วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ม.๑ - ๕ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

พระราชบัญญัติ
ศุลกากร
พ.ศ. ๒๕๖๐
-------------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา  ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐
มาตรา  ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙
(๒) พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๔๗๑
(๓) พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๒
(๔) พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๔
(๕) พระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๗๕
(๖) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๗) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๐
(๘) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐
(๙) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒
(๑๐) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๐) พุทธศักราช ๒๔๘๓
(๑๑) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐
(๑๒) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
(๑๓) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
(๑๔) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
(๑๕) พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ พ.ศ. ๒๕๒๘
(๑๖) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
(๑๗) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๐
(๑๘) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๒
(๑๙) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๔๓
(๒๐) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๔๓
(๒๑) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๔๘
(๒๒) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๔๘
(๒๓) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๗
(๒๔) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๗
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
อากรหมายความว่า อากรศุลกากรที่จัดเก็บกับของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่กําหนดให้เป็นอากรศุลกากร
            “ผู้นําของเข้า ให้หมายความรวมถึง เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นําของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2560 
   ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า 
***หมายเหตุ ดูคำอธิบาย "ผู้นำของเข้า" ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร 2469 เพิ่มเติม

ผู้ส่งของออก” ให้หมายความรวมถึงเจ้าของผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นําของนั้นเข้ามาในอารักขาของพนักงานศุลกากรจนถึงเวลาที่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ของต้องห้ามหมายความว่า ของที่มีกฎหมายกําหนดห้ามมิให้นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนําผ่านราชอาณาจักร
ของต้องกํากัดหมายความว่า ของที่มีกฎหมายกําหนดว่า หากจะมีการนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนําผ่านราชอาณาจักร จะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กําหนดไว้ในกฎหมาย
ด่านศุลกากรหมายความว่าท่าที่ หรือสนามบินที่ใช้สําหรับการนําของเข้า การส่งของออก การผ่านแดน การถ่ายลํา และการศุลกากรอื่น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร
ด่านพรมแดนหมายความว่า ด่านที่ตั้งขึ้น ณ บริเวณเขตแดนทางบก บนทางอนุมัติ เพื่อประโยชน์ในการตรวจของที่ขนส่งโดยทางนั้น
เรือหมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำที่ใช้ในการขนส่งของหรือคน และให้หมายความรวมถึงเรือประมงด้วย
นายเรือหมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือควบคุมเรือ
เขตแดนทางบกหมายความว่า เขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรกับดินแดนต่างประเทศและให้หมายความรวมถึงทางน้ำใด ๆ ที่เป็นเขตแดนแห่งราชอาณาจักรหรือตอนหนึ่งแห่งเขตแดนนั้น
ทางอนุมัติหมายความว่า ทางที่ใช้ขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจากเขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากร หรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนทางบก
การผ่านแดน” หมายความว่า การขนส่งของผ่านราชอาณาจักรจากด่านศุลกากรแห่งหนึ่งที่ขนส่งของเข้ามาไปยังด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่งที่ขนส่งของออกไป ภายใต้การควบคุมของศุลกากร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่ว่าการขนส่งนั้นจะมีการขนถ่ายของเพื่อเปลี่ยนยานพาหนะ การเก็บรักษาของ การเปลี่ยนภาชนะบรรจุของเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง หรือการเปลี่ยนรูปแบบของการขนส่งของด้วยหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ จะต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ ซึ่งของนั้นหรือมีพฤติกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้าเกี่ยวกับของดังกล่าวในราชอาณาจักร
การถ่ายลําหมายความว่า การถ่ายของจากยานพาหนะหนึ่งที่ขนส่งของเข้ามาในราชอาณาจักรไปยังอีกยานพาหนะหนึ่งที่ขนส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ภายใต้การควบคุมของศุลกากรในด่านศุลกากรแห่งเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกราชอาณาจักร
พนักงานศุลกากรหมายความว่า
(๑) บุคคลซึ่งรับราชการในกรมศุลกากรและได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามปกติหรือให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะการ
(๒) เจ้าหน้าที่ทหารเรือ นายอําเภอ หรือปลัดอําเภอ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี
ให้กระทําการแทนกรมศุลกากร
(๓) เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้กระทําการเป็นพนักงานศุลกากร
อธิบดีหมายความว่า อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
รัฐมนตรีหมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอํานาจแต่งตั้งพนักงานศุลกากร กับออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดท่า ที่ หรือสนามบินใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นด่านศุลกากร โดยจะกําหนดเงื่อนไขในการดําเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้ รวมทั้งระบุเขตศุลกากรของด่านศุลกากรนั้น
(๒) กําหนดที่ใด ๆ ให้เป็นด่านพรมแดน โดยจะกําหนดเงื่อนไขในการดําเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้
(๓) กําหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม
(๔) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นใบขนสินค้าและการเสียอากร สําหรับของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่มีลักษณะพิเศษหรือมีเหตุจําเป็น
(๕) กําหนดชนิดหรือประเภทของสินค้าอันตราย การเก็บและการขนถ่ายสินค้าอันตรายที่อยู่ในเขตศุลกากรและที่นําออกไปจากเขตศุลกากร รวมทั้งวิธีการจัดเก็บอากรสําหรับสินค้าอันตรายดังกล่าว
(๖) กําหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


ดร.สงบ สิทธิเดช
Online 19-May-17


หมวด ๑ บททั่วไป (ม. ๖ - ๑๒) พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๑
บททั่วไป
----------------------------
มาตรา ๖ ในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้รัฐมนตรีมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดให้ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยจะกําหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้
ในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นแก่อากาศยาน และมีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการคมนาคมระหว่างประเทศ รัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งเป็นหนังสือเฉพาะกรณี ให้ผู้นําของเข้า ผู้ส่งของออกหรือผู้ควบคุมอากาศยานใดได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามที่กําหนดไว้ในหมวด ๓ การนําของเข้าและการส่งของออก โดยจะกําหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้
มาตรา ๗ อธิบดีอาจเรียกให้ผู้นําของเข้า ผู้ส่งของออก หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการศุลกากรให้ประกันอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อรับรองว่าจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการศุลกากร
การให้ประกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๘ บรรดาบัญชี เอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเสียอากร หรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าทําเป็นภาษาต่างประเทศ อธิบดีอาจสั่งให้ผู้ยื่นบัญชี เอกสารหรือหลักฐานดังกล่าว จัดการแปลเป็นภาษาไทยให้เสร็จและส่งภายในกําหนดเวลาที่เห็นสมควร
มาตรา ๙ ในกรณีที่ผู้นําของเข้า ผู้ส่งของออก หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง ร้องขอให้ดําเนินพิธีการศุลกากรหรือให้บริการใด ๆ ในทางศุลกากร ตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้ว ให้ดําเนินการตามที่ร้องขอได้
มาตรา ๑๐ การขอสําเนาใบรับรอง ใบขนสินค้า บัญชี หรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวกับการศุลกากรซึ่งมิได้เป็นความลับนั้น เมื่ออธิบดีเห็นสมควรก็ออกให้ได้ โดยให้ผู้ขอเสียค่าใช้จ่ายตามที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๑๑ การดําเนินการทางศุลกากร ถ้าได้กระทําในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดําเนินการทางศุลกากรโดยเอกสารทั้งนี้การนําข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

มาตรา ๑๒ การดําเนินการใดโดยทางเอกสารซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ ถ้าได้กระทําในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าเป็นความผิดและมีโทษเช่นเดียวกับการกระทําที่ได้ดําเนินการโดยทางเอกสาร


ดร.สงบ สิทธิเดช
Online 19-May-17


หมวด ๒ การจัดเก็บอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๒
การจัดเก็บอากร
-----------------------------
ส่วนที่ ๑
การเสียอากร
-------------------------------
มาตรา ๑๓ การนําของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้เรียกเก็บอากรจากผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
ความรับผิดในอันจะต้องเสียอากรสําหรับของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเกิดขึ้นในเวลาที่นําของเข้าสําเร็จหรือส่งของออกสําเร็จตามมาตรา ๕๐
ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีหน้าที่เสียอากรเมื่อได้ยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรและพนักงานศุลกากรได้รับและออกเลขที่ใบขนสินค้าแล้ว
มาตรา ๑๔ การคํานวณอากรสําหรับของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คํานวณตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาที่นําของเข้าสําเร็จ เว้นแต่กรณีดังตอไปนี้
(๑) กรณีของที่เก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้คํานวณอากรตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากรและพิกัดศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาที่นําเข้าสําเร็จ แต่อัตราศุลกากรให้ถือตามอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะปล่อยของออกไปในสภาพเดิมที่นําเข้ามาหรือในสภาพอื่น
(๒) กรณีของที่เก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนสูญหายหรือถูกทําลาย ให้คํานวณอากรตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาที่นําของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น
(๓) กรณีของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของเพื่อการผ่านแดนหรือเพื่อการถ่ายลําและต่อมามีการขอเปลี่ยนการผ่านพิธีการศุลกากรเป็นของนําเข้าภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ในมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง ให้คํานวณอากรตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาที่นําของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร
มาตรา ๑๕ การคํานวณอากรสําหรับของที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้คํานวณตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาที่พนักงานศุลกากรได้รับและออกเลขที่ใบขนสินค้าแล้ว
มาตรา ๑๖ เพื่อประโยชน์ในการคํานวณอากรตามพระราชบัญญัตินี้ให้ ราคาศุลกากร หมายถึงราคาดังต่อไปนี้
(๑) กรณีนําของเข้า หมายถึงราคาแห่งของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากรตามราคาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ราคาซื้อขายของที่นําเข้า
(ข) ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน
(ค) ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน
(ง) ราคาหักทอน
(จ) ราคาคํานวณ
(ฉ) ราคาย้อนกลับ
(๒) กรณีส่งของออก หมายถึงราคาขายส่งเงินสด ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่ส่งของออกโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด
(๓) กรณีนําของออกจากเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือเขตอื่นใดในทํานองเดียวกันเพื่อใช้หรือจําหน่ายภายในราชอาณาจักรให้ใช้ราคาศุลกากรตาม (๑) โดยอนุโลม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้ราคาและการกําหนดราคาศุลกากรตาม (๑) ให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๗ การกําหนดราคาศุลกากรในกรณีนําของเข้าจะต้องรวมค่าประกันภัย ค่าขนส่งของ ค่าขนของลงค่าขนของขึ้นและค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของที่นําเข้ามายังด่านศุลกากร
ในกรณีที่ไม่มีมูลค่าของรายการค่าประกันภัยหรือค่าขนส่งของ หรือไม่มีค่าขนของลง ค่าขนของขึ้นหรือค่าจัดการต่าง ๆ ตามที่กําหนดในวรรคหนึ่ง การกําหนดมูลค่าของรายการดังกล่าวให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๑๘ ผู้ใดประสงค์จะขอทราบราคาศุลกากร ถิ่นกําเนิดแห่งของ หรือพิกัดอัตราศุลกากร ผู้นั้นอาจยื่นคําร้องขอต่ออธิบดีเพื่อให้พิจารณาเป็นการล่วงหน้าในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดราคาศุลกากรแห่งของที่จะนําเข้ามาในราชอาณาจักร
(๒) กําหนดถิ่นกําเนิดแห่งของที่จะนําเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎว่าด้วยถิ่นกําเนิดตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ
(๓) ตีความพิกัดอัตราศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อจําแนกประเภทแห่งของในพิกัดอัตราศุลกากร
การยื่น การพิจารณา และการแจ้งผลการพิจารณาคําร้องขอ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ผลการพิจารณาคําร้องขอตามวรรคหนึ่ง ผูกพันเฉพาะกรมศุลกากรและผู้ร้องขอตามระยะเวลาที่อธิบดีกําหนด

ส่วนที่ ๒
การประเมินอากร
––––––––––––––––––––––
มาตรา ๑๙ เมื่อพบว่าผู้มีหน้าที่เสียอากรไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจประเมินอากรตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
การประเมินอากรตามวรรคหนึ่ง ให้ดําเนินการได้ภายในกําหนดสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นใบขนสินค้าเว้นแต่กรณีมีเหตุจําเป็นไม่อาจประเมินอากรได้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีได้อีกไม่เกินสองปี
ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานที่อธิบดีเชื่อได้ว่าผู้มีหน้าที่เสียอากรมีเจตนาในการฉ้ออากรให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจประเมินอากรได้อีกภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันที่พ้นกําหนดระยะเวลาตามวรรคสอง
มาตรา ๒๐ เมื่อประเมินอากรแล้ว ให้พนักงานศุลกากรส่งแบบแจ้งการประเมินอากรให้แก่ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกภายในกําหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ประเมินอากรเสร็จ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องเสียอากรให้ครบถ้วนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรนั้น
มาตรา ๒๑ สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเก็บอากรที่ไม่ได้เสียหรือเสียไม่ครบถ้วนมีอายุความสิบปีนับแต่วันที่ได้ยื่นใบขนสินค้า เว้นแต่การเรียกเก็บอากรที่ไม่ได้เสียหรือเสียไม่ครบถ้วนนั้นเกิดจากการคํานวณอากรผิด ให้มีอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นใบขนสินค้า
ในกรณีที่สิทธิในการเรียกเก็บอากรที่เสียไว้ไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง มีจํานวนไม่เกินสองร้อยบาทต่อใบขนสินค้าหนึ่งฉบับ อธิบดีจะสั่งให้งดการเรียกเก็บอากรที่เสียไม่ครบถ้วนนั้นก็ได้ หากของนั้นได้พ้นไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว

มาตรา ๒๒ ในกรณีที่ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วนให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่นําของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรจนถึงวันที่นําเงินมาชําระ เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม
ในกรณีที่ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่เสียอากรภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรตามมาตรา ๒๐ ให้เสียเบี้ยปรับร้อยละยี่สิบของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มเงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้ถือเป็นเงินอากร
เงินเพิ่มอาจลดลงได้ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง สําหรับเบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกําหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี
            หมายเหตุดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2564 "หลักการคิดเงินเพิ่มตาม กม. ศุลกากรเก่ากับ กม. ศุลกากรใหม่"

มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชําระค่าอากร ให้อธิบดีมีอํานาจกักของที่ผู้นั้นนําเข้าหรือส่งออกและกําลังผ่านพิธีการศุลกากร หรืออยู่ในความกํากับตรวจตราของศุลกากรได้จนกว่าผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะเสียอากรที่ค้างให้ครบถ้วน และถ้าไม่เสียภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่กักของนั้น ให้อธิบดีมีอํานาจสั่งให้นําของนั้นออกขายทอดตลาดได้
เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตามวรรคหนึ่ง ให้หักใช้ค่าอากรที่ค้างชําระ ค่าอากรสําหรับของที่ขายทอดตลาด ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่ค้างชําระแก่กรมศุลกากรรวมทั้งค่าภาษีอากรตามกฎหมายอื่นก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ ที่ต้องชําระแก่ผู้เก็บรักษาและผู้ขนส่งที่นําของที่ขายทอดตลาดนั้นเข้ามา ตามลําดับ เมื่อได้หักใช้เช่นนี้แล้วยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดให้คืนแก่เจ้าของ แต่เมื่อพ้นกําหนดหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาดแล้ว เจ้าของไม่มาเรียกคืนให้เงินที่เหลืออยู่นั้นตกเป็นของแผ่นดิน
มาตรา ๒๔ ในการบังคับค่าอากรที่ค้างชําระ หากกรมศุลกากรได้ดําเนินการตามมาตรา ๒๓ แล้วยังไม่ได้รับค่าอากรหรือได้รับไม่ครบถ้วน ให้อธิบดีมีอํานาจสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกคําสั่งวิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม ส่วนวิธีการอายัดให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกําหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี
เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าว ให้หักค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการยึดและขายทอดตลาด
และค่าอากรที่ไม่ได้เสียหรือเสียไม่ครบถ้วน ถ้ามีเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของ

ส่วนที่ ๓
การคืนอากร
-------------------------
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการเสียอากรไว้เกินจํานวนที่ต้องเสีย ให้ดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้อธิบดีมีอํานาจคืนอากรส่วนที่เสียไว้เกินเฉพาะในเหตุที่ได้คํานวณอากรผิดโดยไม่ต้องมีคําร้องขอคืนอากร แต่มิให้สั่งคืนเมื่อพ้นกําหนดสองปี นับแต่วันที่ได้นําของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือ
(๒) ให้ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิยื่นคําร้องขอคืนอากรภายในกําหนดสามปีนับแต่วันที่นําของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่ได้เสียอากรเพื่อส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว แต่มิได้ส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ส่งของออกมีสิทธิยื่นคําร้องขอคืนอากรภายในกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พนักงานศุลกากรได้รับใบขนสินค้าแล้ว
การยื่นคําร้องขอคืนอากรและการคืนอากรตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๒๗ ในกรณีที่ต้องคืนอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกไว้เกินจํานวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้คืนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละศูนย์จุดหกสองห้าต่อเดือนของจํานวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน
ในกรณีที่ได้เปลี่ยนการวางประกันอย่างอื่นเป็นการวางเงินประกันภายหลังจากที่ได้นําของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คํานวณดอกเบี้ยสําหรับจํานวนเงินประกันที่ต้องคืนนับแต่วันที่วางเงินประกันครั้งสุดท้ายแทนการวางประกันจนถึงวันที่อนุมัติให้จ่ายคืนดอกเบี้ยที่จ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้เกินจํานวนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรที่ต้องคืน
ในการคํานวณดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืน
มาตรา ๒๘ ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว หากส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของนั้นเก้าในสิบส่วนหรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจํานวนที่ได้เรียกเก็บไว้โดยคํานวณตามใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับ แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร
(๒) ต้องไม่นําของนั้นไปใช้ประโยชน์ในระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่การใช้ประโยชน์เพื่อส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพหรือลักษณะแห่งของนั้น
(๓) ได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร และ
(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของกลับออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๒๙ ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว เพื่อใช้สําหรับผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใด หากส่งของที่ได้จากการดําเนินการดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดด้วยของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร
(๒) ต้องพิสูจน์ได้ว่าของที่นําไปใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดนั้นมีปริมาณไม่เกินที่อธิบดีประกาศกําหนด
(๓) ได้ส่งของที่ได้จากการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของที่ใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยทําให้ไม่อาจส่งของดังกล่าวออกไปภายในกําหนดหนึ่งปี ให้อธิบดีขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน และ
(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรเว้นแต่อธิบดีจะขยายระยะเวลาให้แต่ต้องไม่เกินหกเดือน
การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๓๐ ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้สําหรับผลิต ผสม ประกอบ บรรจุหรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดตามมาตรา ๒๙ เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรหรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร อาจร้องขอต่ออธิบดีวางประกันอย่างหนึ่งอย่างใดแทนการเสียอากรขาเข้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
การคืนประกันที่ผู้นําของเข้าได้วางไว้แทนการเสียอากรตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๓๑ การโอนของที่ได้จากการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดตามมาตรา ๒๙ เข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือจําหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่น ให้ถือว่าเป็นการส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร และเป็นการส่งของออกสําเร็จในเวลาที่โอนหรือจําหน่ายของนั้น ทั้งนี้ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับกับการคืนอากรหรือประกันอย่างอื่นแก่ผู้นําของเข้าโดยอนุโลม
การรับของที่ได้โอนหรือจําหน่ายตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการนําเข้ามาในราชอาณาจักรนับแต่เวลาที่ได้โอนหรือจําหน่ายของนั้น และให้นําบทบัญญัติเกี่ยวกับการนําของเข้ามาใช้บังคับโดยอนุโลม
การโอนของเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน การจําหน่ายของแก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากร และการรับของดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

ส่วนที่ ๔
การวินิจฉัยอากรและการอุทธรณ์การประเมินอากร
----------------------------------
มาตรา ๓๒ ให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจํานวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมศุลกากรคนหนึ่งเป็นเลขานุการและอีกไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๓๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๒ มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ ให้ดําเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนภายในกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตําแหน่งกรรมการว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือไม่ถึงสามสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตําแหน่งที่ว่างอยู่ในตําแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้
แล้วเมื่อครบกําหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อดําเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๓๔ นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๒ พ้นจากตําแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๓๕ การประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
ในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้ามีการพิจารณาในเรื่องที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๖ คณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดขอบเขตการใช้อํานาจของพนักงานศุลกากร
(๒) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการตรวจสอบและประเมินอากร
(๓) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอากรที่กรมศุลกากรขอความเห็น
(๔) ให้คําปรึกษาหรือเสนอแนะแก่รัฐมนตรีในการจัดเก็บอากร
การกําหนดตาม (๑) และ (๒) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้พนักงานศุลกากรปฏิบัติตาม
คําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรตาม (๓) ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๗ ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากร
การยื่นอุทธรณ์และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๓๘ การอุทธรณ์การประเมินอากรตามมาตรา ๓๗ ไม่เป็นเหตุทุเลาการเสียอากรตามที่พนักงานศุลกากรประเมินไว้ เว้นแต่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้รอคําวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคําพิพากษาถึงที่สุด
ผู้อุทธรณ์ที่ได้รับอนุญาตให้ทุเลาการเสียอากรตามวรรคหนึ่ง ต้องเสียอากรให้ครบถ้วนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการจําหน่ายอุทธรณ์หรือคําวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือนับแต่วันได้รับทราบคําพิพากษาถึงที่สุด
ในกรณีที่มีคําวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียอากรเพิ่มขึ้น ผู้อุทธรณ์จะต้องเสียอากรภายในกําหนดระยะเวลาเช่นเดียวกับวรรคสอง
มาตรา ๓๙ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ประกอบด้วย อธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนกรมสรรพสามิต ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมศุลกากรคนหนึ่งเป็นเลขานุการและอีกไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๔๐ ในกรณีที่มีความจําเป็นและรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรอาจกําหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มเติมอีกคณะหนึ่งหรือหลายคณะก็ได้ โดยให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวมีองค์ประกอบตามที่กําหนดไว้ในมาตรา ๓๙
มาตรา ๔๑ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พนักงานศุลกากรได้รับอุทธรณ์และมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์นั้นครบถ้วน
ในกรณีที่มีเหตุจําเป็น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปอีกได้ แต่ต้องไม่เกินเก้าสิบวัน
มาตรา ๔๒ หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธินําคดีไปฟ้องต่อศาลได้
ในกรณีที่ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกนําคดีไปฟ้องต่อศาล ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกนั้น
มาตรา ๔๓ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๓๕ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยอนุโลม
มาตรา ๔๔ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จะมอบหมาย
ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๓๕ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง มีอํานาจออกหนังสือเรียกผู้อุทธรณ์หรือขอให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคํา หรือส่งบัญชี เอกสารหลักฐาน ข้อมูล หรือสิ่งของที่เกี่ยวกับเรื่องที่อุทธรณ์มาแสดงได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ โดยต้องให้เวลาแก่บุคคลดังกล่าวไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันได้รับหนังสือเรียกหรือวันได้รับแจ้งการร้องขอ
ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ยอมให้ถ้อยคําโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์นั้นเสีย
มาตรา ๔๖ ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ยื่นคําร้องขอถอนอุทธรณ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จําหน่ายอุทธรณ์นั้น
มาตรา ๔๗ คําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด โดยให้ทําเป็นหนังสือและแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบ
มาตรา ๔๘ ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคําวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะจําหน่ายอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๖

มาตรา ๔๙ ให้กรรมการในคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร กรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่งตั้ง เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ดร.สงบ สิทธิเดช
Online 19-May-17

หมวด ๓ การนำของเข้าและการส่งของออก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๓
การนําของเข้าและการส่งของออก
-------------------------

มาตรา ๕๐ การนําของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสําเร็จ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การนําของเข้าทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อเรือที่นําของเข้ามานั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ส่วนการส่งของออกทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อเรือที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตท่าท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
(๒) การนําของเข้าทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อยานพาหนะที่นําของเข้ามานั้นได้เข้ามาถึงเขตด่านพรมแดน ส่วนการส่งของออกทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อยานพาหนะที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตด่านพรมแดนเพื่อไปจากราชอาณาจักร
(๓) การนําของเข้าทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่ออากาศยานที่นําของเข้ามานั้นได้ถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ส่วนการส่งของออกทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่ออากาศยานที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
(๔) การนําของเข้าทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อได้เปิดถุงไปรษณีย์ ส่วนการส่งของออกทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อได้ปิดถุงไปรษณีย์และได้ดําเนินการส่งออกตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๕๑ ก่อนที่จะนําของใดไปจากอารักขาของศุลกากรหรือก่อนที่จะส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียอากรจนครบถ้วนหรือวางประกันไว้
การยื่นใบขนสินค้า การเสียอากร และการวางประกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอและอธิบดีเห็นว่ามีความจําเป็นต้องนําของใดออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือต้องส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร่งด่วน อธิบดีมีอํานาจอนุญาตให้นําของนั้นไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรโดยยังไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าให้สมบูรณ์หรือยังไม่ต้องเสียอากรจนครบถ้วน ทั้งนี้ อธิบดีอาจกําหนดเงื่อนไขให้ผู้ร้องขอต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ และในกรณีที่ต้องเสียอากร ให้ผู้ร้องขอวางประกันค่าอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๕๒ เมื่อนําของเข้ามาในหรือจะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชนิดแห่งของ
(๒) ปริมาณ น้ําหนัก และคุณภาพแห่งของ
(๓) ราคาศุลกากร
(๔) ประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทาง
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ตรวจสอบรายการที่แสดงไว้ในใบขนสินค้าแล้วเห็นว่ารายการที่แสดงไว้นั้นครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรลงนามรับรองในใบขนสินค้าหรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่อธิบดีกําหนดเพื่อรับรองว่ารายการที่ได้แสดงไว้นั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๕๓ ของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร หากเป็นของติดตัวผู้โดยสารและมีมูลค่าไม่เกินจํานวนที่อธิบดีประกาศกําหนด ผู้นําของเข้าไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าสําหรับของนั้น
ในกรณีที่ของตามวรรคหนึ่งเป็นของที่ต้องเสียอากร ให้ผู้นําของเข้าเสียอากรเมื่อได้สําแดงของดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร หรือเมื่อพนักงานศุลกากรตรวจพบว่าของดังกล่าวเป็นของที่ต้องเสียอากร
มาตรา ๕๔ ในกรณีที่ผู้นําของเข้าไม่สามารถทําใบขนสินค้าสําหรับของใดได้ เพราะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับของนั้นทั้งหมด ผู้นําของเข้าอาจยื่นคําขออนุญาตเปิดตรวจของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรนั้นได้ โดยให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อครบกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นําของเข้าได้รับอนุญาตให้เปิดตรวจของตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้นําของเข้ายังไม่ยื่นใบขนสินค้าและไม่เสียอากรหรือวางประกันให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าของที่มีการเปิดตรวจนั้นเป็นของตกค้าง
มาตรา ๕๕ ในกรณีที่พนักงานศุลกากรเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจํานวนเงินอากรสําหรับของที่กําลังผ่านพิธีการศุลกากร ให้นําของนั้นไปยังศุลกสถานหรือนําไปเก็บไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีความมั่นคงปลอดภัย เว้นแต่พนักงานศุลกากรและผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะตกลงให้เก็บตัวอย่างของไว้เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว รวมทั้งได้เสียอากรตามจํานวนที่สําแดงไว้ในใบขนสินค้าและได้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันหรือวางประกันเป็นอย่างอื่นจนครบจํานวนเงินอากรสูงสุดที่อาจต้องเสียสําหรับของนั้น
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ประเมินอากรที่ต้องเสียและแจ้งผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกให้เสียอากรแล้ว ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องเสียอากรตามจํานวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการวางเงินประกันตามวรรคหนึ่ง และเงินดังกล่าวคุ้มค่าอากรแล้ว ให้พนักงานศุลกากรเก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจํานวนที่ประเมินได้ และให้ถือว่าผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้เสียอากรครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๕๖ ให้ผู้ควบคุมยานพาหนะทําการบรรทุกหรือขนถ่ายของหรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับของที่นําเข้าหรือของที่จะส่งออกที่ต้องมีพนักงานศุลกากรกํากับในเวลาที่กําหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ทําการบรรทุกหรือขนถ่ายของดังกล่าวในเวลาอื่นได้
มาตรา ๕๗ การบรรทุกของลงหรือขนขึ้นจากยานพาหนะ การขนถ่ายของ การนําของไปยังที่สําหรับตรวจ การชั่งของ การบรรจุใหม่ นํามารวม คัดเลือก แบ่งแยก ทําเครื่องหมาย และลงเลขหมายหรือการอนุญาตให้กระทําการนั้น หรือการขนย้ายของไปเก็บในที่สําหรับเก็บจนกว่าจะได้รับมอบไป ให้เป็นหน้าที่ของผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออก โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
มาตรา ๕๘ การขนถ่ายของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องขนถ่ายในเขตขนถ่ายของเท่านั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ขนถ่ายในสถานที่อื่นได้โดยอธิบดีอาจเรียกให้ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออก แล้วแต่กรณี หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่อื่นนั้นวางประกันได้
มาตรา ๕๙ หีบห่อหรือภาชนะบรรจุของที่จะนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องมีเครื่องหมายหรือเลขหมายกํากับหีบห่อหรือภาชนะบรรจุของนั้น และต้องแสดงเครื่องหมายหรือเลขหมายนั้นไว้ในเอกสารที่เกี่ยวกับของนั้นด้วย
มาตรา ๖๐ ของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์ตามมาตรา ๕๐ (๔) ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนําเข้าหรือส่งออกแสดงรายการเกี่ยวกับของนั้น
ในกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นกับการนําของเข้าหรือส่งของออกตามวรรคหนึ่ง ให้ความรับผิดและโทษนั้นตกแก่บุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ผู้มีชื่อที่จะรับของอันนําเข้ามาหรือผู้รับของ สําหรับการนําของเข้า หรือ
(๒) ผู้ส่งของอันจะส่งออกไปหรือผู้นําของส่ง ณ ที่ทําการไปรษณีย์ สําหรับการส่งของออก
มาตรา ๖๑ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๒๔๒ มาตรา ๒๔๓ มาตรา ๒๔๔ และมาตรา ๒๔๕ มาใช้บังคับกับของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์ด้วย
มาตรา ๖๒ พนักงานศุลกากรอาจตรวจห่อพัสดุไปรษณีย์ที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย พนักงานศุลกากรอาจกักจดหมายหรือห่อพัสดุไปรษณีย์ไว้ได้ จนกว่าผู้จะส่งของออกไปหรือผู้นําของส่ง หรือผู้มีชื่อที่จะรับของหรือผู้รับของ ได้แสดงต่อพนักงานศุลกากรว่าไม่มีของต้องห้าม ของต้องกํากัด หรือของที่ยังมิได้เสียอากรในจดหมายหรือในห่อพัสดุนั้น
มาตรา ๖๓ ผู้นําของเข้า ผู้ส่งของออก ผู้ขนส่ง และบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องตามที่อธิบดีประกาศกําหนด มีหน้าที่เก็บและรักษาบัญชี เอกสาร หลักฐาน และข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับของที่กําลังผ่านหรือได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่นําของเข้าหรือส่งของออก
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเลิกประกอบกิจการ ให้บุคคลดังกล่าวหรือผู้ชําระบัญชีเก็บและรักษาบัญชี เอกสาร หลักฐาน และข้อมูลดังกล่าวไว้ต่อไปอีกสองปีนับแต่วันเลิกประกอบกิจการ
การเก็บและรักษาบัญชี เอกสาร หลักฐาน และข้อมูลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

ส่วนที่ ๑
การนําของเข้าและการส่งของออกทางทะเล
--------------------------

มาตรา ๖๔ เรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่เรือของทางราชการ ให้นายเรือมีหน้าที่ทํารายงานเรือเข้าและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือและแสดงใบทะเบียนเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
การทํารายงานเรือเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ในกรณีที่เรือตามวรรคหนึ่งมาถึงท่าที่เป็นด่านศุลกากร และมีของจากต่างประเทศอยู่ในเรือและประสงค์จะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร หรือมีของที่จะขนขึ้น ณ ที่อื่นภายในราชอาณาจักร นายเรือต้องแถลงข้อความเกี่ยวกับของนั้นไว้ในรายงานเรือเข้าด้วย
มาตรา ๖๕ ให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจสั่งห้ามเคลื่อนย้ายของในเรือที่มิได้แสดงไว้ในรายงานเรือเข้าจนกว่าจะได้รับรายงานที่ถูกต้องจากนายเรือหรือจนกว่านายเรือจะได้อธิบายเหตุผลที่ไม่สามารถแสดงของดังกล่าวไว้ในรายงานเรือเข้าได้
มาตรา ๖๖ ถ้านายเรือได้รายงานต่อพนักงานศุลกากรว่า ตนไม่ทราบว่าของที่อยู่ในหีบห่อหรือภาชนะบรรจุที่บรรทุกมาในเรือนั้นเป็นสิ่งใด พนักงานศุลกากรจะสั่งให้เปิดหีบห่อหรือภาชนะบรรจุนั้นออกเพื่อตรวจสอบก็ได้ และหากปรากฏว่าในหีบห่อหรือภาชนะบรรจุนั้นมีของต้องห้าม ให้ยึดของนั้นไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
มาตรา ๖๗ เรือที่เดินทางมาจากต่างประเทศเมื่อมาถึงเขตท่าต้องหยุดลอยลํา ณ ด่านตรวจที่กําหนดไว้ และให้นายเรือมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) อํานวยความสะดวกแก่พนักงานศุลกากรในการที่จะขึ้นบนเรือและเข้าไปในเรือ
(๒) ทอดสมอเรือ เมื่อพนักงานศุลกากรสั่ง
(๓) ตอบคําถามใด ๆ ของพนักงานศุลกากรเกี่ยวกับเรือ คนประจําเรือ คนโดยสาร การเดินทางและลักษณะแห่งของในเรือ
(๔) รายงานเกี่ยวกับอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดอันมีอยู่ในเรือและให้ส่งมอบอาวุธปืนและกระสุนปืนแก่พนักงานศุลกากรกํากับด่านตรวจ เมื่อพนักงานศุลกากรสั่งให้ส่งมอบ สําหรับดินปืนและวัตถุระเบิดให้ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากรซึ่งได้รับมอบหมายเฉพาะเพื่อการนั้น
(๕) จัดที่พักบนเรือให้แก่พนักงานศุลกากรตามสมควร
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามคําสั่งอันสมควรของพนักงานศุลกากรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการทางศุลกากร
มาตรา ๖๘ เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาสิบวันนับแต่เรือมาถึงเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากร หากนายเรือมิได้ดําเนินการขนของขึ้นจากเรือให้แล้วเสร็จ หรือผู้นําของเข้ามิได้ดําเนินการยื่นใบขนสินค้าหรือมิได้ดําเนินการเพื่อให้พนักงานศุลกากรตรวจของหรือส่งมอบของไปโดยถูกต้อง พนักงานศุลกากรอาจสั่งให้มีการนําของนั้นมาเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด โดยให้นายเรือหรือผู้นําของเข้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาของดังกล่าว
พนักงานศุลกากรจะอนุญาตให้คืนของที่นํามาเก็บไว้ตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้นําของเข้าได้ต่อเมื่อมีการชําระค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวแก่ของนั้นเสร็จสิ้นแล้ว
มาตรา ๖๙ เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลายี่สิบเอ็ดวันนับแต่เรือมาถึงเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากรหากนายเรือมิได้ดําเนินการขนของขึ้นจากเรือให้แล้วเสร็จ พนักงานศุลกากรมีอํานาจสั่งกักเรือลําดังกล่าวนั้นไว้ได้จนกว่านายเรือจะได้ขนของขึ้นจากเรือจนหมด โดยนายเรือต้องชําระค่าใช้จ่ายในการเฝ้ารักษาของดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นอันพึงมีด้วย
อธิบดีอาจยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งได้ หากนายเรือได้แสดงหลักฐานอันสมควรว่าการชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
มาตรา ๗๐ ห้ามมิให้ขนของที่จะส่งออกบรรทุกลงในเรือลําใดจนกว่าพนักงานศุลกากรได้ออกใบปล่อยเรือขาเข้าให้แก่เรือนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ขนของบรรทุกลงในเรือนั้นได้ก่อนที่จะได้รับใบปล่อยเรือขาเข้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๗๑ เรือลําใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากท่าที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่เรือของทางราชการจะต้องได้รับใบปล่อยเรือขาออก โดยให้นายเรือมีหน้าที่ทํารายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออก
การทํารายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๗๒ ถ้าเรือที่ได้รับใบปล่อยเรือขาออกแล้วได้ออกจากท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งอื่นในราชอาณาจักร ให้นายเรือทํารายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือที่บรรทุกขึ้นเรือนั้นต่อพนักงานศุลกากรประจําท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น พร้อมทั้งแนบใบปล่อยเรือขาออกที่ออกให้ภายหลังติดไว้กับใบปล่อยเรือฉบับแรก และต้องทําเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เป็นด่านศุลกากรจนกว่าจะได้รับใบปล่อยเรือขาออกท้ายสุดออกนอกราชอาณาจักร
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออกของท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น เพื่อให้เรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
การทํารายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๗๓ ในกรณีที่มีการส่งมอบอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดไว้แก่พนักงานศุลกากรตามมาตรา ๖๗ (๔) เมื่อเรือลํานั้นจะออกจากเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากร ให้คืนของดังกล่าวแก่นายเรือ
มาตรา ๗๔ เรือทุกลําเมื่อเดินทางผ่านด่านตรวจของกรมศุลกากรเพื่อออกสู่ทะเลต้องลดความเร็วลง และให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจเรียกให้นายเรือตอบคําถามเกี่ยวกับชื่อเรือและสถานที่ที่จะเดินทางไปได้
มาตรา ๗๕ เมื่อพ้นกําหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่เริ่มบรรทุกของขาออกลงในเรือ ไม่ว่าจะบรรทุกของลงในเรือครบถ้วนแล้วหรือไม่ แต่เรือยังอยู่ในเขตท่า พนักงานศุลกากรอาจเรียกค่าธรรมเนียมสําหรับการประจําการในเรือนั้นได้
อธิบดีอาจยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งได้ หากนายเรือได้แสดงหลักฐานอันสมควรว่าการชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
พนักงานศุลกากรอาจกักเรือที่บรรทุกของตามวรรคหนึ่งไว้ได้จนกว่านายเรือจะได้ชําระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกักเรือนั้น
มาตรา ๗๖ ในกรณีที่ผู้ส่งของออกได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกตามมาตรา ๕๑ ต่อพนักงานศุลกากรแล้ว แต่มิได้นําของนั้นบรรทุกลงในเรือให้แล้วเสร็จก่อนเรือออก ให้ผู้ส่งของออกแจ้งเหตุที่ไม่สามารถนําของนั้นบรรทุกลงในเรือให้แล้วเสร็จต่อพนักงานศุลกากรภายในกําหนดสามวันนับแต่วันที่เรือออกจากท่า โดยให้พนักงานศุลกากรบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในใบขนสินค้านั้น และให้นําของที่ยังมิได้บรรทุกลงในเรือนั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว
ให้ผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับของที่เก็บไว้ตามวรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ขอรับของคืนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานศุลกากร หรือ
(๒) ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่เรือลําที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าครั้งแรกออกจากท่า
ในกรณีที่ปรากฏว่าของนั้นได้ทําทัณฑ์บนหรือมีประกัน หากผู้ส่งของออกไม่ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ริบของนั้น
มาตรา ๗๗ เรือทุกลําเว้นแต่เรือของทางราชการที่จะออกจากท่าต้องชักธงลาขึ้นที่เสาหน้าไว้จนกว่าเรือจะออก ถ้าเรือจะออกเวลาบ่ายให้ชักธงลาขึ้นไว้แต่เช้า ถ้าเรือจะออกเวลาเช้าให้ชักธงลาขึ้นไว้ตั้งแต่บ่ายวันก่อน
มาตรา ๗๘ อธิบดีมีอํานาจกําหนดเขตที่จอดเรือภายนอกเพื่อให้เรือขนถ่ายของโดยที่ไม่ต้องเข้ามาในเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากร และให้กําหนดเวลาที่จะให้ใช้ที่จอดเรือภายนอกนั้นไว้ด้วย
ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือความจําเป็นเร่งด่วน อธิบดีอาจอนุญาตให้ขนถ่ายของนอกเขตที่จอดเรือภายนอกได้เป็นการเฉพาะคราว ทั้งนี้ อธิบดีอาจกําหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้
มาตรา ๗๙ นายเรือที่ประสงค์จะขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอก ให้ยื่นคําขออนุญาตต่ออธิบดี
การขออนุญาตและการอนุญาตให้ขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอกตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๘๐ ให้นายเรือที่ได้รับอนุญาตให้ขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอกจัดทําและยื่นบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายโดยเรือลําเลียงแต่ละลําต่อพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกได้รับบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบอนุญาตให้นําของในเรือลําเลียงนั้นเข้าไปยังเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากรได้
เมื่อเรือลําเลียงมาถึงท่าที่เป็นด่านศุลกากรแล้ว ให้นายเรือประจําเรือลําเลียงนั้นส่งมอบบัญชีสินค้าให้แก่พนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรนั้น แล้วจึงขนถ่ายของและดําเนินพิธีการศุลกากรต่อไป
มาตรา ๘๑ ห้ามมิให้ขนถ่ายอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน วัตถุระเบิด หรือของต้องกํากัด ณ ที่จอดเรือภายนอก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
มาตรา ๘๒ ในกรณีที่จะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยต้องมีการขนถ่ายในเขตที่จอดเรือภายนอก ผู้ส่งของออกต้องยื่นใบขนสินค้าโดยเสียค่าอากรและค่าภาระติดพันให้ครบถ้วนก่อน และให้จัดทําและยื่นบัญชีสินค้าที่ขนถ่ายโดยเรือลําเลียงแต่ละลําต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับบัญชีสินค้าที่ขนถ่ายตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ส่งบัญชีสินค้านั้นไปกับเรือลําเลียง และเมื่อเรือลําเลียงได้ไปถึงเขตที่จอดเรือภายนอกแล้ว ให้นายเรือประจําเรือลําเลียงยื่นบัญชีสินค้าแก่พนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกนั้น
ในกรณีที่พนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกตรวจสอบแล้วพบว่า รายละเอียดที่แสดงไว้ในบัญชีสินค้าไม่ตรงกับของที่บรรทุกมาในเรือลําเลียงนั้น ให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจกักของที่บรรทุกมาในเรือลําเลียงได้จนกว่าจะแก้ไขบัญชีสินค้าให้ถูกต้อง
มาตรา ๘๓ ในกรณีที่นําของไปยังเขตที่จอดเรือภายนอกตามมาตรา ๘๒ แล้ว แต่ไม่มีการบรรทุกของนั้นลงในเรือหรือบรรทุกลงไม่หมด ให้นายเรือหรือผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นคําขออนุญาตต่อพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกเพื่อบรรทุกของดังกล่าวลงในเรือลําอื่นที่อยู่ในเขตที่จอดเรือภายนอกนั้นที่จะเดินทางไปยังท่าเรือต่างประเทศเดียวกันกับที่ระบุไว้ในใบขนสินค้า
(๒) ส่งของกลับมายังท่าที่ส่งออกไป โดยต้องขอใบรับรองที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับของนั้นจากพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกเพื่อนํามาส่งมอบแก่พนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรและให้นําของที่ส่งกลับมานั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด โดยให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว และให้นําบทบัญญัติมาตรา ๗๖ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับของที่เก็บไว้
การยื่นคําขออนุญาตตาม (๑) และการขอใบรับรองตาม (๒) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๘๔ ก่อนที่เรือจะออกจากเขตที่จอดเรือภายนอก นายเรือซึ่งได้รับอนุญาตให้ทําการขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการขนถ่ายของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องไปรับเอาใบปล่อยเรือจากพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด โดยต้องใช้ค่าภาระติดพันให้ครบถ้วน และส่งมอบใบปล่อยเรือดังกล่าวให้แก่พนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกนั้น
ในกรณีพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกตรวจสอบพบว่า ยังมีของที่ยังมิได้เสียอากร ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่พึงต้องชําระให้ครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรนั้นมีอํานาจยึดใบปล่อยเรือไว้ได้จนกว่าจะได้มีการชําระเงินดังกล่าวหรือวางประกันเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๘๕ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๗ มาใช้กับเรือที่มีการขนถ่ายของ
ในเขตที่จอดเรือภายนอกด้วย

ส่วนที่ ๒
การนําของเข้าและการส่งของออกทางบก
--------------------------

มาตรา ๘๖ การขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตั้งแต่เขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากร หรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนทางบก ต้องขนส่งตามทางอนุมัติ และภายในกําหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกําหนด
การขนส่งของตามทางอื่นนอกจากทางอนุมัติหรือในเวลาอื่นนอกจากที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๘๗ ในกรณีที่การขนส่งของตามมาตรา ๘๖ เป็นการขนส่งตามลําน้ำที่เป็นเขตแดนทางบก ให้อธิบดีมีอํานาจประกาศกําหนดเขตพื้นที่ตามลําน้ำที่เป็นเขตแดนทางบกนั้น เพื่อให้นายเรือจอดเทียบท่าและขนถ่ายของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
มาตรา ๘๘ ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนดจํานวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านพรมแดนมายังด่านศุลกากรได้
(๒) เมื่อได้รับใบอนุญาตผ่านด่านพรมแดนแล้ว ให้ขนของมายังด่านศุลกากรโดยพลันตามทางอนุมัติด้วยยานพาหนะเดียวกันกับที่ใช้นําเข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรให้เปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหรือให้ขนด้วยวิธีอื่นได้ และมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของหรือหีบห่อหรือภาชนะบรรจุของนั้นด้วยประการใด ๆ
(๓) ยื่นบัญชีสินค้าที่มีลายมือชื่อของพนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและดําเนินพิธีการศุลกากรต่อไป
มาตรา ๘๙ ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนดจํานวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านศุลกากรมายังด่านพรมแดนได้
(๒) เมื่อได้รับใบอนุญาตผ่านด่านศุลกากรแล้ว ให้ขนของมายังด่านพรมแดนโดยพลันตามทางอนุมัติด้วยยานพาหนะเดียวกันกับที่ใช้นําเข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรให้เปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหรือให้ขนด้วยวิธีอื่นได้ และมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของ หีบห่อ หรือภาชนะบรรจุของนั้นด้วยประการใด ๆ
(๓) ยื่นบัญชีสินค้าที่มีลายมือชื่อของพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
มาตรา ๙๐ ในกรณีที่ผู้ส่งของออกได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกตามมาตรา ๕๑ ต่อพนักงานศุลกากรแล้ว แต่มิได้นําของนั้นส่งออกไปภายในกําหนดเจ็ดวันนับแต่วันตรวจปล่อย ให้ผู้ส่งของออกแจ้งเหตุที่ไม่สามารถส่งของนั้นออกไปได้ต่อพนักงานศุลกากรภายในกําหนดสิบวันนับแต่วันที่ทําการตรวจปล่อยโดยให้พนักงานศุลกากรบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในใบขนสินค้านั้น และให้นําของที่ยังมิได้ส่งออกนั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว
ให้ผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับของที่เก็บไว้ตามวรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ขอรับของคืนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานศุลกากร หรือ
(๒) ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทําการตรวจปล่อย
ในกรณีที่ปรากฏว่าของนั้นได้ทําทัณฑ์บนหรือมีประกัน หากผู้ส่งของออกไม่ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ริบของนั้น
มาตรา ๙๑ กรณีการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมิได้ใช้ยานพาหนะ หรือใช้ยานพาหนะที่ไม่มีเครื่องยนต์ หรือใช้สัตว์พาหนะ ผู้ขนส่งต้องหยุดที่ด่านพรมแดน และให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจตรวจของที่ขนส่ง ตลอดจนยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้น และให้ผู้ขนส่งทําบัญชีเกี่ยวกับของที่ขนส่งนั้น โดยมีรายละเอียดตามสมควร

ส่วนที่ ๓
การนําของเข้าและการส่งของออกทางอากาศ
---------------------------

มาตรา ๙๒ อากาศยานลําใดที่จะเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่อากาศยานของทางราชการ ต้องลงในหรือขึ้นจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร
มาตรา ๙๓ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจําเป็นอย่างยิ่งทําให้อากาศยานที่เข้ามาในหรือจะออกไปนอกราชอาณาจักรต้องลงในหรือขึ้นจากที่ใดนอกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ให้ผู้ควบคุมอากาศยานรายงานต่อพนักงานศุลกากรหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจโดยพลันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด และห้ามมิให้ผู้ควบคุมอากาศยานอนุญาตให้ขนของใด ๆ ออกจากหรือขึ้นในอากาศยานนั้น โดยมิได้รับความยินยอมจากพนักงานศุลกากร
เมื่ออากาศยานลงหรือขึ้น ณ สนามบินอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของหรือพนักงานประจําสนามบินนั้นรายงานการลงหรือขึ้นของอากาศยานลํานั้นต่อพนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่สนามบินนั้นตั้งอยู่โดยพลัน และต้องไม่ยอมให้ขนของใด ๆ ออกจากหรือขึ้นในอากาศยาน โดยมิได้รับความยินยอมจากพนักงานศุลกากร
เมื่อได้ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าอากาศยานนั้นได้ลงในหรือขึ้นจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร
มาตรา ๙๔ เมื่ออากาศยานลําใดเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการให้ผู้ควบคุมอากาศยานทํารายงานอากาศยาน พร้อมทั้งยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจําสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
การทํารายงานอากาศยานและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ในกรณีที่อากาศยานตามวรรคหนึ่งมาถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร และมีของจากต่างประเทศอยู่ในอากาศยานและประสงค์จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๖๔ วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๙๕ เมื่ออากาศยานลําใดเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการให้ผู้ควบคุมอากาศยานมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) อํานวยความสะดวกแก่พนักงานศุลกากรในการขึ้นไปบนอากาศยาน
(๒) ตอบคําถามใด ๆ ของพนักงานศุลกากรเกี่ยวกับอากาศยาน คนประจําอากาศยาน คนโดยสาร การเดินทาง และของที่บรรทุกมาในอากาศยานนั้น
(๓) รายงานเกี่ยวกับอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดอันมีอยู่บนอากาศยาน และให้ส่งมอบอาวุธปืนและกระสุนปืนแก่พนักงานศุลกากร เมื่อพนักงานศุลกากรสั่งให้ส่งมอบ สําหรับดินปืนและวัตถุระเบิดให้ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากรซึ่งได้รับมอบหมายเฉพาะเพื่อการนั้น
มาตรา ๙๖ อากาศยานลําใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการ จะต้องได้รับใบปล่อยอากาศยาน โดยให้ผู้ควบคุมอากาศยานมีหน้าที่ทํารายงานอากาศยานและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจําสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับรองรายงานอากาศยานแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยอากาศยานเพื่อให้อากาศยานเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
การทํารายงานอากาศยานและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๙๗ ถ้าอากาศยานที่ได้รับใบปล่อยอากาศยานแล้วได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรแห่งอื่นในราชอาณาจักร ให้ผู้ควบคุมอากาศยานทํารายงานอากาศยานและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจําสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรนั้น พร้อมทั้งแนบใบปล่อยอากาศยานที่ออกให้ภายหลังติดไว้กับใบปล่อยอากาศยานฉบับแรก และต้องทําเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ สนามบินที่เป็นด่านศุลกากรจนกว่าจะได้รับใบปล่อยอากาศยานท้ายสุดออกนอกราชอาณาจักร
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานอากาศยานแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยอากาศยานของสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรนั้น เพื่อให้อากาศยานเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
การทํารายงานและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๙๘ ในกรณีที่ผู้ส่งของออกได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกตามมาตรา ๕๑ ต่อพนักงานศุลกากรแล้ว แต่มิได้นําของนั้นบรรทุกลงในอากาศยานให้แล้วเสร็จก่อนอากาศยานออก ให้ผู้ส่งของออกแจ้งเหตุที่ไม่สามารถนําของนั้นบรรทุกลงในอากาศยานให้แล้วเสร็จต่อพนักงานศุลกากรภายในกําหนดสามวันนับแต่วันที่อากาศยานออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร โดยให้พนักงานศุลกากรบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในใบขนสินค้านั้น และให้นําของที่ยังมิได้บรรทุกลงในอากาศยานนั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว
ให้ผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับของที่เก็บไว้ตามวรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ขอรับของคืนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานศุลกากร หรือ
(๒) ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่อากาศยานลําที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าครั้งแรกออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร
ในกรณีที่ปรากฏว่าของนั้นได้ทําทัณฑ์บนหรือมีประกัน หากผู้ส่งของออกไม่ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ริบของนั้น

ส่วนที่ ๔
ตัวแทน
------------------------

          มาตรา ๙๙ บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอํานาจจากผู้นําของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้นําของผ่านแดนหรือผู้ขอถ่ายลํา ให้เป็นตัวแทนเพื่อดําเนินการอย่างใด ๆ เกี่ยวกับของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ของเพื่อการผ่านแดน หรือของเพื่อการถ่ายลํา หรือกิจการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนตามวรรคหนึ่ง เป็นเจ้าของของที่ได้นําเข้า ส่งออก ผ่านแดนหรือถ่ายลำด้วย
มาตรา ๑๐๐ บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอํานาจจากผู้ควบคุมยานพาหนะให้เป็นตัวแทนเพื่อกระทําหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๑๐๑ ตัวแทนที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๙๙ หรือมาตรา ๑๐๐ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

ในกรณีที่ตัวแทนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอํานาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนการอนุญาตของตัวแทนดังกล่าว โดยไม่ตัดสิทธิที่จะบังคับหลักประกันที่ตัวแทนให้ไว้ตามจํานวนที่เห็นสมควรและไม่ทําให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น


ดร.สงบ สิทธิเดช
Online 19-May-17