วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

หมวด ๘ อำนาจทางศุลกากรในพื้นที่เฉพาะ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๘
อำนาจทางศุลกากรในพื้นที่เฉพาะ
                  

ส่วนที่ ๑
เขตควบคุมศุลกากร
                  

มาตรา ๑๗๕  เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับศุลกากรในเขตท้องที่ใด ให้กำหนดเขตท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศุลกากรโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ภายในเขตควบคุมศุลกากรที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจหรือค้นโรงเรือน สถานที่ ยานพาหนะ หรือบุคคลใด ๆ ไม่ว่าในเวลากลางวันหรือกลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายค้น  ทั้งนี้ พนักงานศุลกากรต้องแสดงเหตุผลอันสมควรก่อนที่จะใช้อำนาจนั้นด้วย
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลที่ถูกตรวจหรือค้นตามวรรคสอง ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร และบุคคลนั้นไม่สามารถแสดงเหตุผลอันสมควรได้ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจจับกุมบุคคลนั้นโดยไม่ต้องมีหมายจับเพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

มาตรา ๑๗๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๕ วรรคหนึ่ง อธิบดีมีอำนาจออกประกาศกำหนดประเภทหรือชนิดแห่งของที่ผู้ทำการค้าภายในเขตควบคุมศุลกากรต้องจัดให้มีบัญชีเพื่อแสดงรายละเอียดแห่งของนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจบัญชีและของที่ระบุไว้ในบัญชีตามวรรคหนึ่ง หากพบว่าของนั้นมีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างจากที่ระบุไว้ในบัญชีโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลอันสมควรได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ของที่มีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่มีไว้หรือได้มาโดยยังไม่ได้เสียอากร

มาตรา ๑๗๗  ภายในเขตควบคุมศุลกากร อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดบริเวณพิเศษเพื่อควบคุมการขนย้ายของในบริเวณดังกล่าว โดยให้มีแผนที่แสดงเขตและระบุท้องที่ที่อยู่ในบริเวณพิเศษนั้นแนบท้ายประกาศด้วย
การขนย้ายของเข้าหรือออก หรือภายในบริเวณพิเศษ ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ส่วนที่ ๒
พื้นที่ควบคุมร่วมกัน
                  

มาตรา ๑๗๘  ในส่วนนี้
พื้นที่ควบคุมร่วมกัน” หมายความว่า พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกันตามกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน
ความตกลง” หมายความว่า ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน

มาตรา ๑๗๙  ให้กรมศุลกากรมีอำนาจทางศุลกากรทั้งปวงในพื้นที่ควบคุมร่วมกันเช่นเดียวกับในเขตศุลกากร

มาตรา ๑๘๐  การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานศุลกากรในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในราชอาณาจักร

มาตรา ๑๘๑  การดำเนินการในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากรที่ตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย ให้พนักงานศุลกากรของรัฐบาลไทยดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
(๒) ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายของประเทศภาคีตามความตกลงและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงร้องขอ ให้พนักงานศุลกากรของรัฐบาลไทยส่งบุคคล สัตว์ พืช ของ ตลอดจนพาหนะ ผู้ควบคุมพาหนะ และคนประจำพาหนะที่ใช้ขนส่งสิ่งดังกล่าวไปยังประเทศภาคีตามความตกลง  ทั้งนี้ อธิบดีอาจยกเว้นอากรที่จะต้องเสียหรือคืนอากรที่ได้เสียไว้แล้วสำหรับของที่นำเข้านั้นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(๓) ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายของประเทศภาคีตามความตกลง ให้พนักงานศุลกากรของรัฐบาลไทยดำเนินการตามกฎหมายไทยและเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้รายงานผลการดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงทราบ และถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงร้องขอ พนักงานศุลกากรของรัฐบาลไทยจะส่งบุคคล สัตว์ พืช ของ ตลอดจนพาหนะ ผู้ควบคุมพาหนะ และคนประจำพาหนะที่ใช้ขนส่งสิ่งดังกล่าวไปยังประเทศภาคีตามความตกลงเมื่อได้มีการดำเนินการตามกฎหมายไทยเสร็จแล้วก็ได้

มาตรา ๑๘๒  การดำเนินการในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร ที่ตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร ให้พนักงานศุลกากรของรัฐบาลไทยร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงให้ส่งบุคคล สัตว์ พืช ของ ตลอดจนพาหนะ ผู้ควบคุมพาหนะ และคนประจำพาหนะที่ใช้ขนส่งสิ่งดังกล่าวมายังราชอาณาจักรเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากรต่อไป
การดำเนินการในกรณีที่มีการกระทำความผิดทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายของประเทศภาคีตามความตกลงที่เกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดนที่ตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักรพนักงานศุลกากรของรัฐบาลไทยจะร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงให้ส่งบุคคล สัตว์ พืช ของ ตลอดจนพาหนะ ผู้ควบคุมพาหนะ และคนประจำพาหนะที่ใช้ขนส่งสิ่งดังกล่าวมายังราชอาณาจักร เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรก็ได้

มาตรา ๑๘๓  ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการศุลกากรในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน

ส่วนที่ ๓
การค้าชายฝั่ง
                  

มาตรา ๑๘๔  การค้าชายฝั่ง หมายถึง การขนส่งของทางทะเลจากท่าหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังอีกท่าหนึ่งในราชอาณาจักร เพื่อรับค่าตอบแทนในการขนส่งของ รวมทั้งการซื้อขายของที่ขนมานั้น
ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดรูปแบบและลักษณะที่ถือว่าเป็นการค้าชายฝั่งตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๑๘๕  เรือที่ทำการค้าชายฝั่งที่จะออกจากท่า ให้นายเรือทำบัญชีสินค้าแสดงรายละเอียดแห่งของในเรือยื่นต่อพนักงานศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับบัญชีสินค้าตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบปล่อยสินค้าและปล่อยเรือ
เมื่อเรือที่ทำการค้าชายฝั่งมาถึงท่าอีกแห่งหนึ่งแล้ว ให้นายเรือแสดงใบอนุญาตปล่อยสินค้าและปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เรือนั้นมาถึงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือมาถึงเพื่อตรวจสอบของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือนั้นว่าถูกต้องตรงกับบัญชีสินค้าที่บรรทุกหรือขนส่งมาจากท่าเรือต้นทาง
ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือมีชนิด ประเภท ปริมาณแตกต่างจากบัญชีสินค้า ให้สันนิษฐานว่าของที่มีชนิด ประเภท หรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่นำเข้าหรือส่งออกโดยยังมิได้เสียอากร
ก่อนการขนถ่ายของขึ้นจากเรือ นายเรือต้องยื่นใบอนุญาตปล่อยสินค้าและใบปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากร เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรแล้วจึงจะทำการขนถ่ายของขึ้นได้ โดยต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เรือนั้นเดินทางไปถึง

มาตรา ๑๘๖  ให้นายเรือเก็บรักษาบัญชีสินค้าตามมาตรา ๑๘๕ ทุกเที่ยวการเดินเรือไว้ในเรือนั้นเป็นระยะเวลาสามเดือน เพื่อให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบและจดบันทึกการตรวจสอบลงในบัญชีสินค้านั้น

มาตรา ๑๘๗  ห้ามมิให้ขนถ่ายของจากเรือที่ทำการค้าชายฝั่งในระหว่างเดินทาง เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และได้แจ้งเหตุดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เรือนั้นมาถึง

ส่วนที่ ๔
เขตต่อเนื่อง
                  

มาตรา ๑๘๘  เรือทุกลำที่เข้ามาหรือหยุดลอยลำหรือจอดเรือในเขตต่อเนื่องต้องตอบคำถามของพนักงานศุลกากรเกี่ยวกับเรือ คนประจำเรือ คนโดยสาร การเดินทาง ลักษณะแห่งของในเรือ และสิ่งที่นำมาในเรือ และต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันควรของพนักงานศุลกากร

มาตรา ๑๘๙  ห้ามมิให้เรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องขนถ่ายของใด ๆ โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
ของใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรานี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

มาตรา ๑๙๐  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๑๕๗ (๒) มาตรา ๑๖๐ มาตรา ๑๖๔ มาตรา ๑๖๕ มาตรา ๑๖๗ มาตรา ๑๖๙ และมาตรา ๑๗๐ มาใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นในเขตต่อเนื่อง และให้นำบทกำหนดโทษที่เกี่ยวกับบทบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งบทกำหนดโทษตามมาตรา ๒๑๒ มาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๙ และมาตรา ๒๔๑ มาใช้บังคับด้วย

มาตรา ๑๙๑  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการลักลอบหรือจะลักลอบหนีศุลกากรหรือมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในเขตต่อเนื่อง ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจสั่งให้นายเรือหยุดลอยลำหรือนำเรือไปยังที่ใดที่หนึ่ง เพื่อการตรวจหรือค้น จับกุม หรือดำเนินคดีได้
เมื่อพนักงานศุลกากรได้จับผู้กระทำความผิดและส่งให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ใดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นมีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ทั้งนี้ มิให้นับระยะเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้กระทำความผิดส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ส่วนที่ ๕
พื้นที่พัฒนาร่วม
                  

มาตรา ๑๙๒  ในส่วนนี้
พื้นที่พัฒนาร่วม” หมายความว่า พื้นที่พัฒนาร่วมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย
ของที่ได้รับความเห็นชอบทางศุลกากร” หมายความว่า ของที่ได้รับยกเว้นอากรศุลกากรทั้งตามกฎหมายของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียที่เกี่ยวกับศุลกากร

มาตรา ๑๙๓  การจัดระเบียบการเคลื่อนย้ายของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปจากพื้นที่พัฒนาร่วมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

มาตรา ๑๙๔  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๕ มาตรา ๑๙๖ และมาตรา ๑๙๙ (๔) กรมศุลกากรยังคงใช้อำนาจทางศุลกากรทั้งปวงที่เกี่ยวกับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปจากพื้นที่พัฒนาร่วม

มาตรา ๑๙๕  การเคลื่อนย้ายของใด ๆ เข้ามาในหรือส่งออกไปจากพื้นที่พัฒนาร่วม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ของใด ๆ ที่เข้ามาในพื้นที่พัฒนาร่วมจาก
(ก) ประเทศอื่นใดนอกจากราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย คลังสินค้าใด ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตหรือบริเวณทัณฑ์บนของราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ให้ถือว่าเป็นของนำเข้า
(ข) ราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ให้ถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ  ทั้งนี้ ของนั้นจะต้องเป็นของที่ได้รับความเห็นชอบทางศุลกากร เครื่องมือเครื่องใช้ และวัสดุสิ่งของสำหรับใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วม
(๒) ของที่ผลิตในพื้นที่พัฒนาร่วมที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือไปยังมาเลเซียหรือประเทศที่สามให้ถือว่าเป็นของส่งออก
(๓) ของที่เคลื่อนย้ายเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วมตาม (๑) (ข) และต่อมาของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายของราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๙๖  ของใด ๆ ที่จัดอยู่ในบัญชีของต้องห้ามตามกฎหมายของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วม เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นจะต้องมีการยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้ารายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ การยกเว้นนั้นจะกระทำได้ก็ด้วยความตกลงระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย

มาตรา ๑๙๗  การนำเข้า การส่งออก และการเคลื่อนย้ายภายในสำหรับของในพื้นที่พัฒนาร่วมให้ใช้แบบศุลกากรตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๑๙๘  พนักงานศุลกากรย่อมมีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากรรวมทั้งการเก็บอากรในเรื่องที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และใช้อำนาจนั้นได้ภายในบริเวณที่ทำการศุลกากรร่วม
ที่ทำการศุลกากรร่วม” หมายความว่า ที่ทำการของคณะกรรมการศุลกากรร่วมที่จัดตั้งขึ้นในสำนักงานใหญ่ขององค์กรร่วม เพื่อวัตถุประสงค์ของการประสานงานด้านการดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิตในพื้นที่พัฒนาร่วม
คณะกรรมการศุลกากรร่วม” หมายความว่า คณะกรรมการที่ประกอบด้วยพนักงานศุลกากรและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานศุลกากรและสรรพสามิตของมาเลเซียที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ของการประสานงานด้านการดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิตในพื้นที่พัฒนาร่วม

มาตรา ๑๙๙  การกระทำที่ได้ทำลงในพื้นที่พัฒนาร่วม
(๑) หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากรของราชอาณาจักรไทยหรือมาเลเซีย ประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศที่มีการอ้างว่ากฎหมายของตนถูกละเมิดมีสิทธิเข้าใช้เขตอำนาจเหนือความผิดนั้น
(๒) หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากรของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย ประเทศที่เจ้าพนักงานของตนเป็นผู้ทำการจับกุมหรือยึดเป็นคนแรกในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวมีสิทธิเข้าใช้เขตอำนาจเหนือความผิดนั้น
(๓) หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากรของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย และเป็นกรณีที่มีการจับกุมหรือยึดพร้อมกันโดยกรมศุลกากรและหน่วยงานศุลกากรและสรรพสามิตของมาเลเซีย ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ประเทศที่มีสิทธิเข้าใช้เขตอำนาจเหนือความผิดนั้นให้กำหนดโดยการหารือระหว่างกรมศุลกากร และหน่วยงานศุลกากรและสรรพสามิตของมาเลเซีย
(๔) เงินที่ได้จากการขายของซึ่งเป็นผลิตผลของพื้นที่พัฒนาร่วมที่ถูกริบให้แบ่งเท่ากันระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย

มาตรา ๒๐๐  เพื่อประโยชน์แห่งส่วนนี้ คำว่า “ราชอาณาจักร” ในพระราชบัญญัตินี้ให้หมายความถึง “พื้นที่พัฒนาร่วม

มาตรา ๒๐๑  ให้ศาลภาษีอากรกลาง ศาลจังหวัดสงขลา หรือศาลอาญา มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีศุลกากรที่เกี่ยวกับพื้นที่พัฒนาร่วม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น