วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

1. อากรตามกฎหมายศุลกากร

1. อากรตามกฎหมายศุลกากร
     “อากร” ตามมาตรา 4 วรรค 1 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 หมายความว่า อากรศุลกากรที่จัดเก็บกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร

     “Duty” means a customs duty collected from goods imported into or exported out of the Kingdom under this Act and the law on customs tariff or other laws specifying it as a customs duty;


แยกอธิบายความหมายอากรได้ดังนี้
1.1 จัดเก็บอากรกับ “ของ” ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอก “ราชอาณาจักร”
    (1) ความแตกต่าง “ของ/สินค้า” ตามกฎหมายศุลกากรกับประมวลรัษฎากร
     “ของ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Goods” ศัพท์นิติศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2557) หมายถึง ของ, สินค้า, สิ่งของ ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 จะใช้คำว่า “ของ” คือจัดเก็บอากรกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต่างกับประมวลรัษฎากรจะใช้คำว่า “สินค้า” เช่น การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้าที่เป็นการกระทำกิจการในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 77/2 (2) แห่งประมวลรัษฎากร) อย่างไรก็ตามภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Goods” เหมือนกัน ฉะนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า
     “ของ” ตามกฎหมายศุลกากร โดยทั่วไปหมายถึง สินค้า ของหรือสิ่งของที่จับต้องได้ในลักษณะรูปธรรม (ทรัพย์สินที่มีรูปร่าง) แต่มีของบางอย่างที่จับต้องไม่ได้ที่เรียกว่า “พลังงานไฟฟ้า” ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าเนื่องจากสามารถซื้อขายได้ อย่างไรก็ตามจะจัดเก็บอากรได้หรือไม่ ต้องเป็น สินค้า ของหรือสิ่งของที่ปรากฏอยู่อยู่ใน พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เท่านั้น เช่น กรณีของพลังงานไฟฟ้า (Electrical energy) ปรากฏอยู่ตามพิกัดฯ 2716.00.00 ยกเว้นอากร เป็นต้น ส่วนพลังงานอาทิตย์ (แสงแดด) ขณะนี้มีเรียกเก็บอากรเฉพาะท่อสุญญากาศสำหรับเก็บพลังงานรังสีอาทิตย์ ตามพิกัดฯ 7020.00.40 เท่านั้น
      ต่างจาก “สินค้า” ตามประมวลรัษฎากร ได้ให้ความหมายครอบคลุมถึง ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ตาม มาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร (แก้ไขตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลราฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

      (2) ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดสามารถจัดเก็บอากรได้หรือไม่
       คำตอบ อธิบายไว้แล้วในข้อ 1.1(1) อากรศุลกากรจะจัดเก็บได้กับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากรเท่านั้น ในเมื่อกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรไม่ได้ระบุให้เก็บทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด จึงไม่สามารถจัดเก็บอากรศุลกากรได้ ประกอบกับประมวลรัษฎากรได้แก้ไขเมื่อปี 2564 ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้ สินค้า ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด     

    (3) การยื่นใบขนสินค้าและเสียอากรสำหรับพลังงานไฟฟ้า
    ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1.1(1) พลังงานไฟฟ้าถือว่าเป็นสินค้าตามพิกัดฯ 2716.00.00 ยกเว้นอากร การนำเข้าได้กำหนดพิธีการยื่นใบขนสินค้าไว้โดยเฉพาะ ดังนี้
    ปรากฏอยู่ใน กฎกระทรวงกำหนดการยื่นใบขนสินค้าและการเสียอากรสำหรับก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 ดังนี้
    ข้อ 4 การยื่นใบขนสินค้าและการเสียอากร สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     (1) ให้เจ้าของพลังงานไฟฟ้าจัดทำรายงานการนำเข้าและบัญชีสินค้าตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนดเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แล้วยื่นรายงานการนำเข้าและข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าเป็นรายเดือนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร และปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่นำของเข้า
     (2) การยื่นใบขนสินค้าขาเข้า อย่างน้อยต้องมีเอกสาร ดังต่อไปนี้
          (ก) บัญชีสินค้า
          (ข) บัญชีราคาสินค้า
          (ค) ข้อมูลยืนยันปริมาณและมูลค่าพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ารายเดือน
      (3) การตรวจวัดปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้า ให้ใช้วิธีการตรวจวัดหรือคำนวณโดยใช้ค่าที่อ่านได้จากมิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้ง ณ ประเทศผู้ส่งออกหรือประเทศผู้นำเข้า
       (ประกาศกรมศุลกากรที่ 134/2561 ข้อ 13(2) ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561)

    (4) กฎหมายอื่น ๆ ที่ควบคุมทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง
        (4.1) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559
        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
        “ทรัพย์สิน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์ หรือวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้รวมทั้งดอกผลของเงิน ทรัพย์ หรือวัตถุดังกล่าว เอกสารทางกฎหมาย หรือตราสารในรูปแบบใด ๆ ทั้งที่ปรากฏในสื่ออื่นใด กระดาษ หรือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิเรียกร้อง หรือประโยชน์อื่นใดในทรัพย์สินนั้น
        (4.2) พ.ร.บ. การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทาลายล้างสูง พ.ศ. 2562
         มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
         “สินค้า” หมายความว่า สิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ตลอดจนภาชนะบรรจุสิ่งนั้นและหีบห่อของภาชนะบรรจุสิ่งนั้น และให้หมายความรวมถึงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ด้วย

       (5) ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรต้องเสียอากรหรือไม่
        คำตอบ ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เช่น เรือ รถยนต์ เครื่องบินที่ใช้ขนส่งของ/สินค้าระหว่างประเทศ หากมีสภาพในขณะที่นำเข้า/ส่งออกเป็นของ/สินค้าย่อมที่จะต้องเสียอากรตามทีระบุไว้ใน พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 แต่หากในขณะที่นำเข้า/ส่งออกไม่มีสภาพเป็นของ/สินค้าเป็นแต่เพียงยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งของระหว่างประเทศก็ย่อมที่จะไม่ต้องเสียอากร ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้กำหนดพิธีการสำหรับยานพาหนะที่ใช้ขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแยกไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนี้
        “มาตรา 64 เรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่เรือของทางราชการ ให้นายเรือมีหน้าที่ทำรายงานเรือเข้าและยื่นบัญชีสินค้าสำ หรับเรือและแสดงใบทะเบียนเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
         มาตรา 71 เรือลำใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากท่าที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่เรือของทางราชการจะต้องได้รับใบปล่อยเรือขาออก โดยให้นายเรือมีหน้าที่ทำรายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
        มาตรา 88 ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
       (1) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดจำนวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านพรมแดนมายังด่านศุลกากรได้
       มาตรา 89 ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
       (1) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจำด่านศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดจำนวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจำด่านศุลกากรตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านศุลกากรมายังด่านพรมแดนได้
        มาตรา 94 เมื่ออากาศยานลำใดเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการให้ผู้ควบคุมอากาศยานทำรายงานอากาศยาน พร้อมทั้งยื่นบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจำสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
        มาตรา 96 อากาศยานลำใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่อากาศยานของทางราชการ จะต้องได้รับใบปล่อยอากาศยาน โดยให้ผู้ควบคุมอากาศยานมีหน้าที่ทำรายงานอากาศยานและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจำสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ”


    (6) อากรศุลกากรจะจัดเก็บได้ก็ต่อเมื่อมีการนำของเข้าหรือส่งออกสำเร็จ
      เนื่องจากราชอาณาจักรหมายถึงอาณาเขตของประเทศไทยหรือดินแดนของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยไปด้วยอาณาเขตทางบก อาณาเขตทางทะเล (12 ไมล์ทะเล) และอาณาเขตทางอากาศ เมื่อจะกำหนดเวลาว่าภาระอากรศุลกากรที่จะจัดเก็บกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรที่จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นจึงเป็นการยาก พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามตรา 50 กำหนดให้การนำของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสำเร็จใน 4 ช่องทางไว้ดังนี้
      มาตรา 50 การนำของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสำเร็จ ในกรณีดังต่อไปนี้
      (1) การนำของเข้าทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ส่วนการส่งของออกทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตท่าท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
     (2) การนำของเข้าทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาถึงเขตด่านพรมแดน ส่วนการส่งของออกทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตด่านพรมแดนเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (3) การนำของเข้าทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่นำของเข้ามานั้นได้ถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ส่วนการส่งของออกทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (4) การนำของเข้าทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้เปิดถุงไปรษณีย์ ส่วนการส่งของออกทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้ปิดถุงไปรษณีย์และได้ดำเนินการส่งออกตาม (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    ประกอบกับมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ว่าด้วยหลักในการเสียภาษี กล่าวคือความรับผิดในอันจะต้องเสียอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จหรือส่งของออกสำเร็จ ดังนี้
    “มาตรา 13 การนำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้เรียกเก็บอากรจากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
     ความรับผิดในอันจะต้องเสียอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จหรือส่งของออกสำเร็จตามมาตรา 50
    ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีหน้าที่เสียอากรเมื่อได้ยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรและพนักงานศุลกากรได้รับและออกเลขที่ใบขนสินค้าแล้ว”

1.2 ตามพระราชบัญญัตินี้
     ตามพระราชบัญญัตินี้หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีต
ามกฎหมายอื่น (ฎีกาที่ 1470/2551) ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 นี้ เช่น การจัดเก็บอากร ตามหมวดที่ 2 อันประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การเสียอากร (ม.13-18) ส่วนที่ 2 การประเมินอากร (ม.19-24) ส่วนที่ 3 การคืนอากร (ม.25-31) และส่วนที่ 4 การวินิจฉัยอากรและการอุทธรณ์การประเมินอากร (ม.32-49) เป็นต้น
     ฎีกาที่ 14750/2551 คำว่า “อากร” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีตามกฎหมายอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยโดยนำภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมคำนวณค่าปรับ เป็นการลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
    ฎีกาที่ 2481/2555 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน การที่ศาลลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นการปรับจำเลยทั้งห้าสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
     หมายเหตุ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก็ดี หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ”
      พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๔๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ”

    (1) เงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้ถือเป็นเงินอากร
    มาตรา 22 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 “ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วน ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรจนถึงวันที่นำเงินมาชำระเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม
    ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่เสียอากรภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรตามมาตรา ๒๐ ให้เสียเบี้ยปรับร้อยละยี่สิบของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม
    เงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้ถือเป็นเงินอากร
    เงินเพิ่มอาจลดลงได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับเบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี”
    (2) ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนในกรณีคืนอากรหรือเงินประกันให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืน
    มาตรา 27 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 “ในกรณีที่ต้องคืนอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้คืนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละศูนย์จุดหกสองห้าต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน
    ในกรณีที่ได้เปลี่ยนการวางประกันอย่างอื่นเป็นการวางเงินประกันภายหลังจากที่ได้นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คำนวณดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินประกันที่ต้องคืนนับแต่วันที่วางเงินประกันครั้งสุดท้ายแทนการวางประกันจนถึงวันที่อนุมัติให้จ่ายคืน
    ดอกเบี้ยที่จ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้เกินจำนวนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรที่ต้องคืน
    ในการคำนวณดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืน”

1.3 ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร 
   ได้แก่ พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (18 มาตรา) โดยเฉพาะ มาตรา 4 กำหนดให้ “ของที่นำเข้ามาหรือพาเข้ามาในหรือส่งหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดนี้ หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้” แยกอธิบายข้อความได้ดังนี้
   “พิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดนี้” ประกอบไปด้วย 4 ภาค ได้แก่ ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร (6 ข้อ) ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า (21 หมวด 97 ตอน 97 ประเภท) ภาค 3 พิกัดอัตราอากรขาออก (9 ประเภท) และภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากร (19 ประเภท)
   “หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้” เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560
     “มาตรา 12 เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศหรือเพื่อความผาสุกของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศลดอัตราอากรสำหรับของใด ๆ จากอัตราที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากร หรือยกเว้นอากรสำหรับของใด ๆ หรือเรียกเก็บอากรพิเศษเพิ่มขึ้นสำหรับของใด ๆ ไม่เกินร้อยละห้าสิบของอัตราอากรที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับของนั้น ทั้งนี้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้”

1.4 ตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร
    ตัวอย่างกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร เช่น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลทุน พ.ศ. 2520 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าเป็นเสมือนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ดังนี้
    พ.ร.บ. ส่งเสริมการลทุน พ.ศ. 2520
    “มาตรา 49 ในกรณีที่จำเป็นเพื่อให้ความคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริม คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือทดแทนกันได้กับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบในอัตราที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของราคารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งนอกประเทศของผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้น
     การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่คราวละไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
      คณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศตามมาตรานี้ในเวลาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร
       ในกรณีที่มีปัญหาว่าผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลใดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการหรือไม่ ให้คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
      การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าตามมาตรานี้ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าเป็นเสมือนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
      ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษและผู้ใดได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับของนั้นแล้ว ก็ให้กรมศุลกากรคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่ผู้นั้น”

หมายเหตุดูแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในข้อ 4.2 ท้าย

      นอกจาก “อากร” ที่กรมศุลกากร ต้องจัดเก็บอากรตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 แล้ว ยังมีภาษีที่ต้องจัดเก็บให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2560 และภาษีเพื่อมหาดไทย ตามพระราชกฤษฎีกาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2527 มาตรา 3 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เสียภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในอัตราร้อยละสิบของภาษี

2. ราชอาณาจักรตามกฎหมายศุลกากร
2.1 ราชอาณาจักร (The Kingdom)
    จากความหมายของอากร หมายความว่า อากรศุลกากรที่จัดเก็บกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอก “ราชอาณาจักร” ตามพระราชบัญญัตินี้นั้น คำว่า “ราชอาณาจักร” (The Kingdom) ได้เคยมีแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 28/2525 มกราคม 2525) ไว้ดังนี้ กฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้ให้คำนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ว่ามีความหมายเพียงใด แต่มีนิยามที่อ้างถึง “ราชอาณาจักร” ไว้หลายแห่งด้วยกัน เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 บัญญัติว่า คำว่า “ท่าต่างประเทศ” “ภาคต่างประเทศ” หรือ “เมืองต่างประเทศ” หมายความว่า ที่ใด ๆ นอกพระราชอาณาจักรสยาม
    นอกจากนี้พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 4 วรรคแรกบัญญัติว่า “ของที่นำหรือพาเข้ามาในหรือส่งหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรแนบท้ายพระราชกำหนดนี้”
     การที่กฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้นิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ก็เป็นเพราะว่าเป็นที่เข้าใจได้อยู่ในตัวแล้วว่า “ราชอาณาจักร” หมายถึงอาณาเขตของประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น อาณาเขตหรือดินแดนของรัฐ ได้แก่
    (1) อาณาเขตภาคพื้นดิน ตลอดจนพื้นน้ำที่อยู่ภายในพื้นดินด้วย
    (2) อาณาเขตทางทะเลที่ประชิดติดชายฝั่งภาคพื้นดิน อันได้แก่ น่านน้ำภายใน (Internal water) และทะเลอาณาเขต (Territorial sea)
    (3) ห้วงอากาศที่อยู่เหนือ (1) และ (2)
     ฉะนั้น ราชอาณาจักรจึงประกอบไปด้วยไปด้วยอาณาเขตทางบก อาณาเขตทางทะเลและอาณาเขตทางอากาศ การที่จะรู้ว่าดินแดนส่วนใดอยู่นอกอาณาเขต จะต้องอาศัยการปักปันเขตแดนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนี้
     1) อาณาเขตทางบก การปักปันเขตแดนทางบกเกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างรัฐข้างเคียงให้มีเครื่องหมายกำหนดไว้โดยแจ้งชัด เช่น หลักหรือหมุดบอกอาณาเขตของดินแดนรัฐข้างเคียง
      หมายเหตุ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 2 วรรค 10 “เขตแดนทางบก” หมายความว่า เขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรกับดินแดนต่างประเทศและให้หมายความรวมถึงทางน้ำใด ๆ ที่เป็นเขตแดนแห่งราชอาณาจักรหรือตอนหนึ่งแห่งเขตแดนนั้น
     2) อาณาเขตทางอากาศ เหนือเขตแดนทางบกและทางทะเล
     3) อาณาเขตทางทะเล กฎหมายศุลการฉบับปี พ.ศ. 2469 มีใช้คำว่า “เขตน่านน้ำสยาม” ตามมาตรา 5 “อธิบดีจะตั้งด่านตรวจเรือกำปั่นเข้าและออก และจะวางพนักงานไว้ในเรือกำปั่นลำใด ๆ ในเวลาที่เรือนั้นอยู่ในเขตน่านน้ำสยามก็ได้” แต่มิได้ให้นิยามศัพท์ไว้ มีแต่ในฉบับที่ 8 พ.ศ. 2480 ได้นิยามว่า "เขตน่านน้ำสยาม" ให้หมายความรวมถึง เขตแห่งราชอาณาจักร และอากาศเหนือราชอาณาจักร (พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 163 ใช้ข้อความว่า “เขตน่านน้ำไทย”)
      ประเทศไทยได้ประกาศใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2512 รวม 4 ฉบับคือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง (3) อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง (4) อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2511 เป็นต้นไป

2.2 ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) 
      ตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (Convention on the Territorial Sea and the Contiguous Zone) ที่ทำขึ้น ณ กรุงเจนีวา ใน ค.ศ. 1958 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1 (1) ว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐนอกจากขยายต่อออกไปจากอาณาเขตพื้นดินและน่านน้ำภายในแล้วยังรวมถึงพื้นน้ำส่วนที่เป็นแนวทะเลประชิดชายฝั่งของตนที่เรียกว่าทะเลอาณาเขตอีกด้วย และบัญญัติไว้ในมาตรา 1 (2) ว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐขยายไปถึงห้วงอากาศเหนือทะเลอาณาเขตตลอดจนพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินของทะเลอาณาเขตด้วย
    หมายเหตุ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎหมายทะเลได้รับความสนใจและมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว องค์การสหประชาชาติ ได้จัดให้มีการประชุม 3 ครั้ง ครั้งที่1 ค.ศ.1958 ได้ยอมรับอนุสัญญา 4 ฉบับ เรียกว่า “อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 ได้แก่ (1) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง (3) อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป และ(4) อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง ครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ.1960 เพื่อหาข้อยุติของความกว้างของทะเลอาณาเขต และครั้งที่ 3 ค.ศ.1973-1982 ยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982
     อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องปี ค.ศ. 1958 มิได้กำหนดถึงความกว้างของทะเลอาณาเขตไว้ แต่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี ค.ศ. 1982 ได้กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตว่าต้องไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐาน (Baselines) ซึ่งรัฐชายฝั่งเป็นผู้กำหนดตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยได้ประกาศกำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตไว้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2509 “กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตประเทศไทยเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐาน ที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต”
      หมายเหตุ เส้นฐานจำแนกได้ 3 ประเภท คือเส้นฐานปกติ (normal baselines) ได้แก่แนวน้ำลดตลอดชายฝั่งทะเลตามที่รัฐชายฝั่งกำหนดไว้ในแผนที่ของตน เส้นฐานตรง (straight baselines) และเส้นฐานหมู่เกาะ (straight archipelagic baselines) (จุมพล สายสุนทร, 2536 : 19-37)

      พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในทะเลอาณาเขต ได้มีกำหนดไว้ตาม มาตรา 20 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2548 ดังนี้ “ในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นในทะเลอาณาเขตเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จับผู้ต้องหาและส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ใด ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในกรณีนี้ มิให้นับระยะเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” (พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 174)

2.3 เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) 
     ในความหมายตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ อาณาเขตของทะเลหลวงซึ่งอยู่ภายนอกแต่ติดต่อกับทะเลอาณาเขต ซึ่งรัฐชายฝั่งที่เป็นเจ้าของมีสิทธิพิเศษบางประการในการควบคุมและป้องกันเกี่ยวกับศุลกากร (Customs) รัษฎากร (Fiscal) การเข้าเมือง (Immigration) หรือการสุขาภิบาล (Sanitation) แต่ว่ารัฐชายฝั่งนั้นไม่มีอำนาจเด็ดขาดในเขตต่อเนื่องดังเช่นในทะเลอาณาเขตของตน ทั้งนี้ตามข้อ 24 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ค.ศ. 1958 นอกจากนี้ข้อ 24 วรรค 2 ยังกำหนดให้ “เขตต่อเนื่องมิอาจจะขยายเกินกว่า 12 ไมล์นับจากเส้นฐานซึ่งวัดความกว้างของทะเลอาณาเขต” แต่ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (ข้อ 33) เขตต่อเนื่องมีความกว้างไม่เกิน 24 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1982 (2525) [จุมพล สายสุนทร (2536 : 67) และสุวพจน์ นิลายน ( 2538 : 109)]
     หมายเหตุ ข้อ 24 เขตต่อเนื่อง 1.ในเขตทะเลหลวงซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของตน รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมตามที่จำเป็นเพื่อ (ก) ป้องกันการละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากร รัษฎากร การเข้าเมือง หรือการอนามัย ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน (ข) ลงโทษการละเมิดข้อบังคับข้างต้นซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขต หรือทะเลอาณาเขตของตน 2.เขตต่อเนื่องมิอาจจะขยายเกินกว่า 12 ไมล์นับจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (มัลลิกา พินิจจันทร์, 2532 : 22)
     ข้อ 33. เขตต่อเนื่อง 1. ในเขตที่ต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของตนซึ่งเรียกว่าเขตต่อเนื่อง รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็น เพื่อ (เอ.) ป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมืองหรือการสุขาภิบาล ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน (บี.) ลงโทษการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน 2.เขตต่อเนื่องมิอาจขยายเกินกว่า 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งวัดความกว้างของทะเลอาณาเขต
 
     สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเขตต่อเนื่อง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่15) พ.ศ. 2540 เพิ่มเติม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469 เป็นหมวด 4 ทวิ กำหนดอำนาจทางศุลกากรในเขตต่อเนื่องไว้ ตามมาตรา 37 ทวิ – เบญจ (พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ตามมาตรา หมวด 8 ส่วนที่ 4 เขตต่อเนื่อง มาตรา 188 – 191) ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดย พ.รบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกำหนดใหม่เป็นหมวด 8 อำนาจทางศุลกากรในพื้นที่เฉพาะ ส่วนที่ 4 เขตต่อเนื่อง (ม.188-191)

    คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง
     ฎีกาที่ 5445/2552 บริเวณทะเลจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีอำนาจ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่จะป้องกันมิให้มีการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรได้ ประเทศไทยได้ประกาศเขตอำนาจในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจตรวจค้นเรือใดๆ ที่สงสัยว่าจะละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดต่อกฎหมายและระเบียบดังกล่าวในทะเลซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องได้ การจับกุมจำเลยกับพวกจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2538 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว
     จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่ เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือ ย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรเพราะเรือที่รับช่วง น้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขต ซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายามต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27

     ฎีกาที่ 5445/2552 แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดซึ่งถือเสมือนเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469

2.4 เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) 
      เป็นแนวความคิดตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลแนวใหม่และเป็นที่ยอมรับกันโดยนานาอารยประเทศทั่วไปแล้ว หมายถึงน่านน้ำส่วนที่ต่อออกไปจากทะเลอาณาเขตโดยวัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตออกไปเป็นระยะ 200 ไมล์ทะเล ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้นรัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ในอันที่จะสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต บนพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินท้องทะเล และในห้วงน้ำเหนือขึ้นไป สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 กำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยไว้แล้วเช่นกัน
      หมายเหตุ ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย เพื่อความมุ่งประสงค์ในการใช้สิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยในการแสวงประโยชน์ และอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในทะเล จึงเห็นสมควรประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้
      1) เขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย ได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย มีความกว้าง 200 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต
      2) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนี้ ราชอาณาจักรไทยมี
           (ก) สิทธิอธิปไตยในอันที่จะสำรวจและแสวงหาประโยชน์ อนุรักษ์และจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต บนพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินท้องทะเล และในห้วงน้ำเหนือขึ้นไป สิทธิอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการสำรวจและแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเขตดังกล่าว อาทิ การผลิตพลังงานจากน้ำ กระแสน้ำ และกระแสลม
          (ข) เขตอำนาจเกี่ยวกับ (1) การสร้างและการใช้เกาะเทียม สิ่งติดตั้งและโครงสร้างต่างๆ (2) การสำรวจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล (3) การรักษาสภาวะแวดล้อมทางทะเล
          (ค) สิทธิอื่นใดซึ่งมีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
      3) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนี้ เสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่าน และในการวางสายเคเบิ้ลและท่อใต้น้ำ ให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
      4) ในกรณีที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยอยู่ประชิดหรือตรงข้ามกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยพร้อมที่จะเจรจากับรัฐชายฝั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างกันต่อไป
      ประกาศ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เป็นปีที่ 36 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี

2.5 ทะเลหลวง (High Seas) 
     อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ.1958 ตามข้อ 1 หมายถึงส่วนทั้งหมดของทะเลซึ่งไม่รวมอยู่ในทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) หรือในน่านน้ำภายใน (Internal Waters) ภายในรัฐ และตามข้อ 2 ในทะเลหลวงนั้นรัฐทุกรัฐจะมีเสรีภาพในการที่จะใช้ประโยชน์จากทะเลร่วมกัน 4 ประการ คือเสรีภาพในการเดินเรือ เสรีภาพในการประมง เสรีภาพที่จะวางสายและท่อใต้ทะเล เสรีภาพที่จะบินเหนือทะเลหลวง ซึ่งต่อมาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1982 ข้อ 87(1) ได้เพิ่มอีก 2 ประการคือ เสรีภาพในการสร้างเกาะเทียมและสิ่งติดตั้งอื่น ๆ และเสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

2.6 การไล่ติดตามเรือต่างชาติในทะเลหลวง (ตามข้อ 23) 
     ในกรณีที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นภายในเขตอำนาจหรือเขตสิทธิอธิปไตยของรัฐชายฝั่ง และผู้กระทำความผิดไม่ยอมให้มีการจับกุมแต่ได้มีการหลบหนีออกไปในทะเลหลวง กรณีนี้รัฐชายฝั่งมีสิทธิที่จะไล่ติดตามต่อไป ซึ่งการใช้สิทธิไล่ติดตามดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดต่อรัฐชายฝั่ง เช่น มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายในทะเลอาณาเขต มีการลักลอบขนถ่ายสินค้าหนีภาษีเกิดขึ้นในเขตต่อเนื่อง มีการลักลอบทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (2) การใช้สิทธิไล่ติดตามผู้กระทำความผิดนั้นรัฐชายฝั่งจะต้องกระทำโดยทันที และ (3) การไล่ติดตามนั้นจะต้องกระทำโดยต่อเนื่อง อนึ่งการไล่ติดตามจะสิ้นสุดลงก็ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ การไล่ติดตามไม่ได้กระทำโดยต่อเนื่อง หรือผู้กระทำความผิดได้หลบหนีไปยังทะเลอาณาเขตของรัฐที่สามหรือทะเลอาณาเขตของรัฐผู้กระทำความผิด

หมายเหตุ อาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากฐานข้อมูลความรู้ทางทะเลhttp://www.mkh.in.th/

ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 มี.ค. 2564
แก้ไขครั้งที่ 1- 24 เม.ย. 64
แก้ไขครั้งที่ 2- 06 มิ.ย. 64


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น