำโดยประมาทหรือโดยไม่มีเจตนาแล้ว กฎหมายก็จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรานั้น ๆ และกำหนดโทษเบากว่าที่ได้กระทำโดยเจตนา ทั้งนี้ยกเว้นความผิดที่เป็นลหุโทษ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติข้อยกเว้นจากการกระทำโดยเจตนาไว้โทษที่ได้รับจะเท่ากันไม่ว่าจะกระทำโดยเจตนา ดังนี้ 

    มาตรา 252 การกระทำความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 242 หรือมาตรา 244 ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
    (เดิมคือ ม.16 การกระทำที่บัญญัติไว้ใน ม.27 และ ม.99 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรพ.ศ. 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักคำนึงว่า ผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่)

    มาตรา 202 ผู้ใดยื่น จัดให้ หรือยอมให้ผู้อื่นยื่นใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูล ซึ่งเกี่ยวกับการเสียอากรหรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ อันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในรายการใด ๆ ที่ได้แสดงไว้ในใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูลดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

    มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

    มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

    2. การกระทำต้องที่ต้องกระทำโดยเจตนา
    การกระทำต้องที่ต้องการเจตนาตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ปรากฎตามบทบัญญัติในมาตราต่าง ๆ ดังนี้

    มาตรา 19 เมื่อพบว่าผู้มีหน้าที่เสียอากรไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจประเมินอากรตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
    การประเมินอากรตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการได้ภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นใบขนสินค้า เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจประเมินอากรได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีได้อีกไม่เกินสองปี
    ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานที่อธิบดีเชื่อได้ว่าผู้มีหน้าที่เสียอากรมีเจตนาในการฉ้ออากร ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจประเมินอากรได้อีกภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง

    มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

อ่านบทความเรื่อง “องค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายศุลกากร 2560: หลักการใช้กฎหมาย” (Criminal elements of customs law 2017) เพิ่มเติม



ดร.สงบ สิทธิเดช
น.บ., ศศ.ม., รป.ด.
Online 2 Feb 2019


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น