วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

หมวด ๓ การนำของเข้าและการส่งของออก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๓
การนําของเข้าและการส่งของออก
-------------------------

มาตรา ๕๐ การนําของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสําเร็จ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การนําของเข้าทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อเรือที่นําของเข้ามานั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ส่วนการส่งของออกทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อเรือที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตท่าท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
(๒) การนําของเข้าทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อยานพาหนะที่นําของเข้ามานั้นได้เข้ามาถึงเขตด่านพรมแดน ส่วนการส่งของออกทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อยานพาหนะที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตด่านพรมแดนเพื่อไปจากราชอาณาจักร
(๓) การนําของเข้าทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่ออากาศยานที่นําของเข้ามานั้นได้ถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ส่วนการส่งของออกทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่ออากาศยานที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
(๔) การนําของเข้าทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อได้เปิดถุงไปรษณีย์ ส่วนการส่งของออกทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสําเร็จเมื่อได้ปิดถุงไปรษณีย์และได้ดําเนินการส่งออกตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๕๑ ก่อนที่จะนําของใดไปจากอารักขาของศุลกากรหรือก่อนที่จะส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียอากรจนครบถ้วนหรือวางประกันไว้
การยื่นใบขนสินค้า การเสียอากร และการวางประกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอและอธิบดีเห็นว่ามีความจําเป็นต้องนําของใดออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือต้องส่งของใดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร่งด่วน อธิบดีมีอํานาจอนุญาตให้นําของนั้นไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรโดยยังไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าให้สมบูรณ์หรือยังไม่ต้องเสียอากรจนครบถ้วน ทั้งนี้ อธิบดีอาจกําหนดเงื่อนไขให้ผู้ร้องขอต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ และในกรณีที่ต้องเสียอากร ให้ผู้ร้องขอวางประกันค่าอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๕๒ เมื่อนําของเข้ามาในหรือจะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชนิดแห่งของ
(๒) ปริมาณ น้ําหนัก และคุณภาพแห่งของ
(๓) ราคาศุลกากร
(๔) ประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทาง
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ตรวจสอบรายการที่แสดงไว้ในใบขนสินค้าแล้วเห็นว่ารายการที่แสดงไว้นั้นครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรลงนามรับรองในใบขนสินค้าหรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่อธิบดีกําหนดเพื่อรับรองว่ารายการที่ได้แสดงไว้นั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๕๓ ของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร หากเป็นของติดตัวผู้โดยสารและมีมูลค่าไม่เกินจํานวนที่อธิบดีประกาศกําหนด ผู้นําของเข้าไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าสําหรับของนั้น
ในกรณีที่ของตามวรรคหนึ่งเป็นของที่ต้องเสียอากร ให้ผู้นําของเข้าเสียอากรเมื่อได้สําแดงของดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร หรือเมื่อพนักงานศุลกากรตรวจพบว่าของดังกล่าวเป็นของที่ต้องเสียอากร
มาตรา ๕๔ ในกรณีที่ผู้นําของเข้าไม่สามารถทําใบขนสินค้าสําหรับของใดได้ เพราะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับของนั้นทั้งหมด ผู้นําของเข้าอาจยื่นคําขออนุญาตเปิดตรวจของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรนั้นได้ โดยให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อครบกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นําของเข้าได้รับอนุญาตให้เปิดตรวจของตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้นําของเข้ายังไม่ยื่นใบขนสินค้าและไม่เสียอากรหรือวางประกันให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าของที่มีการเปิดตรวจนั้นเป็นของตกค้าง
มาตรา ๕๕ ในกรณีที่พนักงานศุลกากรเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจํานวนเงินอากรสําหรับของที่กําลังผ่านพิธีการศุลกากร ให้นําของนั้นไปยังศุลกสถานหรือนําไปเก็บไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีความมั่นคงปลอดภัย เว้นแต่พนักงานศุลกากรและผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะตกลงให้เก็บตัวอย่างของไว้เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว รวมทั้งได้เสียอากรตามจํานวนที่สําแดงไว้ในใบขนสินค้าและได้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันหรือวางประกันเป็นอย่างอื่นจนครบจํานวนเงินอากรสูงสุดที่อาจต้องเสียสําหรับของนั้น
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ประเมินอากรที่ต้องเสียและแจ้งผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกให้เสียอากรแล้ว ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องเสียอากรตามจํานวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการวางเงินประกันตามวรรคหนึ่ง และเงินดังกล่าวคุ้มค่าอากรแล้ว ให้พนักงานศุลกากรเก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจํานวนที่ประเมินได้ และให้ถือว่าผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้เสียอากรครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๕๖ ให้ผู้ควบคุมยานพาหนะทําการบรรทุกหรือขนถ่ายของหรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับของที่นําเข้าหรือของที่จะส่งออกที่ต้องมีพนักงานศุลกากรกํากับในเวลาที่กําหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ทําการบรรทุกหรือขนถ่ายของดังกล่าวในเวลาอื่นได้
มาตรา ๕๗ การบรรทุกของลงหรือขนขึ้นจากยานพาหนะ การขนถ่ายของ การนําของไปยังที่สําหรับตรวจ การชั่งของ การบรรจุใหม่ นํามารวม คัดเลือก แบ่งแยก ทําเครื่องหมาย และลงเลขหมายหรือการอนุญาตให้กระทําการนั้น หรือการขนย้ายของไปเก็บในที่สําหรับเก็บจนกว่าจะได้รับมอบไป ให้เป็นหน้าที่ของผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออก โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
มาตรา ๕๘ การขนถ่ายของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องขนถ่ายในเขตขนถ่ายของเท่านั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ขนถ่ายในสถานที่อื่นได้โดยอธิบดีอาจเรียกให้ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออก แล้วแต่กรณี หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่อื่นนั้นวางประกันได้
มาตรา ๕๙ หีบห่อหรือภาชนะบรรจุของที่จะนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องมีเครื่องหมายหรือเลขหมายกํากับหีบห่อหรือภาชนะบรรจุของนั้น และต้องแสดงเครื่องหมายหรือเลขหมายนั้นไว้ในเอกสารที่เกี่ยวกับของนั้นด้วย
มาตรา ๖๐ ของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์ตามมาตรา ๕๐ (๔) ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนําเข้าหรือส่งออกแสดงรายการเกี่ยวกับของนั้น
ในกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นกับการนําของเข้าหรือส่งของออกตามวรรคหนึ่ง ให้ความรับผิดและโทษนั้นตกแก่บุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ผู้มีชื่อที่จะรับของอันนําเข้ามาหรือผู้รับของ สําหรับการนําของเข้า หรือ
(๒) ผู้ส่งของอันจะส่งออกไปหรือผู้นําของส่ง ณ ที่ทําการไปรษณีย์ สําหรับการส่งของออก
มาตรา ๖๑ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๒๔๒ มาตรา ๒๔๓ มาตรา ๒๔๔ และมาตรา ๒๔๕ มาใช้บังคับกับของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์ด้วย
มาตรา ๖๒ พนักงานศุลกากรอาจตรวจห่อพัสดุไปรษณีย์ที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย พนักงานศุลกากรอาจกักจดหมายหรือห่อพัสดุไปรษณีย์ไว้ได้ จนกว่าผู้จะส่งของออกไปหรือผู้นําของส่ง หรือผู้มีชื่อที่จะรับของหรือผู้รับของ ได้แสดงต่อพนักงานศุลกากรว่าไม่มีของต้องห้าม ของต้องกํากัด หรือของที่ยังมิได้เสียอากรในจดหมายหรือในห่อพัสดุนั้น
มาตรา ๖๓ ผู้นําของเข้า ผู้ส่งของออก ผู้ขนส่ง และบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องตามที่อธิบดีประกาศกําหนด มีหน้าที่เก็บและรักษาบัญชี เอกสาร หลักฐาน และข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับของที่กําลังผ่านหรือได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่นําของเข้าหรือส่งของออก
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเลิกประกอบกิจการ ให้บุคคลดังกล่าวหรือผู้ชําระบัญชีเก็บและรักษาบัญชี เอกสาร หลักฐาน และข้อมูลดังกล่าวไว้ต่อไปอีกสองปีนับแต่วันเลิกประกอบกิจการ
การเก็บและรักษาบัญชี เอกสาร หลักฐาน และข้อมูลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

ส่วนที่ ๑
การนําของเข้าและการส่งของออกทางทะเล
--------------------------

มาตรา ๖๔ เรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่เรือของทางราชการ ให้นายเรือมีหน้าที่ทํารายงานเรือเข้าและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือและแสดงใบทะเบียนเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
การทํารายงานเรือเข้าและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ในกรณีที่เรือตามวรรคหนึ่งมาถึงท่าที่เป็นด่านศุลกากร และมีของจากต่างประเทศอยู่ในเรือและประสงค์จะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร หรือมีของที่จะขนขึ้น ณ ที่อื่นภายในราชอาณาจักร นายเรือต้องแถลงข้อความเกี่ยวกับของนั้นไว้ในรายงานเรือเข้าด้วย
มาตรา ๖๕ ให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจสั่งห้ามเคลื่อนย้ายของในเรือที่มิได้แสดงไว้ในรายงานเรือเข้าจนกว่าจะได้รับรายงานที่ถูกต้องจากนายเรือหรือจนกว่านายเรือจะได้อธิบายเหตุผลที่ไม่สามารถแสดงของดังกล่าวไว้ในรายงานเรือเข้าได้
มาตรา ๖๖ ถ้านายเรือได้รายงานต่อพนักงานศุลกากรว่า ตนไม่ทราบว่าของที่อยู่ในหีบห่อหรือภาชนะบรรจุที่บรรทุกมาในเรือนั้นเป็นสิ่งใด พนักงานศุลกากรจะสั่งให้เปิดหีบห่อหรือภาชนะบรรจุนั้นออกเพื่อตรวจสอบก็ได้ และหากปรากฏว่าในหีบห่อหรือภาชนะบรรจุนั้นมีของต้องห้าม ให้ยึดของนั้นไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
มาตรา ๖๗ เรือที่เดินทางมาจากต่างประเทศเมื่อมาถึงเขตท่าต้องหยุดลอยลํา ณ ด่านตรวจที่กําหนดไว้ และให้นายเรือมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) อํานวยความสะดวกแก่พนักงานศุลกากรในการที่จะขึ้นบนเรือและเข้าไปในเรือ
(๒) ทอดสมอเรือ เมื่อพนักงานศุลกากรสั่ง
(๓) ตอบคําถามใด ๆ ของพนักงานศุลกากรเกี่ยวกับเรือ คนประจําเรือ คนโดยสาร การเดินทางและลักษณะแห่งของในเรือ
(๔) รายงานเกี่ยวกับอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดอันมีอยู่ในเรือและให้ส่งมอบอาวุธปืนและกระสุนปืนแก่พนักงานศุลกากรกํากับด่านตรวจ เมื่อพนักงานศุลกากรสั่งให้ส่งมอบ สําหรับดินปืนและวัตถุระเบิดให้ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากรซึ่งได้รับมอบหมายเฉพาะเพื่อการนั้น
(๕) จัดที่พักบนเรือให้แก่พนักงานศุลกากรตามสมควร
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามคําสั่งอันสมควรของพนักงานศุลกากรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการทางศุลกากร
มาตรา ๖๘ เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาสิบวันนับแต่เรือมาถึงเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากร หากนายเรือมิได้ดําเนินการขนของขึ้นจากเรือให้แล้วเสร็จ หรือผู้นําของเข้ามิได้ดําเนินการยื่นใบขนสินค้าหรือมิได้ดําเนินการเพื่อให้พนักงานศุลกากรตรวจของหรือส่งมอบของไปโดยถูกต้อง พนักงานศุลกากรอาจสั่งให้มีการนําของนั้นมาเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด โดยให้นายเรือหรือผู้นําของเข้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาของดังกล่าว
พนักงานศุลกากรจะอนุญาตให้คืนของที่นํามาเก็บไว้ตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้นําของเข้าได้ต่อเมื่อมีการชําระค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวแก่ของนั้นเสร็จสิ้นแล้ว
มาตรา ๖๙ เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลายี่สิบเอ็ดวันนับแต่เรือมาถึงเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากรหากนายเรือมิได้ดําเนินการขนของขึ้นจากเรือให้แล้วเสร็จ พนักงานศุลกากรมีอํานาจสั่งกักเรือลําดังกล่าวนั้นไว้ได้จนกว่านายเรือจะได้ขนของขึ้นจากเรือจนหมด โดยนายเรือต้องชําระค่าใช้จ่ายในการเฝ้ารักษาของดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นอันพึงมีด้วย
อธิบดีอาจยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งได้ หากนายเรือได้แสดงหลักฐานอันสมควรว่าการชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
มาตรา ๗๐ ห้ามมิให้ขนของที่จะส่งออกบรรทุกลงในเรือลําใดจนกว่าพนักงานศุลกากรได้ออกใบปล่อยเรือขาเข้าให้แก่เรือนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ขนของบรรทุกลงในเรือนั้นได้ก่อนที่จะได้รับใบปล่อยเรือขาเข้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๗๑ เรือลําใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากท่าที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่เรือของทางราชการจะต้องได้รับใบปล่อยเรือขาออก โดยให้นายเรือมีหน้าที่ทํารายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออก
การทํารายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๗๒ ถ้าเรือที่ได้รับใบปล่อยเรือขาออกแล้วได้ออกจากท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งอื่นในราชอาณาจักร ให้นายเรือทํารายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือที่บรรทุกขึ้นเรือนั้นต่อพนักงานศุลกากรประจําท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น พร้อมทั้งแนบใบปล่อยเรือขาออกที่ออกให้ภายหลังติดไว้กับใบปล่อยเรือฉบับแรก และต้องทําเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เป็นด่านศุลกากรจนกว่าจะได้รับใบปล่อยเรือขาออกท้ายสุดออกนอกราชอาณาจักร
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออกของท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น เพื่อให้เรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
การทํารายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๗๓ ในกรณีที่มีการส่งมอบอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดไว้แก่พนักงานศุลกากรตามมาตรา ๖๗ (๔) เมื่อเรือลํานั้นจะออกจากเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากร ให้คืนของดังกล่าวแก่นายเรือ
มาตรา ๗๔ เรือทุกลําเมื่อเดินทางผ่านด่านตรวจของกรมศุลกากรเพื่อออกสู่ทะเลต้องลดความเร็วลง และให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจเรียกให้นายเรือตอบคําถามเกี่ยวกับชื่อเรือและสถานที่ที่จะเดินทางไปได้
มาตรา ๗๕ เมื่อพ้นกําหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่เริ่มบรรทุกของขาออกลงในเรือ ไม่ว่าจะบรรทุกของลงในเรือครบถ้วนแล้วหรือไม่ แต่เรือยังอยู่ในเขตท่า พนักงานศุลกากรอาจเรียกค่าธรรมเนียมสําหรับการประจําการในเรือนั้นได้
อธิบดีอาจยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งได้ หากนายเรือได้แสดงหลักฐานอันสมควรว่าการชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
พนักงานศุลกากรอาจกักเรือที่บรรทุกของตามวรรคหนึ่งไว้ได้จนกว่านายเรือจะได้ชําระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกักเรือนั้น
มาตรา ๗๖ ในกรณีที่ผู้ส่งของออกได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกตามมาตรา ๕๑ ต่อพนักงานศุลกากรแล้ว แต่มิได้นําของนั้นบรรทุกลงในเรือให้แล้วเสร็จก่อนเรือออก ให้ผู้ส่งของออกแจ้งเหตุที่ไม่สามารถนําของนั้นบรรทุกลงในเรือให้แล้วเสร็จต่อพนักงานศุลกากรภายในกําหนดสามวันนับแต่วันที่เรือออกจากท่า โดยให้พนักงานศุลกากรบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในใบขนสินค้านั้น และให้นําของที่ยังมิได้บรรทุกลงในเรือนั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว
ให้ผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับของที่เก็บไว้ตามวรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ขอรับของคืนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานศุลกากร หรือ
(๒) ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่เรือลําที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าครั้งแรกออกจากท่า
ในกรณีที่ปรากฏว่าของนั้นได้ทําทัณฑ์บนหรือมีประกัน หากผู้ส่งของออกไม่ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ริบของนั้น
มาตรา ๗๗ เรือทุกลําเว้นแต่เรือของทางราชการที่จะออกจากท่าต้องชักธงลาขึ้นที่เสาหน้าไว้จนกว่าเรือจะออก ถ้าเรือจะออกเวลาบ่ายให้ชักธงลาขึ้นไว้แต่เช้า ถ้าเรือจะออกเวลาเช้าให้ชักธงลาขึ้นไว้ตั้งแต่บ่ายวันก่อน
มาตรา ๗๘ อธิบดีมีอํานาจกําหนดเขตที่จอดเรือภายนอกเพื่อให้เรือขนถ่ายของโดยที่ไม่ต้องเข้ามาในเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากร และให้กําหนดเวลาที่จะให้ใช้ที่จอดเรือภายนอกนั้นไว้ด้วย
ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือความจําเป็นเร่งด่วน อธิบดีอาจอนุญาตให้ขนถ่ายของนอกเขตที่จอดเรือภายนอกได้เป็นการเฉพาะคราว ทั้งนี้ อธิบดีอาจกําหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้
มาตรา ๗๙ นายเรือที่ประสงค์จะขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอก ให้ยื่นคําขออนุญาตต่ออธิบดี
การขออนุญาตและการอนุญาตให้ขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอกตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๘๐ ให้นายเรือที่ได้รับอนุญาตให้ขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอกจัดทําและยื่นบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายโดยเรือลําเลียงแต่ละลําต่อพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกได้รับบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบอนุญาตให้นําของในเรือลําเลียงนั้นเข้าไปยังเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากรได้
เมื่อเรือลําเลียงมาถึงท่าที่เป็นด่านศุลกากรแล้ว ให้นายเรือประจําเรือลําเลียงนั้นส่งมอบบัญชีสินค้าให้แก่พนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรนั้น แล้วจึงขนถ่ายของและดําเนินพิธีการศุลกากรต่อไป
มาตรา ๘๑ ห้ามมิให้ขนถ่ายอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน วัตถุระเบิด หรือของต้องกํากัด ณ ที่จอดเรือภายนอก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
มาตรา ๘๒ ในกรณีที่จะส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยต้องมีการขนถ่ายในเขตที่จอดเรือภายนอก ผู้ส่งของออกต้องยื่นใบขนสินค้าโดยเสียค่าอากรและค่าภาระติดพันให้ครบถ้วนก่อน และให้จัดทําและยื่นบัญชีสินค้าที่ขนถ่ายโดยเรือลําเลียงแต่ละลําต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับบัญชีสินค้าที่ขนถ่ายตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ส่งบัญชีสินค้านั้นไปกับเรือลําเลียง และเมื่อเรือลําเลียงได้ไปถึงเขตที่จอดเรือภายนอกแล้ว ให้นายเรือประจําเรือลําเลียงยื่นบัญชีสินค้าแก่พนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกนั้น
ในกรณีที่พนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกตรวจสอบแล้วพบว่า รายละเอียดที่แสดงไว้ในบัญชีสินค้าไม่ตรงกับของที่บรรทุกมาในเรือลําเลียงนั้น ให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจกักของที่บรรทุกมาในเรือลําเลียงได้จนกว่าจะแก้ไขบัญชีสินค้าให้ถูกต้อง
มาตรา ๘๓ ในกรณีที่นําของไปยังเขตที่จอดเรือภายนอกตามมาตรา ๘๒ แล้ว แต่ไม่มีการบรรทุกของนั้นลงในเรือหรือบรรทุกลงไม่หมด ให้นายเรือหรือผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นคําขออนุญาตต่อพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกเพื่อบรรทุกของดังกล่าวลงในเรือลําอื่นที่อยู่ในเขตที่จอดเรือภายนอกนั้นที่จะเดินทางไปยังท่าเรือต่างประเทศเดียวกันกับที่ระบุไว้ในใบขนสินค้า
(๒) ส่งของกลับมายังท่าที่ส่งออกไป โดยต้องขอใบรับรองที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับของนั้นจากพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกเพื่อนํามาส่งมอบแก่พนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรและให้นําของที่ส่งกลับมานั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด โดยให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว และให้นําบทบัญญัติมาตรา ๗๖ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับของที่เก็บไว้
การยื่นคําขออนุญาตตาม (๑) และการขอใบรับรองตาม (๒) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๘๔ ก่อนที่เรือจะออกจากเขตที่จอดเรือภายนอก นายเรือซึ่งได้รับอนุญาตให้ทําการขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการขนถ่ายของที่นําเข้ามาในหรือจะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องไปรับเอาใบปล่อยเรือจากพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด โดยต้องใช้ค่าภาระติดพันให้ครบถ้วน และส่งมอบใบปล่อยเรือดังกล่าวให้แก่พนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกนั้น
ในกรณีพนักงานศุลกากรผู้กํากับที่จอดเรือภายนอกตรวจสอบพบว่า ยังมีของที่ยังมิได้เสียอากร ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่พึงต้องชําระให้ครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรนั้นมีอํานาจยึดใบปล่อยเรือไว้ได้จนกว่าจะได้มีการชําระเงินดังกล่าวหรือวางประกันเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๘๕ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๗ มาใช้กับเรือที่มีการขนถ่ายของ
ในเขตที่จอดเรือภายนอกด้วย

ส่วนที่ ๒
การนําของเข้าและการส่งของออกทางบก
--------------------------

มาตรา ๘๖ การขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตั้งแต่เขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากร หรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนทางบก ต้องขนส่งตามทางอนุมัติ และภายในกําหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกําหนด
การขนส่งของตามทางอื่นนอกจากทางอนุมัติหรือในเวลาอื่นนอกจากที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๘๗ ในกรณีที่การขนส่งของตามมาตรา ๘๖ เป็นการขนส่งตามลําน้ำที่เป็นเขตแดนทางบก ให้อธิบดีมีอํานาจประกาศกําหนดเขตพื้นที่ตามลําน้ำที่เป็นเขตแดนทางบกนั้น เพื่อให้นายเรือจอดเทียบท่าและขนถ่ายของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
มาตรา ๘๘ ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนดจํานวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านพรมแดนมายังด่านศุลกากรได้
(๒) เมื่อได้รับใบอนุญาตผ่านด่านพรมแดนแล้ว ให้ขนของมายังด่านศุลกากรโดยพลันตามทางอนุมัติด้วยยานพาหนะเดียวกันกับที่ใช้นําเข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรให้เปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหรือให้ขนด้วยวิธีอื่นได้ และมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของหรือหีบห่อหรือภาชนะบรรจุของนั้นด้วยประการใด ๆ
(๓) ยื่นบัญชีสินค้าที่มีลายมือชื่อของพนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและดําเนินพิธีการศุลกากรต่อไป
มาตรา ๘๙ ในการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นบัญชีสินค้าแสดงรายการของทั้งปวงที่ขนส่งต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนดจํานวนสองฉบับ ให้พนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรตรวจของที่ขนส่งมานั้น และเมื่อเห็นว่าของดังกล่าวถูกต้องตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้า ให้สั่งปล่อยของพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัญชีสินค้าแล้วส่งคืนแก่ผู้ขนส่งหนึ่งฉบับ โดยให้ถือว่าบัญชีสินค้านั้นเป็นใบอนุญาตให้ผ่านด่านศุลกากรมายังด่านพรมแดนได้
(๒) เมื่อได้รับใบอนุญาตผ่านด่านศุลกากรแล้ว ให้ขนของมายังด่านพรมแดนโดยพลันตามทางอนุมัติด้วยยานพาหนะเดียวกันกับที่ใช้นําเข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรให้เปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหรือให้ขนด้วยวิธีอื่นได้ และมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของ หีบห่อ หรือภาชนะบรรจุของนั้นด้วยประการใด ๆ
(๓) ยื่นบัญชีสินค้าที่มีลายมือชื่อของพนักงานศุลกากรประจําด่านศุลกากรต่อพนักงานศุลกากรประจําด่านพรมแดนเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
มาตรา ๙๐ ในกรณีที่ผู้ส่งของออกได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกตามมาตรา ๕๑ ต่อพนักงานศุลกากรแล้ว แต่มิได้นําของนั้นส่งออกไปภายในกําหนดเจ็ดวันนับแต่วันตรวจปล่อย ให้ผู้ส่งของออกแจ้งเหตุที่ไม่สามารถส่งของนั้นออกไปได้ต่อพนักงานศุลกากรภายในกําหนดสิบวันนับแต่วันที่ทําการตรวจปล่อยโดยให้พนักงานศุลกากรบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในใบขนสินค้านั้น และให้นําของที่ยังมิได้ส่งออกนั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว
ให้ผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับของที่เก็บไว้ตามวรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ขอรับของคืนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานศุลกากร หรือ
(๒) ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทําการตรวจปล่อย
ในกรณีที่ปรากฏว่าของนั้นได้ทําทัณฑ์บนหรือมีประกัน หากผู้ส่งของออกไม่ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ริบของนั้น
มาตรา ๙๑ กรณีการขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมิได้ใช้ยานพาหนะ หรือใช้ยานพาหนะที่ไม่มีเครื่องยนต์ หรือใช้สัตว์พาหนะ ผู้ขนส่งต้องหยุดที่ด่านพรมแดน และให้พนักงานศุลกากรมีอํานาจตรวจของที่ขนส่ง ตลอดจนยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้น และให้ผู้ขนส่งทําบัญชีเกี่ยวกับของที่ขนส่งนั้น โดยมีรายละเอียดตามสมควร

ส่วนที่ ๓
การนําของเข้าและการส่งของออกทางอากาศ
---------------------------

มาตรา ๙๒ อากาศยานลําใดที่จะเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่อากาศยานของทางราชการ ต้องลงในหรือขึ้นจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร
มาตรา ๙๓ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจําเป็นอย่างยิ่งทําให้อากาศยานที่เข้ามาในหรือจะออกไปนอกราชอาณาจักรต้องลงในหรือขึ้นจากที่ใดนอกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ให้ผู้ควบคุมอากาศยานรายงานต่อพนักงานศุลกากรหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจโดยพลันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด และห้ามมิให้ผู้ควบคุมอากาศยานอนุญาตให้ขนของใด ๆ ออกจากหรือขึ้นในอากาศยานนั้น โดยมิได้รับความยินยอมจากพนักงานศุลกากร
เมื่ออากาศยานลงหรือขึ้น ณ สนามบินอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของหรือพนักงานประจําสนามบินนั้นรายงานการลงหรือขึ้นของอากาศยานลํานั้นต่อพนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่สนามบินนั้นตั้งอยู่โดยพลัน และต้องไม่ยอมให้ขนของใด ๆ ออกจากหรือขึ้นในอากาศยาน โดยมิได้รับความยินยอมจากพนักงานศุลกากร
เมื่อได้ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าอากาศยานนั้นได้ลงในหรือขึ้นจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร
มาตรา ๙๔ เมื่ออากาศยานลําใดเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการให้ผู้ควบคุมอากาศยานทํารายงานอากาศยาน พร้อมทั้งยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจําสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
การทํารายงานอากาศยานและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ในกรณีที่อากาศยานตามวรรคหนึ่งมาถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร และมีของจากต่างประเทศอยู่ในอากาศยานและประสงค์จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๖๔ วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๙๕ เมื่ออากาศยานลําใดเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการให้ผู้ควบคุมอากาศยานมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) อํานวยความสะดวกแก่พนักงานศุลกากรในการขึ้นไปบนอากาศยาน
(๒) ตอบคําถามใด ๆ ของพนักงานศุลกากรเกี่ยวกับอากาศยาน คนประจําอากาศยาน คนโดยสาร การเดินทาง และของที่บรรทุกมาในอากาศยานนั้น
(๓) รายงานเกี่ยวกับอาวุธปืน กระสุนปืน ดินปืน หรือวัตถุระเบิดอันมีอยู่บนอากาศยาน และให้ส่งมอบอาวุธปืนและกระสุนปืนแก่พนักงานศุลกากร เมื่อพนักงานศุลกากรสั่งให้ส่งมอบ สําหรับดินปืนและวัตถุระเบิดให้ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากรซึ่งได้รับมอบหมายเฉพาะเพื่อการนั้น
มาตรา ๙๖ อากาศยานลําใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเว้นแต่อากาศยานของทางราชการ จะต้องได้รับใบปล่อยอากาศยาน โดยให้ผู้ควบคุมอากาศยานมีหน้าที่ทํารายงานอากาศยานและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจําสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับรองรายงานอากาศยานแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยอากาศยานเพื่อให้อากาศยานเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
การทํารายงานอากาศยานและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๙๗ ถ้าอากาศยานที่ได้รับใบปล่อยอากาศยานแล้วได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรแห่งอื่นในราชอาณาจักร ให้ผู้ควบคุมอากาศยานทํารายงานอากาศยานและยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานต่อพนักงานศุลกากรประจําสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรนั้น พร้อมทั้งแนบใบปล่อยอากาศยานที่ออกให้ภายหลังติดไว้กับใบปล่อยอากาศยานฉบับแรก และต้องทําเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ สนามบินที่เป็นด่านศุลกากรจนกว่าจะได้รับใบปล่อยอากาศยานท้ายสุดออกนอกราชอาณาจักร
เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานอากาศยานแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยอากาศยานของสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรนั้น เพื่อให้อากาศยานเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
การทํารายงานและการยื่นบัญชีสินค้าสําหรับอากาศยานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๙๘ ในกรณีที่ผู้ส่งของออกได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกตามมาตรา ๕๑ ต่อพนักงานศุลกากรแล้ว แต่มิได้นําของนั้นบรรทุกลงในอากาศยานให้แล้วเสร็จก่อนอากาศยานออก ให้ผู้ส่งของออกแจ้งเหตุที่ไม่สามารถนําของนั้นบรรทุกลงในอากาศยานให้แล้วเสร็จต่อพนักงานศุลกากรภายในกําหนดสามวันนับแต่วันที่อากาศยานออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร โดยให้พนักงานศุลกากรบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในใบขนสินค้านั้น และให้นําของที่ยังมิได้บรรทุกลงในอากาศยานนั้นไปเก็บไว้ในสถานที่ที่พนักงานศุลกากรกําหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ส่งของออกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเก็บของดังกล่าว
ให้ผู้ส่งของออกดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับของที่เก็บไว้ตามวรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ขอรับของคืนภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานศุลกากร หรือ
(๒) ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่อากาศยานลําที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าครั้งแรกออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร
ในกรณีที่ปรากฏว่าของนั้นได้ทําทัณฑ์บนหรือมีประกัน หากผู้ส่งของออกไม่ดําเนินการตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ริบของนั้น

ส่วนที่ ๔
ตัวแทน
------------------------

          มาตรา ๙๙ บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอํานาจจากผู้นําของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้นําของผ่านแดนหรือผู้ขอถ่ายลํา ให้เป็นตัวแทนเพื่อดําเนินการอย่างใด ๆ เกี่ยวกับของที่นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ของเพื่อการผ่านแดน หรือของเพื่อการถ่ายลํา หรือกิจการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนตามวรรคหนึ่ง เป็นเจ้าของของที่ได้นําเข้า ส่งออก ผ่านแดนหรือถ่ายลำด้วย
มาตรา ๑๐๐ บุคคลใดประสงค์จะเป็นผู้รับมอบอํานาจจากผู้ควบคุมยานพาหนะให้เป็นตัวแทนเพื่อกระทําหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๑๐๑ ตัวแทนที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๙๙ หรือมาตรา ๑๐๐ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

ในกรณีที่ตัวแทนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอํานาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนการอนุญาตของตัวแทนดังกล่าว โดยไม่ตัดสิทธิที่จะบังคับหลักประกันที่ตัวแทนให้ไว้ตามจํานวนที่เห็นสมควรและไม่ทําให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น


ดร.สงบ สิทธิเดช
Online 19-May-17

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น