หมวด ๔
การผ่านแดน การถ่ายลำ และของตกค้าง
ส่วนที่ ๑
การผ่านแดนและการถ่ายลำ
มาตรา ๑๐๒ ผู้ใดนำของเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักรให้ยื่นใบขนสินค้าตามแบบ
และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ของตามวรรคหนึ่งไม่อยู่ภายใต้ความรับผิดที่จะต้องเสียอากร
หากได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง และได้นำของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
การผ่านแดนที่มีการข้ามแดนทางบกให้กระทำได้ต่อเมื่อมีความตกลงระหว่างประเทศ
มาตรา ๑๐๓ ในกรณีที่ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำไม่นำของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาตามมาตรา
๑๐๒ วรรคสอง หรือขอเปลี่ยนการผ่านพิธีการศุลกากรเป็นการนำเข้าและได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
แต่ไม่เสียอากรหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรภายในระยะเวลาดังกล่าว
ให้ของนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
มาตรา ๑๐๔ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำเป็นของที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจหรือค้นของนั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
(๑) มีไว้เพื่อใช้ในการก่อการร้ายหรือเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้าย
(๒) ชนิดแห่งของหรือการขนส่งหรือการขนถ่ายของดังกล่าว
อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง สันติภาพ และความปลอดภัยระหว่างประเทศ
(๓) มีการแสดงถิ่นกำเนิดเป็นเท็จ
(๔) เป็นของผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ
การตรวจหรือค้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๑๐๕ ในกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้งว่าของใดเป็นของที่มีลักษณะตามมาตรา
๑๐๔ ให้ของนั้นเป็นของอันจะพึงต้องริบ
ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
และอธิบดีอาจสั่งให้ทำลายโดยวิธีการที่ปลอดภัยต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน
และสิ่งแวดล้อม หรือให้ส่งกลับออกไปโดยพลัน หรืออาจสั่งให้ดำเนินการอื่นใดตามสมควรเพื่อให้ไม่สามารถนำของนั้นมาใช้ได้อีกหรือเพื่อให้ของดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
โดยให้ผู้ขนส่งหรือผู้ควบคุมยานพาหนะเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น
มาตรา ๑๐๖ ให้นำข้อห้ามหรือข้อจำกัดสำหรับการนำผ่านตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับกับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ
โดยคำนึงถึงศีลธรรมอันดีของประชาชน นโยบายสาธารณะ ความปลอดภัยของสาธารณชน
การปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และการปกป้องการครอบครองสมบัติของชาติในด้านศิลปวัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์
หรือค่านิยมทางโบราณคดีหรือการปกป้องทรัพย์สินทางการค้าหรืออุตสาหกรรม
รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ด้วย
ส่วนที่ ๒
ของตกค้าง
มาตรา ๑๐๗ ให้ของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นของตกค้าง
(๑)
ของนำเข้าที่เป็นสินค้าอันตรายตามชนิดหรือประเภทที่กำหนดตามมาตรา ๕ (๕) และมิได้นำออกไปจากเขตศุลกากรภายในระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด
(๒) ของนำเข้าอื่นนอกจาก (๑) ที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินสามสิบวันโดยไม่มีการยื่นใบขนสินค้าและไม่ได้เสียอากรหรือวางประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น
โดยอธิบดีได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ขนส่งเพื่อดำเนินการดังกล่าวให้ถูกต้อง
แต่ผู้ขนส่งไม่ยอมดำเนินการให้ถูกต้องภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดี
(๓) ของนำเข้าอื่นนอกจาก (๑)
ที่ยื่นใบขนสินค้าและเสียอากรหรือวางประกันค่าอากรไว้ไม่ครบถ้วน
และไม่ได้นำออกไปจากอารักขาของศุลกากรภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดี
มาตรา ๑๐๘ ในการดำเนินการกับของตกค้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีมีอำนาจ
ดังต่อไปนี้
(๑) ให้พนักงานศุลกากรนำของนั้นออกขายทอดตลาดหรือทำลาย หรือ
(๒) ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ขนส่ง ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร
หากไม่ปฏิบัติตามให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจทำลายของนั้นได้
โดยให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
การดำเนินการกับของตกค้างตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
และในกรณีที่เป็นการดำเนินการกับของตกค้างตามมาตรา ๑๐๗ (๑)
ต้องคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นประกอบด้วย
การทำลายของตกค้างตาม (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี
ให้ดำเนินการโดยวิธีที่ปลอดภัยต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม
ถ้าอธิบดีเห็นว่า การขายทอดตลาดตาม (๑)
จะไม่ได้เงินเท่าที่ควรหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่นอธิบดีจะสั่งให้ขายโดยวิธีอื่นก็ได้
แต่ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่า
การขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้นจะไม่ได้เงินหรือประโยชน์เท่าที่ควร
หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด
อธิบดีจะสั่งให้จัดการกับของนั้นตามวิธีการที่อธิบดีเห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๑๐๙ ถ้าของที่ยังมิได้รับมอบไปจากอารักขาของศุลกากรเป็นของที่มีสภาพเป็นของสด
ของเสียได้ และปรากฏว่าของนั้นได้บูดเน่าหรือเสียแล้ว
อธิบดีจะสั่งให้ทำลายหรือจัดการกับของนั้นตามวิธีการที่อธิบดีเห็นสมควรเมื่อใดก็ได้
โดยอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้นำของเข้าหรือผู้ขนส่งด้วยก็ได้
มาตรา ๑๑๐ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๑๐๘
ให้หักใช้ค่าอากร ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย
หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่ค้างชำระแก่กรมศุลกากร
รวมทั้งค่าภาษีอากรตามกฎหมายอื่นก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ
ที่ต้องชำระแก่ผู้เก็บรักษาและผู้ขนส่ง ตามลำดับ เมื่อได้หักใช้เช่นนี้แล้วยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
เว้นแต่เจ้าของจะได้ขอคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ขายของนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น