วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

คำอธิบายผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก ตาม ม.4 ว.2-3

 1. ผู้นำของเข้า (Importer) และ "ผู้ส่งของออก" (Exporter) ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

มาตรา 4 วรรค 2 และวรรค 3 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ 

ผู้นำของเข้า ให้หมายความรวมถึง เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร

“Importer” shall include an owner, a possessor or an interested person in any goods as from the time of the importation until the time a customs officer duly releases such goods from his custody;


                       ผู้ส่งของออก ให้หมายความรวมถึง เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในอารักขาของพนักงานศุลกากรจนถึงเวลาที่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

“Exporter” shall include an owner, a possessor or an interested person in any goods as from the time such goods are delivered to a customs officer’s custody until the time of exportation;

หมายเหตุ ความเดิมตาม มาตรา 2 วรรคสิบเอ็ด พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของ หรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครอง หรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกัน โดยอนุโลม

บทบัญญัติ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 25460 ที่กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับผู้นำของเข้าและผู้ส่งของออก จะกำหนดไว้หมวด 3 ว่าด้วยการนำของเข้าและส่งของออก (ม.50 - 63) ตัวอย่างเช่น

“มาตรา 51  ก่อนที่จะนำของใดไปจากอารักขาของศุลกากรหรือก่อนที่จะส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียอากรจนครบถ้วนหรือวางประกันไว้

                      มาตรา 52 เมื่อนำของเข้ามาในหรือจะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
                     (1) ชนิดแห่งของ
                     (2) ปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพแห่งของ
                     (3) ราคาศุลกากร
                     (4) ประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทาง”

คำว่า ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก” ตามคำนิยามศัพท์ ในมาตรา 4 วรรค 2 และวรรค 3 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ให้หมายความรวมถึง บุคคลต่าง ๆ สามจำพวก ได้แก่ (1) เจ้าของ (2) ผู้ครอบครอง และ (3) ผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด  นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร (สำหรับการนำของเข้า) หรือนับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในอารักขาของพนักงานศุลกากรจนถึงเวลาที่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (สำหรับการส่งของเข้า) แยกอธิบายได้ดังนี้

1.1 เจ้าของ (Any Owner)

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (Online) หมายถึง ผู้มีกรรมสิทธ์ในทรัพย์สิน หรือผู้มีสิทธิครอบครอง ใช้สอย เก็บผลประโยชน์และจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ทรัพย์สินในทางศุลกากรก็คงจะหมายถึงทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจับต้องได้ (รูปธรรม) เคลื่อนย้ายได้หรือซื้อขายได้ ทั้งนี้ เนื่องจากต้องเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เท่านั้น ถึงจะสามารถจัดเก็บอากรศุลกากรได้ ส่วนทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (นามธรรม) เช่น เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ เป็นต้น ปัจจุบันได้มี พ.ร.บ. การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 ควบคุมการส่งออกแล้ว (มาตรา 4 สินค้า หมายความว่า สิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ตลอดจนภาชนะบรรจุสิ่งนั้นและหีบห่อของภาชนะบรรจุสิ่งนั้น และให้หมายความรวมถึงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ด้วย)

ในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน (ป.พ.พ. มาตรา 458)   ส่วนสิทธิครอบครองเพียงแต่ยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน บุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1367)  ฉะนั้น เจ้าของในที่นี้จึงหมายถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยแท้จริง ในทางการขนส่งสินค้าจะเรียกว่า “ผู้รับสินค้า (Consignee Name or Notify Party Name)”  ซึ่งจะมีเอกสารหลักฐานสำคัญที่แสดงความเป็นเจ้าของ เช่น  ใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of Lading) หรือทางอากาศยาน (Air Waybill) เป็นต้น สำหรับ “ใบตราส่ง” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทะเล พ.ศ. 2534  หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล แสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง

กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมฯ ที่ 10/2561 เรื่องการตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าขาเข้ากับข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า กำหนดให้การสำแดงข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ใช้ชื่อผู้นำของเข้าภาษาอังกฤษในฐานทะเบียนผู้ผ่านพิธีการหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร ตรวจสอบกับ “ชื่อผู้รับสินค้า (Consignee Name or Notify Party Name)” ตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือ หรือบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยาน หรือบัญชีสินค้าแสดงรายการของที่ขนส่งทางบก (ศบ.1) ในการผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อกำหนดเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า

เจ้าของอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  ในอดีตเป็นการผ่านพิธีการศุลกากรด้วยเอกสารโดยการจัดพิมพ์ใบขนสินค้าแล้วนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่พร้อมเอกสารประกอบต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกเลขที่ใบขนสินค้าให้ ซึ่งกรมศุลกากรได้กำหนดระเบียบในการลงลายมือชื่อในใบขนสินค้าขาเข้าว่า ผู้นำของเข้าจะต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ถ้าจะตั้งตัวแทนให้ลงลายมือชื่อแทนตน ต้องทำเป็นหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์โดยถูกต้อง การลงลายมือชื่อในใบขนสินค้าฯ ถ้าผู้นำของเข้าเป็นบริษัทจำกัดให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ถ้าผู้นำของเข้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนให้หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ถ้าผู้นำของเข้าเป็นบุคคลธรรมดาให้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง แต่หากผู้นำเข้าเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่ได้รับเอกสิทธิทางการทูต ก็จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของหน่วยงานนั้นเป็นผู้มาติดต่อขอผ่านพิธีการศุลกากรด้วยตนเอง

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 กรมศุลกากรเริ่มนำระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) ด้วยการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าและขาออกด้วยระบบดังกล่าว และได้พัฒนามาเป็นระบบไร้เอกสารเมื่อปี 2549 ตามประกาศกรมฯ ที่ 116/2549  จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้ใช้ระบบไร้เอกสารเต็มรูปแบบทำให้ “การลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร” จะต้องดำเนินการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ตามประกาศกรมฯ ที่ 20/2550 ปัจจุบันได้แก้ไขเป็นประกาศกรมฯ ที่ 64/2561 เรื่อง “การลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือการดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร”

                ข้อปฏิบัติในการยื่นแบบคำขอ และ วิธีการกรอกแบบคำขอเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร (แนบท้ายประกาศกรมฯ ที่ 64/2561)
                 1. เอกสารแสดงตนของผู้มีอำนาจลงนาม ที่ต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
                      1.1 กรณีผู้มีอำนาจลงนามเป็นคนไทย
                           1.1.1 บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือ
                        1.1.2 บัตรแสดงตนตัวจริงอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการออกให้ โดยจะต้องมีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนปรากฏอยู่
                        1.1.3 กรณีไม่สามารถนำเอกสารตามข้อ 1.1.1 หรือ 1.1.2 มาแสดงได้ ให้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่มีทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร (Notarial Services Attorney) เป็นผู้ลงนามรับรอง และออกให้ไม่เกินหนึ่งเดือน พร้อมแนบสำเนาหนังสือรับรอง (Certificate) การขึ้นทะเบียนเป็นทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้อง โดยทนายความเจ้าของหนังสือรับรองนั้น
               หมายเหตุ กรณีผู้มีอำนาจลงนามมีมากกว่าหนึ่งคน ให้นำบัตรตามข้อ 1.1.1 หรือ 1.1.2 หรือเอกสาร ตามข้อ 1.1.3 แล้วแต่กรณี ของผู้มีอำนาจลงนามทุกคน เป็นรายบุคคล มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
                   1.2 กรณีผู้มีอำนาจลงนามเป็นชาวต่างชาติ
                        1.2.1 หนังสือเดินทาง (Passport) ตัวจริง หรือ
                        1.2.2 ใบสำคัญประจาตัวคนต่างด้าวตัวจริง
                        1.2.3 กรณีไม่สามารถนำเอกสารตามข้อ 1.2.1 หรือ 1.2.2 มาแสดงได้ และชาวต่างชาติผู้มีอำนาจลงนามอยู่ต่างประเทศ ให้ใช้หนังสือรับรองหนังสือเดินทางซึ่งมี Notary Public ที่เชื่อถือได้ หรือสถานทูตตามสัญชาติของบุคคลนั้น เป็นผู้รับรอง และออกให้ไม่เกินหกเดือน
                       1.2.4 กรณีไม่สามารถนำเอกสารตามข้อ 1.2.1 หรือ 1.2.2 มาแสดงได้ และชาวต่างชาติผู้มีอำนาจลงนามอยู่ในประเทศไทย ให้ใช้เอกสารตามข้อ 1.2.3 หรือสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร (Notarial Services Attorney) เป็นผู้ลงนามรับรอง และออกให้ไม่เกินหนึ่งเดือน พร้อมแนบสำเนาหนังสือรับรอง (Certificate) การขึ้นทะเบียนเป็นทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องโดยทนายความเจ้าของหนังสือรับรองนั้น
                   หมายเหตุ กรณีผู้มีอำนาจลงนามมีมากกว่าหนึ่งคน ให้นำเอกสารตัวจริงตามข้อ 1.2.1 หรือ 1.2.2 หรือ 1.2.3 หรือ 1.2.4 แล้วแต่กรณี ของผู้มีอำนาจลงนามทุกคน เป็นรายบุคคล มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
             2. การมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นแบบคำขอกับกรมศุลกากร
             กรณีผู้มีอำนาจลงนามประสงค์จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นแบบคำขอ ขอให้ใช้หนังสือมอบอำนาจจากเว็บไซต์ของกรมศุลกากร (http://www.customs.go.th) ในหัวข้อผู้ประกอบการ -> การลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนาเข้า/ส่งออก -> หนังสือมอบอำนาจ


                    1.2 ผู้ครอบครอง
(Other person for the time being possessed of)

การครอบครองในที่นี้น่าจะหมายถึงการครอบครองเป็นการชั่วคราวแทนเจ้าของในขณะที่นำของเข้ามาหรือส่งออกไปนั้น เช่น ในลักษณะของการรับฝากของนำติดตัว (Hand Carry) เข้ามาหรือออกไป   โดยที่บุคคลผู้ครอบครองของนั้นไม่ใช่เจ้าของสินค้าที่แท้จริง เป็นต้น กรณีเช่นนี้ ทางศุลกากรก็จะถือว่าผู้ที่ครอบครองของเข้ามานั้น   เป็นผู้นำของเข้าที่จะต้องมีหน้าที่เสียค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามานั้นทันที   แต่ทั้งนี้ ผู้ที่นำของเข้ามานั้นจะร้องขอให้เสียค่าภาษีอากรในนามเจ้าของที่แท้จริงก็ได้ โดยจะต้องแสดงหลักฐานประกอบด้วย

1.3 ผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด   (Or beneficially interested in any goods)

 นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร (สำหรับการนำของเข้า) หรือนับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในอารักขาของพนักงานศุลกากรจนถึงเวลาที่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (สำหรับการส่งของเข้า)

บุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่ง ในที่นี้น่าจะหมายถึง นอกจากบุคคลตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แล้ว ยังรวมถึงตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของสินค้านั้น ๆ ตามความนัยมาตรา 99 - 101 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้

“มาตรา 99  บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้นำของผ่านแดนหรือผู้ขอถ่ายลำ ให้เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการอย่างใด ๆ เกี่ยวกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ของเพื่อการผ่านแดน หรือของเพื่อการถ่ายลำ หรือกิจการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนตามวรรคหนึ่ง เป็นเจ้าของของที่ได้นำเข้า ส่งออกผ่านแดนหรือถ่ายลำด้วย

มาตรา 100  บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ควบคุมยานพาหนะให้เป็นตัวแทนเพื่อกระทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 101  ตัวแทนที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 99 หรือมาตรา 100 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่ตัวแทนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนการอนุญาตของตัวแทนดังกล่าว โดยไม่ตัดสิทธิที่จะบังคับหลักประกันที่ตัวแทนให้ไว้ตามจำนวนที่เห็นสมควรและไม่ทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น”

- ตัวอย่างฎีกาที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้า

ฎีกาที่ 5654/2560 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า

2. ผู้นำเข้า และ "ผู้ส่งออก" ตามประมวลรัษฎากร 

ตามประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มได้ให้คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

มาตรา ๗๗  ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมิน

มาตรา ๗๗/๑  ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(๙) “สินค้าหมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด

(๑๑) ผู้นำเข้าหมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า

(๑๒) นำเข้าหมายความว่า นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงการนำสินค้าที่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออกด้วย

(๑๓) ผู้ส่งออกหมายความว่า ผู้ประกอบการซึ่งส่งออก

(๑๔) ส่งออกหมายความว่า ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ และให้หมายความรวมถึง

(ก) การนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออกหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(ข) การขายสินค้าของคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ขายให้แก่ผู้ที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

โดยสรุป ถ้าเป็นกฎหมายศุลกากรจะใช้ถ้อยคำว่า “ผู้นำของเข้า” หรือ “ผู้ส่งของออก” แต่ถ้าเป็นกฎหมายของสรรพากรจะใช้ถ้อยคำว่า “ผู้นำเข้า” หรือ “ผู้ส่งออก” ทั้งนี้เนื่องจากความหมายของแต่ละถ้อยคำจะแตกต่างกันไป ย่อมแล้วแต่วัตถุประสงค์ในการเสียภาษีอากรของแต่ละกฎหมายนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าตามประมวลรัษฎากรจะหมายถึงผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ถ้อยคำว่า “บุคคลอื่นซึ่งนำเข้า” น่าจะหมายถึงผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร ตามคำจำกัดความของ “ผู้นำของเข้า” แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 นั่นเอง

3. คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวข้องกับผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 ก.พ. 2564
แก้ไข 24 เม.ย. 2564

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น