วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

1. ประวัติความเป็นมาของกฎหมายศุลกากร

ม.1-1. ประวัติความเป็นมาของกฎหมายศุลกากร

1. ประวัติความเป็นมาของกฎหมายศุลกากร
    คำว่า “ศุลกากร” นั้น ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง “อากรที่เรียกเก็บจากสินค้าเข้าและสินค้าออก ได้แก่ อากรขาเข้าและอากรขาออก” แต่จะเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อไรนั้น ปรากฏหลักฐานตามตำนานกรมศุลกากรของพระยาอนุมานราชธน (2494, หน้า 42) ได้บันทึกไว้ว่า “ได้ความว่าคำว่าศุลกากรนั้น เจ้าพระยาภาศกรวงศ์เป็นผู้คิดขึ้นเพื่อหาตรงกับคำว่า Customs ในภาษาอังกฤษ คำว่าศุลกากรจะประกาศใช้ขึ้นเมื่อใด ค้นหาหลักฐานอะไรไม่ได้เข้าใจว่าจะไม่ได้ประกาศใช้เป็นทางราชการโดยตรงเพราะในหนังสือราชการสมัยนั้น ลางฉบับก็ใช้เป็นกรมศุลกสถานก็มี เช่น เมื่อจุลศักราช 1250[1] (พ.ศ. 2431) มีคำว่า “อธิบดีผู้บัญชาการกรมศุลกากร” แต่ในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศฉบับหนึ่งเรียกผู้บัญชาการกรมศุลกสถาน พ.ศ. 2432 เรียกว่าผู้บัญชาการกรมศุลกากร (ไม่มีคำว่าอธิบดี) พ.ศ. 2433 เรียกว่า พณฯ ที่เกษตราธิบดีผู้บัญชาการศุลกากร เพราะฉะนั้น คำศุลกากรจะต้องเกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลัง พ.ศ. 2426 และก่อน พ.ศ. 2431”
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ประเทศไทยได้ประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2461 ประเทศไทยถือโอกาสเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ ซึ่งได้ทำไว้ตั้งแต่ครั้งสนธิสัญญาบาวริง โดยเฉพาะในเรื่องพิกัดศุลกากรซึ่งเดิมเราจะเก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าร้อยชักสามไม่ได้ ในการนี้รัฐบาลได้ แต่งตั้งให้ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ (Dr. Francis B. Sayre ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรี) ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ ไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ ไทยมีอิสระสมบูรณ์ที่จะตั้งพิกัดอัตราศุลกากรได้เต็มที่
    ในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีศุลกากร ปรากฎว่าในสมัยที่พระ วรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี และ มร.วิลเลียมนันท์ (Mr. Wullam Nuns) เป็นที่ปรึกษาศุลกากร ทางการได้จัดร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากรขึ้นฉบับหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 (ร.ศ.128) เรียกว่า ร่างข้อบังคับการค้าและศุลกากร [Trade and Customs Regulations 128 (1909)] โดยอาศัยตามหลักในกฎหมายอังกฤษเป็นแบบฉบับ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1879 (พ.ศ. 2419) ชื่อ Customs Consolidation Act.1879 แล้วส่งร่างข้อบังคับทางการค้าดังกล่าว [Draft of Proposed Trade and Customs Regulation for the Kingdom of Siam, R.S. 128 (1909)] ไปให้นานาประเทศที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศไทย พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน หลังจากนั้นจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายนั่นคือ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 43 หน้า 272 วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2469 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการศุลกากรได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางมีอิสระสมบูรณ์ทุกประการ [2]
    สำหรับภูมิหลังของ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469 ได้มีการศึกษาจากรายงานการประชุมเสนาบดีที่ 6/2468 ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2468 [3] พบว่า ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ขึ้นไป ยังไม่มีพระราชบัญญัติศุลกากรบังคับใช้เป็นกิจจะลักษณะ ต้นฉบับพระราชบัญญัติศุลกากรมิใช่ภาษาไทย แต่มีการร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงมาแปลเป็นภาษาไทยในภายหลัง ดังนั้นการจะเข้าใจหลักกฎหมายศุลกากรอย่างถ่องแท้จะต้องอ่านเทียบเคียงกับฉบับภาษาอังกฤษด้วย โดยเฉพาะมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หากอ่านแต่ฉบับภาษาไทยอย่างเดียวอาจจะทำให้ตีความคลาดเคลื่อนได้ แม้จะมีการตรวจแก้ไขร่างภาษาไทยกับต้นร่างภาษาอังกฤษแล้วก็ตาม กระนั้นก็ดีภาษาไทยที่แปลจากภาษาอังกฤษก็ยังมีความหมายที่ไม่ตรงกัน (ดร.สกล สกลเดช , 2540, หน้า 48-52)
    ส่วนในด้านพิกัดอัตราศุลกากรก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2469 ปีเดียวกันนี้ด้วย ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อนรวม 11 ครั้ง ทางราชการจึงได้ทำสังคายนายกร่างขึ้นใหม่เป็น พ.ร.บ. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2478 และได้แก้ไขให้สอดคล้องกับระบบราคาของ BDV (Brussels Definition of Value) ซึ่งใช้การจำแนกประเภทสินค้าตามแบบ CCCN (Customs Co-operation Council Nomenclature) โดยออกเป็น พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 และก็ได้มีการแก้ไขหลายครั้งจนถึงครั้งที่ 57 เป็น พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย จึงได้ถูกยกเลิกทั้งหมดและให้นำ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาใช้แทน เนื่องจากฉบับของ CCCN ล้าสมัย ขาดรายละเอียดและความชัดแจ้ง ซึ่งเป็นผลเสียแก่การค้า การอุตสาหกรรมและการลงทุนของประเทศ จึงได้ปรับปรุงพระราชกำหนดดังกล่าวเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำหลักการและโครงสร้างการจำแนกประเภทพิกัดสินค้า ซึ่งเรียกว่าระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System) อันเป็นระบบที่ชัดแจ้งกว่ามาใช้แทน
    ในระหว่างที่พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร (พ.ศ. 2478 - 2481) ได้ทรงปรับปรุงงานด้านศุลกากรเพื่อให้เป็นกรมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ผลงานสำคัญคือ การตราพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2478 เปลี่ยนการเก็บภาษีศุลกากรจากหลักการเก็บตามราคามาเป็นตามสภาพ นับเป็นแม่บทในการเรียกเก็บภาษีอากรของไทยตามแบบอารยประเทศ และยังได้ขยายประเภทของสินค้าที่ต้องเสียภาษีจาก 30-40 ประเภทเป็น 198 ประเภท
    นอกจากนี้ยังทรงรับสั่งให้จัดรวบรวมประมวลคำสั่ง ระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานศุลกากรต้องปฏิบัติเข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นคู่มือของข้าราชการเรียกว่า "ประมวลข้อบังคับศุลกากร พ.ศ. 2481" [4] ซึ่งข้าราชการกรมศุลกากรได้ยึดถือเป็นคู่มือการปฏิบัติราชการตลอดมา [5]
------------------------------------------------------------------------------------------------
[1] จุลศักราช : ศักราชน้อย ตั้งขึ้นภายหลังมหาศักราช เป็นศักราชที่เราใช้กันก่อนใช้ศักราชรัตนโกสินทร์ เริ่มภายหลังพุทธศักราช 1181 ปี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)
[2] สำหรับประวัติของการร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือหอรัษฎากรพิพัฒน์ที่ 142/16953 ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2468 ที่พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงร่างกฎหมายดังกล่าว (ถวิล วิสุทธจินดา, กฎหมายเกี่ยวกับการศุลกากร, หน้า 8 อ้างถึงใน ชูชาติ อัศวโรจน์, 2538, หน้า 78)
[3] ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติศุลกากรเข้าที่ประชุมเสนาบดีพิจารณา ปรากฏในรายงานฯ ดังนี้ “ได้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างเสนาบดีต่างประเทศ, มุรธาธร, มหาดไทย, ทหารเรือ, คลังและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ ยุติความเห็นส่วนใหญ่ว่า กฎหมายในเรื่องนี้ไม่มีปัญหาว่าจะควรหรือไม่ ควรให้มีขึ้น เพราะกิจการส่วนมากได้ปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่หากยังไม่ได้ประมวลขึ้นไว้เป็นบทพระราชบัญญัติ ข้อความทั้งนี้ได้ปรึกษาหารือผู้แทนนานาประเทศมากมายหลายชั้น แต่ตัวพระราชบัญญัติภาษาไทยนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ถ้อยคำยังไม่เรียบร้อยจนความก็ดูไม่สู้สนิธ แต่ต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้นคลังไม่ได้ทูลเกล้าถวายขึ้นมา จึงไม่ได้พระราชทานไปให้ที่ประชุมได้อ่านตรวจเทียบ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เสนาบดีคลังคัดร่างพระราชบัญญัติภาษาอังกฤษถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์และเสนาบดีสภาอ่านทราบทั่วกันก่อนแล้วจึงจะได้ปรึกษากันใหม่อีกชั้น 1” เสนาบดีคลังรับกระแสรับสั่ง
[4] ประมวลข้อบังคับศุลกากร พ.ศ.2481 ได้มีการแก้ไขหลายครั้งโดยกรมศุลกากรได้แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานแก้ไขปรับปรุง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2530 ได้แก้ไขปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 แบ่งออกเป็น 22 หมวด ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2541 และครั้งที่ 4 แก้ไขตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 17/2544 ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เรียกว่า “ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2544” แบ่งออกเป็น 5 ภาค รวม 32 หมวด
[5] ประวัติความเป็นมาของกระทรวงการคลัง (http://www.mof.go.th/mofhistory.htm.)
วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

2. พัฒนาการกฎหมายศุลกากร

© ดร.สงบ สิทธิเดช (Dr.Sangob Sittidech, Update October 01, 2012)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น