วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การกระทำที่ต้องการเจตนาและการกระทำที่ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา


4. การกระทำที่ต้องการเจตนาและการกระทำที่ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

    1. การกระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
    หลักทั่วไปตามกฎหมายอาญาในเรื่องเจตนา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
    กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น”
    โดยปกติถ้าการกระทำ ที่เป็นความผิดอย่างใด กฎหมายต้องการลงโทษจากเหตุที่ กระทำโดยประมาทหรือโดยไม่มีเจตนาแล้ว กฎหมายก็จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรานั้น ๆ และกำหนดโทษเบากว่าที่ได้กระทำโดยเจตนา ทั้งนี้ยกเว้นความผิดที่เป็นลหุโทษ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติข้อยกเว้นจากการกระทำโดยเจตนาไว้โทษที่ได้รับจะเท่ากันไม่ว่าจะกระทำโดยเจตนา ดังนี้ 

    มาตรา 252 การกระทำความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 242 หรือมาตรา 244 ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
    (เดิมคือ ม.16 การกระทำที่บัญญัติไว้ใน ม.27 และ ม.99 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรพ.ศ. 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักคำนึงว่า ผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่)

    มาตรา 202 ผู้ใดยื่น จัดให้ หรือยอมให้ผู้อื่นยื่นใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูล ซึ่งเกี่ยวกับการเสียอากรหรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ อันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในรายการใด ๆ ที่ได้แสดงไว้ในใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูลดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

    มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

    มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

    2. การกระทำต้องที่ต้องกระทำโดยเจตนา
    การกระทำต้องที่ต้องการเจตนาตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ปรากฎตามบทบัญญัติในมาตราต่าง ๆ ดังนี้

    มาตรา 19 เมื่อพบว่าผู้มีหน้าที่เสียอากรไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วน ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจประเมินอากรตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
    การประเมินอากรตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการได้ภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นใบขนสินค้า เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจประเมินอากรได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีได้อีกไม่เกินสองปี
    ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานที่อธิบดีเชื่อได้ว่าผู้มีหน้าที่เสียอากรมีเจตนาในการฉ้ออากร ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจประเมินอากรได้อีกภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง

    มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

อ่านบทความเรื่อง “องค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายศุลกากร 2560: หลักการใช้กฎหมาย” (Criminal elements of customs law 2017) เพิ่มเติม



ดร.สงบ สิทธิเดช
น.บ., ศศ.ม., รป.ด.
Online 2 Feb 2019


ให้ถือว่า (ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้)

3. ให้ถือว่า (ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้) 

    บทบัญญัติในกฎหมายที่ใช้ถ้อยคำ “ให้ถือว่า” ศาลท่านบอกว่าคือ “ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้” ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2548
    ฎีกาที่ 2903/2548 “ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่าการมีแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป... ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมายนั้น จำเลยไม่อาจนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งตาม ป.อ. มาตรา 64 บัญญัติว่า "บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" เมื่อจำเลยมิได้ขออนุญาตแสดงพยานหลักฐานต่อศาลให้เชื่อว่าจำเลยไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ย่อมเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15”
   ฉะนั้นถ้อยคำ “ให้ถือว่า” ปรากฏใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ในมาตราต่าง ๆจึงเป็น “ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้” ดังนี้ 

    มาตรา 11 การดำเนินการทางศุลกากร ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการทางศุลกากรโดยเอกสาร ทั้งนี้ การนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
 
    มาตรา 12 การดำเนินการใดโดยทางเอกสารซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าเป็นความผิดและมีโทษเช่นเดียวกับการกระทำที่ได้ดำเนินการโดยทางเอกสาร

    มาตรา 31 การโอนของที่ได้จากการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดตามมาตรา 29 เข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่น ให้ถือว่าเป็นการส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร และเป็นการส่งของออกสำเร็จในเวลาที่โอนหรือจำหน่ายของนั้น ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 29 และมาตรา 30 มาใช้บังคับกับการคืนอากรหรือประกันอย่างอื่นแก่ผู้นำของเข้าโดยอนุโลม
    การรับของที่ได้โอนหรือจำหน่ายตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรนับแต่เวลาที่ได้โอนหรือจำหน่ายของนั้น และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการนำของเข้ามาใช้บังคับโดยอนุโลม
    การโอนของเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน การจำหน่ายของแก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากร และการรับของดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา ๕๐ การนำของเข้าและการส่งของออกเป็นอันสำเร็จ ในกรณีดังต่อไปนี้
    (๑) การนำของเข้าทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ส่วนการส่งของออกทางทะเล ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อเรือที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตท่าท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (๒) การนำของเข้าทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่นำของเข้ามานั้นได้เข้ามาถึงเขตด่านพรมแดน ส่วนการส่งของออกทางบก ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อยานพาหนะที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากเขตด่านพรมแดนเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (๓) การนำของเข้าทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่นำของเข้ามานั้นได้ถึงสนามบินที่เป็นด่านศุลกากร ส่วนการส่งของออกทางอากาศ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่ออากาศยานที่จะส่งของออกนั้นได้ออกจากสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรท้ายสุดเพื่อไปจากราชอาณาจักร
    (๔) การนำของเข้าทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้เปิดถุงไปรษณีย์ ส่วนการส่งของออกทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อได้ปิดถุงไปรษณีย์และได้ดำเนินการส่งออกตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา 54 ในกรณีที่ผู้นำของเข้าไม่สามารถทำใบขนสินค้าสำหรับของใดได้ เพราะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับของนั้นทั้งหมด ผู้นำของเข้าอาจยื่นคำขออนุญาตเปิดตรวจของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรนั้นได้ โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อครบกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าได้รับอนุญาตให้เปิดตรวจของตามวรรคหนึ่งแล้วผู้นำของเข้ายังไม่ยื่นใบขนสินค้าและไม่เสียอากรหรือวางประกันให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าของที่มีการเปิดตรวจนั้นเป็นของตกค้าง

    มาตรา 55 ในกรณีที่พนักงานศุลกากรเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนเงินอากรสำหรับของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากร ให้นำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือนำไปเก็บไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีความมั่นคง ปลอดภัย เว้นแต่พนักงานศุลกากรและผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะตกลงให้เก็บตัวอย่างของไว้เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว รวมทั้งได้เสียอากรตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและได้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันหรือวางประกันเป็นอย่างอื่นจนครบจำนวนเงินอากรสูงสุดที่อาจต้องเสียสำหรับของนั้น
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้ประเมินอากรที่ต้องเสียและแจ้งผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกให้เสียอากรแล้ว ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องเสียอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการวางเงินประกันตามวรรคหนึ่ง และเงินดังกล่าวคุ้มค่าอากรแล้ว ให้พนักงานศุลกากรเก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจำนวนที่ประเมินได้ และให้ถือว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้เสียอากรครบถ้วนแล้ว
 
    มาตรา 71 เรือลำใดที่จะออกไปนอกราชอาณาจักรจากท่าที่เป็นด่านศุลกากร เว้นแต่เรือของทางราชการจะต้องได้รับใบปล่อยเรือขาออก โดยให้นายเรือมีหน้าที่ทำรายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือต่อพนักงานศุลกากรเพื่อตรวจสอบ
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออก
    การทำรายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา 72 ถ้าเรือที่ได้รับใบปล่อยเรือขาออกแล้วได้ออกจากท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังท่าที่เป็นด่านศุลกากรแห่งอื่นในราชอาณาจักร ให้นายเรือทำรายงานเรือออกและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่บรรทุกขึ้นเรือนั้นต่อพนักงานศุลกากรประจำท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น พร้อมทั้งแนบใบปล่อยเรือขาออกที่ออกให้ภายหลังติดไว้กับใบปล่อยเรือฉบับแรก และต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เป็นด่านศุลกากรจนกว่าจะได้รับใบปล่อยเรือขาออกท้ายสุดออกนอกราชอาณาจักร
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานเรือออกแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นใบปล่อยเรือขาออกของท่าที่เป็นด่านศุลกากรนั้น เพื่อให้เรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้
    การทำรายงานเรือออกและการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

    มาตรา 80 ให้นายเรือที่ได้รับอนุญาตให้ขนถ่ายของในเขตที่จอดเรือภายนอกจัดทำและยื่นบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายโดยเรือลำเลียงแต่ละลำต่อพนักงานศุลกากรผู้กำกับที่จอดเรือภายนอกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อพนักงานศุลกากรผู้กำกับที่จอดเรือภายนอกได้รับบัญชีสินค้าที่จะขนถ่ายตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบอนุญาตให้นำของในเรือลำเลียงนั้นเข้าไปยังเขตท่าที่เป็นด่านศุลกากรได้
    เมื่อเรือลำเลียงมาถึงท่าที่เป็นด่านศุลกากรแล้ว ให้นายเรือประจำเรือลำเลียงนั้นส่งมอบบัญชีสินค้าให้แก่พนักงานศุลกากรประจำด่านศุลกากรนั้น แล้วจึงขนถ่ายของและดำเนินพิธีการศุลกากรต่อไป 

  มาตรา 180 การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานศุลกากรในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในราชอาณาจักร

    มาตรา 185 เรือที่ทำการค้าชายฝั่งที่จะออกจากท่า ให้นายเรือทำบัญชีสินค้าแสดงรายละเอียดแห่งของในเรือยื่นต่อพนักงานศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับบัญชีสินค้าตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบปล่อยสินค้าและปล่อยเรือ
    เมื่อเรือที่ทำการค้าชายฝั่งมาถึงท่าอีกแห่งหนึ่งแล้ว ให้นายเรือแสดงใบอนุญาตปล่อยสินค้าและปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เรือนั้นมาถึงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือมาถึงเพื่อตรวจสอบของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือนั้นว่าถูกต้องตรงกับบัญชีสินค้าที่บรรทุกหรือขนส่งมาจากท่าเรือต้นทาง
    ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือมีชนิด ประเภท ปริมาณแตกต่างจากบัญชีสินค้า ให้สันนิษฐานว่าของที่มีชนิด ประเภท หรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่นำเข้าหรือส่งออกโดยยังมิได้เสียอากร
    ก่อนการขนถ่ายของขึ้นจากเรือ นายเรือต้องยื่นใบอนุญาตปล่อยสินค้าและใบปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากร เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรแล้วจึงจะทำการขนถ่ายของขึ้นได้ โดยต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เรือนั้นเดินทางไปถึง

ดร.สงบ สิทธิเดช 
น.บ., ศศ.ม., รป.ด.
Online 2 Feb 2019






ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณ/หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย

2. ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณ/หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย 
    1. ข้อสันนิษฐานกฎหมายที่เป็นคุณแก่ศุลกากร ตาม ม.169, 176, 185 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560    ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณแก่ศุลกากร เป็นประโยชน์แก่ศุลกากรในการดำเนินคดี เพราะตามหลักกฎหมาย ป.วิ.อ. และ ป.วิ.พ.มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว” เช่น ข้อสันนิษฐานตาม ม. 169 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 “ถ้าพบว่าบุคคลใดมีสิ่งอันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ในครอบครอง ให้บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้เป็นหลักฐานโดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้นเป็นความจริง” ผู้บันทึกจะต้องพิสูจน์เพียงว่าขณะบันทึกผู้ถูกกล่าวหามีสิ่งของ ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครองและผู้บันทึกมีอำนาจถูกต้อง ข้อเท็จจริงตามที่บันทึกไว้นั้นอาจใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีชั้นศาลได้ ส่วนแนวทางบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนได้พบเห็นได้มีแนวทางปฏิบัติตาม ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ข้อ 7 02 02 05 ว่าด้วย “การบันทึกการตรวจค้น -จับกุม และการบันทึกสภาพหีบห่อที่บรรจุของกลาง” (หน้า 18) อย่างไรก็ปัญหาที่ท้าทายของพนักงานศุลกากรอยู่ที่ว่า จะต้องนำสืบเพียงใดและสืบอะไรอีกจึงจะไม่ให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง
    โอสถ โกสิน (2501) กฎหมายลักษณะพยานเปรียบเทียบ กล่าวโดยสรุป “ข้อสันนิษฐาน” คือ หลักการรับฟังข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำมาใช้ได้ต่อเมื่อ มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงบางอย่างให้ปรากฏแล้ว ศาลจำต้องสันนิษฐาน หรืออาจสันนิษฐานได้ ว่าข้อเท็จจริงอื่นบางประการได้มี หรือได้เกิดขึ้นแล้ว กล่าวให้ง่ายก็คือ ข้อสันนิษฐานเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงตามเงื่อนไขอันเกิดจากข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่ง

   2. ความเห็นเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานกฎหมายตาม ม.10 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497
    การบันทึกข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็น ตาม ม. 169 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ร่างเดิมมาจาก ม.10 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ดังนี้
    “มาตรา 10 ถ้าปรากฏว่า ผู้ใดมีสิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัด หรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ให้อธิบดี พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น บันทึกนี้ถ้าเสนอต่อศาลในเมื่อมีการดำเนินคดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
    ให้นำบทบัญญัติในวรรคก่อนมาใช้บังคับแก่การกระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง และกฎหมายว่าด้วยการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย”

    2.1 หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย 
    หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ปรากฏในหมายเหตุท้ายฎีกาอธิบายกฎหมายศุลกากรที่สำคัญ ดังนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 834/2503 ในการฟ้องร้องคดีเกี่ยวด้วยรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ถ้ามีข้อโต้เถียงขึ้นเกี่ยวกับการชำระภาษีถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือว่าของนั้น ๆ ได้นำเข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หน้าที่พิสูจน์ตกแก่จำเลย
    หมายเหตุ กฏหมายศุลกากรนั้น มีหลักอยู่อันหนึ่งซึ่งเหมือนกันหรือเป็นไปทำนองเดียวกัน คือ เปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย...
    ไม่ว่าโต้เถียงของฝ่ายจำเลยจะมีประการใดก็ตาม ตามกฏหมายศุลกากรยังมีบทสันนิษฐานอีกหลายประการ ซึ่งฝ่ายจำเลยมีภาระจะต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนั้นให้ศาลเห็นจริง เช่นบท สันนิษฐานตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับ12) พ.ศ.2497 ว่า ถ้าผู้ใดมีสินค้าไว้เพื่อการค้าของตนเอง หรือผู้อื่นในบริเวณพิเศษที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระอากร เว้นแต่จะแสดงให้เป็นที่พอใจว่าได้ชำระอากรแล้ว หรือบทสันนิษฐานตามมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันว่า ในเขตควบคุมศุลกากร เมื่ออธิบดีกรมศุลกากรประกาศให้ผู้ทำการค้าสินค้าชนิดใดจัดให้มีสมุดควบคุมและลงรายการในสมุดนั้นเป็นรายวันแล้ว ถ้าตรวจพบว่ามีสินค้าเกินหรือขาดบัญชี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้าซึ่งเกินหรือขาดนั้นได้นำมาไว้ในครอบครอง หรือย้ายขนไปโดยผิดกฏหมายแล้วแต่กรณีโดยยังไม่ได้ชำระอากร (กรณีขาดบัญชีนั้นมุ่งหมายถึงของมาตรา) เป็นต้น บทสันนิษฐานที่สำคัญซึ่งปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ คือบทสันนิษฐานตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่12) พ.ศ. 2497 ที่ว่า “ถ้าปรากฏว่าผู้ใดมี สิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัด หรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ให้อธิบดี พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น บันทึกนี้ถ้าเสนอต่อศาลในเมื่อมีการดำเนินคดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฏหมาย หรือนำเข้ามาโดย การลักลอบหนีศุลกากรแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น “ข้อสันนิษฐานตามมาตรานี้จะต้องปรากฏในเบื้องต้นว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งของต้องห้ามในการนำเข้า (คือของที่มีกฏหมายห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด) หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของต้องกำกัด (เช่น ของที่จะนำเข้าได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตก่อน) หรือเป็นของลักลอบหนีศุลกากร (คือนำเข้ามาโดยไม่ผ่านศุลกากร)เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้แล้วและเจ้าพนักงานดังระบุไว้ในกฏหมาย ได้ทำบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้แล้วเสนอต่อศาลเมื่อมีการดำเนินคดี จึงสันนิษฐานว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงในบันทึกนั้น และผู้ที่ครอบครองสิ่งของดังกล่าวได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฏหมายหรือโดยการลักลอบหนีศุลกากร ฝ่ายจำเลยย่อมสามารถนำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้ด้วยประการต่าง ๆ แต่ถ้าหลักฐานนั้นไม่พอฟัง ก็ต้องมีความผิดตามข้อสันนิษฐานของกฏหมายเช่นในคดีนี้
    มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานดังกล่าวข้างต้นอยู่บางประการ คือในเรื่องเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบหนีศุลกากรนั้น ย่อมมีได้ต่าง ๆ สุดแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ในคดีนี้จะเห็นได้จากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยมีของชนิดที่ต้องทำบัญชีควบคุมไว้โดยไม่ได้ทำบัญชีก็เป็นเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบหนีศุลกากร ซึ่งในอีกทางหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าการที่ไม่ได้ทำบัญชีเลยก็เท่ากับมีของเกินบัญชี ซึ่งมาตรา 14 ให้สันนิษฐานว่าเป็นของยังไม่ได้ชำระอากรอีกด้วย อีกประการหนึ่ง ข้อเท็จจริงในบันทึกของเจ้าพนักงานนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น ไม่ใช่ความเห็นหรือความเข้าใจของผู้บันทึก แต่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบและอื่น ๆ ที่พบเห็นเองเกี่ยวกับเรื่องนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นข้อเท็จจริงว่าผู้ใดนำของนั้นเข้ามาทางไหน เมื่อใด เพราะถ้าบันทึกข้อเท็จจริงเช่นนี้ได้บทสันนิษฐานตามมาตรานี้ก็ไม่ต้องมีขึ้น และประการสุดท้ายก็คือตามข้อสันนิษฐานของกฏหมายนั้น ให้สันนิษฐานว่าผู้ครอบครองของซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าลักลอบหนีศุลกากรนั้นเองเป็นผู้ลักลอบนำเข้ามา ซึ่งก็เท่ากับผู้นั้นได้ของนั้นไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยการหลีกเลี่ยงอากรนั่นเอง
    การผลักภาระการพิสูจน์ให้ฝ่ายจำเลยโดยตรงตามมาตรา 100 ก็ดี การตั้งข้อสันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ฝ่ายเจ้าพนักงานหรือโจทก์ เพื่อให้ตกเป็นภาระแก่ฝ่ายจำเลยจะต้องพิสูจน์ว่าข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปตามข้อสันนิษฐานนั้นก็ดี เป็นคนละปัญหากับการนำสืบก่อนหลัง เรื่องการนำสืบก่อนหลังนั้นไม่มีปัญหาประการใด ในคดีอาญาโจทก์จะต้องนำสืบก่อนเสมอ แต่เมื่อมีข้อสันนิษฐานไว้ในกฏหมายเป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ก็มีภาระการพิสูจน์แต่เพียงให้เข้าเงื่อนแห่งการที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วน ตามหลักการในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84 วรรคสอง ประกอบมาตรา 15 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสำหรับข้อสันนิษฐานตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ก็มีเพียงว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่าของที่จำเลยมีไว้นั้นเป็นของลักลอบหนีศุลกากร เจ้าพนักงานได้บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้แล้ว และเสนอบันทึกนั้นต่อศาล เพิ่มเติมด้วยวิธีการในทางปฏิบัติว่าจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจ หรือฟังได้ว่าได้ของนั้นมาโดยชอบด้วยกฏหมาย เมื่อโจทก์พิสูจน์เพียงเท่านี้ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฏหมายว่า ผู้ครอบครองของนั้นได้ลักลอบนำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร จะเข้ามาทางไหน เมื่อใด ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ แต่เป็นภาระการพิสูจน์ของจำเลยตามมาตรา 100 และมาตรา 10 นี้เองด้วย ดังที่ศาลได้วินิจฉัยในฎีกานี้และฎีกาที่ 70/2503 และเมื่อภาระการพิสูจน์ของโจทก์เป็นดังนี้ กรณีจึงเกี่ยวโยงไปถึงการบรรยายฟ้องตามความในมาตรา 158 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด ซึ่งก็ต้องบรรยายให้เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเท่านั้น การจะบรรยายเลยไปถึงข้อที่กฏหมายสันนิษฐานให้ เช่นว่า จำเลยนำของเข้ามาทางนั้นทางนี้ เมื่อนั่นเมื่อนี้ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ต้องมีข้อสันนิษฐานของกฏหมายให้ประโยชน์แก่โจทก์ไว้ ส่วนการที่โจทก์จะฟ้องแต่เพียงฐานรับไว้ซึ่งของที่นำเข้าโดยการหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งมีโทษเบากว่า ฐานลักลอบและพิสูจน์ว่าจำเลยรู้เช่นนั้นโดยอาศัยพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไปประกอบกันสอดส่องให้เห็นเจตนาของจำเลย ซึ่งก็เป็นอันเดียวกับพยานหลักฐานที่แสดงเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของลักลอบและจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่นนั้น ก็ไม่มีข้อขัดแย้งกันประการใดดังจะเห็นได้จากการที่ศาลแทบทุกศาลได้วินิจฉัยไปในแนวเดียวกันตลอดมา.
ที่มา: หมายเหตุท้ายฎีกาอธิบายกฎหมายศุลกากรที่สำคัญ

อ่านหลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย ฉบับเต็ม

    2.2 ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในคดีกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากรและการริบของกลาง (เรื่องเสร็จที่ 91/2501)
    คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4) ได้พิจารณาแล้วขอเสนอความเห็น ต่อไปนี้
    สำหรับปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4) ได้เคยพิจารณาทำความเห็นเสนอไปยังกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2496 กรรมการเห็นควรแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางกรณีที่จะเป็นการยกเว้นหลักการนำสืบอันเป็นหลักฐานในกรณีใด อย่างใด และในทางที่ไม่ล้มหลักมูลฐานนั้น แต่ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีอย่างใด ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ให้เป็นกฎหมาย บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บางมาตราได้ผ่านการพิจารณาของกรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4 แต่บางมาตราไม่ได้ผ่านการพิจารณาของกรรมการ เช่น มาตรา 100 อันเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ
    อย่างไรก็ดี เมื่อนำเอากฎหมายศุลกากร (พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469) และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษมาพิจารณาโดยเฉพาะแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4) ก็เห็นควรพิจารณาตอบปัญหาที่กระทรวงการคลังหารือมา (แทนกรมศุลกากร) ตามหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2500 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะเหตุว่า ตามความเห็นของกรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 4 บทบัญญัติในกฎหมายสองฉบับดังกล่าวข้างต้นนั้นดูประหนึ่งว่าจะขัดกัน แต่ความจริงเมื่อพิจารณาตีความในโดยรอบคอบแล้วก็หาเป็นเช่นนั้นไม่
      ปัญหาข้อ 1 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 100 ได้นำเอาวิธีปฏิบัติซึ่งกรมศุลกากรได้ใช้มานานแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การควบคุมและปราบปรามการกระทำผิดมาบัญญัติไว้ กล่าวคือในกรณีที่มีการโต้เถียงกันเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ระหว่างเจ้าพนักงานและผู้ที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้นำของเข้าโดยการลักลอบหลบหนีศุลกากรนั้นหน้าที่นำสืบย่อมตกอยู่แก่บุคคลที่จะต้องถูกฟ้องร้อง โดยที่วิธีปฏิบัติเช่นนี้ถูกตำหนิว่าขัดกับหลักแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติให้หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่โจทก์ ดังนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 10 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนได้พบเห็น และให้เสนอบันทึกนั้นต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ(หรือต่อไปให้เสนอในศาล) ทั้งนี้หาใช่เป็นการกำหนดหน้าที่นำสืบให้ตกอยู่แก่เจ้าพนักงานไม่ เป็นเพียงแต่ว่าให้เจ้าพนักงานระบุและบันทึกสิ่งที่ตนได้พบเห็น (เช่น ของที่น่าจะได้ถูกลักลอบนำเข้ามา สถานที่ที่นำเข้ามาตลอดจนวันเวลาและพฤติการณ์ที่พบของบุคคลซึ่งน่าจะเป็นผู้กระทำผิด ราคาของ ฯลฯ บรรดารายละเอียดซึ่งเป็นแต่เพียงรายการข้อเท็จจริง) เท่านั้น นอกจากนี้ยังบัญญัติให้เป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานศุลกากรอย่างมาก กล่าวคือ ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานได้จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงแต่ถ้าจำเลยสามารถนำพยานมาสืบได้ว่าข้อเท็จจริงนั้นไม่ถูกต้อง ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็เป็นอันตกไป วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการธรรมดาเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานในทางอาญาซึ่งนำมาใช้แก่การกระทำผิดต่อกฎหมายศุลกากรด้วย โดยที่บันทึกของเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้นต้องรับฟังไว้ก่อน
    ข้อสำคัญประการหนึ่งมีอยู่ว่า ข้อสันนิษฐานในทางอาญาจะต้องเป็นหลักที่ยืดหยุ่นพอที่จะให้มีการสอบสวนทางอาญาและหาพยานหลักฐานมาประกอบความผิดได้ ในเมื่อความไม่แน่นอนได้เกิดขึ้นทั้งนี้เพราะข้อสันนิษฐานดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำบันทึกอยู่ฐานะที่มีเอกสิทธิ์อันเป็นเครื่องช่วยให้เจ้าหน้าที่นั้นปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน ขอนำเอากรณีซึ่งกรมศุลกากรได้ยกขึ้นเป็นตัวอย่างมาพิจารณาเพื่อให้ชัดว่าหน้าที่นำสืบมีถึงขนาดไหน กล่าวคือ ในกรณีที่พ่อค้านำลูกไม้ที่เรียกว่า “บ๊วย” (ห้ามนำเข้า) เข้ามาในประเทศและกรมศุลกากรไม่เคยทราบเรื่องหรือไม่เคยได้รับชำระอากรเลยนั้น ย่อมเป็นที่ยอมรับกันทีเดียวว่า จำต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าพ่อค้านั้นมีความผิดฐานลักลอบหนีภาษีศุลกากร จึงเป็นหน้าที่ของพ่อค้านั้นที่จะต้องนำสืบ (โดยนำใบรับ พยาน ฯลฯ มาแสดง) ว่าตนได้เสียค่าอากรแล้วหรือมีความสุจริตและกระทำโดยเปิดเผย ในตัวอย่างที่ว่านี้ถ้าจะกล่าวว่าเป็นการกลับหน้าที่นำสืบและหน้าที่นำสืบต้องตกอยู่แก่กรมศุลกากรโดยสิ้นเชิงแล้วก็จะเป็นการกล่าวที่เกินความจริงไป

อ่านความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในคดีกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากรและการริบของกลาง (เรื่องเสร็จที่ 91/2501) ฉบับเต็ม

   - ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว (เพิ่มโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2550)
    - ป.วิ.อ. มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

    ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณ ปรากฏตาม ม.169, 176, 185 ดังนี้
    1. บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นถ้ามีสิ่งอันพึงต้องริบไว้ครอบครอง (สามารถใช้กับ กม.ว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า และกม.ว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินด้วย)
    มาตรา 169 ถ้าพนักงานศุลกากรพบว่าบุคคลใดมีสิ่งอันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ในครอบครอง ให้บันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็นไว้เป็นหลักฐานโดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้นเป็นความจริง และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำเข้ามาโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
    ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินด้วย
    (มาตรา 166 ของที่ยังมิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นของที่พึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้)
    2. ของในเขตควบคุมนั้นมีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างจากที่ระบุไว้ในบัญชีโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลอันสมควร
    มาตรา 176 ภายใต้บังคับมาตรา 175 วรรคหนึ่ง อธิบดีมีอำนาจออกประกาศกำหนดประเภทหรือชนิดแห่งของที่ผู้ทำการค้าภายในเขตควบคุมศุลกากรต้องจัดให้มีบัญชีเพื่อแสดงรายละเอียดแห่งของนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจบัญชีและของที่ระบุไว้ในบัญชีตามวรรคหนึ่ง หากพบว่าของนั้นมีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างจากที่ระบุไว้ในบัญชีโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลอันสมควรได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ของที่มีจำนวนหรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่มีไว้หรือได้มาโดยยังไม่ได้เสียอากร
    3. เรือค้าชายฝั่งมีของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือมีชนิด ประเภท ปริมาณแตกต่างจากบัญชีสินค้า
    มาตรา 185 เรือที่ทำการค้าชายฝั่งที่จะออกจากท่า ให้นายเรือทำบัญชีสินค้าแสดงรายละเอียดแห่งของในเรือยื่นต่อพนักงานศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
    เมื่อพนักงานศุลกากรได้รับบัญชีสินค้าตามวรรคหนึ่งและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีสินค้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบัญชีสินค้าดังกล่าวเป็นใบปล่อยสินค้าและปล่อยเรือ
    เมื่อเรือที่ทำการค้าชายฝั่งมาถึงท่าอีกแห่งหนึ่งแล้ว ให้นายเรือแสดงใบอนุญาตปล่อยสินค้าและปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากรผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เรือนั้นมาถึงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือมาถึงเพื่อตรวจสอบของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือนั้นว่าถูกต้องตรงกับบัญชีสินค้าที่บรรทุกหรือขนส่งมาจากท่าเรือต้นทาง
    ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าของที่บรรทุกหรือขนส่งมาในเรือมีชนิด ประเภท ปริมาณแตกต่างจากบัญชีสินค้า ให้สันนิษฐานว่าของที่มีชนิด ประเภท หรือปริมาณแตกต่างนั้นเป็นของที่นำเข้าหรือส่งออกโดยยังมิได้เสียอากร
    ก่อนการขนถ่ายของขึ้นจากเรือ นายเรือต้องยื่นใบอนุญาตปล่อยสินค้าและใบปล่อยเรือแก่พนักงานศุลกากร เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรแล้วจึงจะทำการขนถ่ายของขึ้นได้ โดยต้องทำเช่นนี้ต่อไปทุก ๆ ท่าที่เรือนั้นเดินทางไปถึง

อ่านบทความเดิมเพิ่มเติม ม.100 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หน้าที่พิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลย

ดร.สงบ สิทธิเดช
น.บ., ศศ.ม., รป.ด.
Online 2 Feb 2019


ความทันสมัยรองรับประเทศไทย 4.0

1. ความทันสมัยรองรับประเทศไทย 4.0

    ความทันสมัยของ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2460 ในช่วงของการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 ที่ยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” นำไปสู่ Thailand 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ดังปรากฏในบทบัญญัติ
    มาตรา 106 ให้นำข้อห้ามหรือข้อจำกัดสำหรับการนำผ่านตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับกับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ โดยคำนึงถึงศีลธรรมอันดีของประชาชน นโยบายสาธารณะ ความปลอดภัยของสาธารณชน การปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และการปกป้องการครอบครองสมบัติของชาติในด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือค่านิยมทางโบราณคดีหรือการปกป้องทรัพย์สินทางการค้าหรืออุตสาหกรรม รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ด้วย

    จะเห็นได้จากเหตุผลในการยกร่างดังนี้
    1) กค. เสนอว่า เนื่องจาก พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้มีการประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ส่งผลให้มี พ.ร.บ. ศุลกากรหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2480 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ทำให้กฎหมายศุลกากรกระจัดกระจาย ไม่สะดวกในการใช้งาน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ตลอดจนรวบรวมกฎหมายที่ใช้อยู่ทุกฉบับให้เป็นพระราชบัญญัติฉบับเดียว อีกทั้งยังสมควรปรับปรุงแก้ไขให้มีมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) สมควรปรับปรุงแก้ไขและจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติศุลกากรเพียงฉบับเดียว
    2) เพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การผ่านแดนและการถ่ายลำ โดยกำหนดให้นำข้อห้ามข้อจำกัดไปใช้กับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้เท่าที่จำเป็น เช่น ข้อห้าม ข้อจำกัดอันเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของประชาชน นโยบายสาธารณะความปลอดภัยของสาธารณชน การปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และการปกป้องการครอบครองสมบัติของชาติในด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือค่านิยมทางโบราณคดี หรือการปกป้องทรัพย์สินทางการค้าหรืออุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ปฏิทินลำดับเหตุการณ์กฎหมายศุลกากรจากปี 2469 ถึงปี 2560

ดร.สงบ สิทธิเดช
น.บ., ศศ.ม., รป.ด.
Online 2 Feb 2019

องค์ประกอบความผิดฐานนำของเข้าหรือส่งของออก หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้าม ตามมาตรา 244

องค์ประกอบความผิดฐานนำของเข้าหรือส่งของออก หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้าม ตาม ม. 244 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560
    “มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน”

    หมายเหตุ ม.244 นี้เดิม คือ ความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด ตาม ม. 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับ ม. 17 พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 และ ม.58/1 การผ่านแดน การถ่ายลำ 

    ความผิดตามมาตรา 244 นี้สามารถแยกออกได้เป็น 2 ชนิด (ฐานความผิด) ดังนี้คือ ความผิดฐานนำของเข้าหรือส่งของออกโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้าม และความผิดฐานนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้าม เดิมคือความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด ตาม มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ทั้งนี้ตาม ฏีกาที่ 8476/2540, 448/2513 ได้ระบุว่า ความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิด อยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน (ฏีกาท้ายเรื่อง)
  
   1. ความผิดฐานนำของเข้าหรือส่งของออกโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้าม
   องค์ประกอบภายนอก
      1) ผู้กระทำ คือ
          1.1) ผู้ใด
          1.2) ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกัน รับโทษเช่นเดียวกัน ม.245
          1.3) นิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ตาม ม.253
      2) การกระทำ คือ
          2.1) นำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร
          2.2) ส่งของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร
          2.3) พยายามเท่ากับความผิดสำเร็จ ม.244ว.2
          2.4) ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด...โดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรานี้ ผิดตาม ม.246 ว.3
          2.5) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของต้องห้าม ต้องกำกัด ขึ้นบรรทุกหรืออกจากยานพาหนะ รับโทษเช่นเดียวกัน ตาม ม.247
       3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น
       4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คือ ถ้าหากไม่มีการกระทำนั้นๆ แล้ว ผลก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition sine qua non)
     องค์ประกอบภายใน คือ เจตนา ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (ม.252)
     โทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

Dr.Sangob: Elements of customs law 2017 (Section 244) 

    2.ความผิดฐานนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้าม    องค์ประกอบภายนอก
       1) ผู้กระทำ คือ
           1.1) ผู้ใด
           1.2) ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกัน รับโทษเช่นเดียวกัน ม.245
           1.3) นิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ตาม ม.253
        2) การกระทำ คือ
           2.1) นำของเข้าเพื่อการผ่านแดน
           2.2) นำของเข้าเพื่อการถ่ายลำ
           2.3) พยายามเท่ากับความผิดสำเร็จ ม.244ว.2
           2.4) ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด...โดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรานี้ ผิดตาม ม.246 ว.3
           2.5) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของต้องห้าม ต้องกำกัด ขึ้นบรรทุกหรืออกจากยานพาหนะ รับโทษเช่นเดียวกัน ตาม ม.247
       3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น
       4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คือ ถ้าหากไม่มีการกระทำนั้นๆ แล้ว ผลก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition sine qua non)
     องค์ประกอบภายใน คือ เจตนา ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (ม.252)
     โทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

Dr.Sangob: Elements of customs law 2017 (Section 244)

Link
องค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายศุลกากร 2560: หลักการใช้กฎหมาย
- พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 (พร้อมคำอธิบายรายมาตรา)
ดร.สงบ สิทธิเดช
Online 2/2/19

องค์ประกอบความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 243

องค์ประกอบความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรตาม ม. 243 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560
    มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

    หมายเหตุ ม.243 นี้เดิม คือ ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร ตาม ม. 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับ ม. 17 พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 (สามารถอ่านคำอธิบาย ม.27 กฎหมายศุลกากรปี 2469 เพิ่มเติมตาม Linkนี้)

   ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรตาม ม. 243 สามารถแยกองค์ประกอบได้ดังนี้
   องค์ประกอบภายนอก
       1) ผู้กระทำ คือ
            1.1) ผู้ใด
            1.2) ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกัน รับโทษเช่นเดียวกัน ตาม ม.245
            1.3) นิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ตาม ม.253
       2) การกระทำ คือ
            2.1) นำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร
            2.2) ส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร
            2.3) พยายามเท่ากับความผิดสำเร็จ ม.243ว.2
            2.4) ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด...โดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรานี้ ผิดตาม ม.246 ว.2
       3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร
       4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คือ ถ้าหากไม่มีการกระทำนั้นๆ แล้ว ผลก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition sine qua non)
    องค์ประกอบภายใน คือ เจตนาพิเศษ “โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ”
    โทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

Dr.Sangob: Elements of customs law 2017 (Section 243)

หมายเหตุ ม.243:
    1.”โทษปรับ” ฐานหลีกเลี่ยงอากรตาม ม.243 นี้ “ปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม” แตกต่างจากฐานลักลอบตาม ม.242 “ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว”
    2. “เจตนา” องค์ประกอบภายในฐานหลีกเลี่ยงอากรตาม ม. 243 นี้ ต้องการเจตนาพิเศษด้วย “โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ” ต่างกับความผิดฐานลักลอบตาม ม.242 ซึ่งมีบทบัญญัติ ตาม ม. 252 “ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”
   ทั้งนี้ ตามกฎหมายศุลกากรฉบับ 2469 เดิม ได้มีฎีกาที่ 6925/2538 ได้พูดถึงเรื่องเจตนาพิเศษไว้ดังนี้
 
   คำพิพากษาฎีกาที่ 6925/2538 บทบัญญัติของมาตรา 16 แห่งมาตรา พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ซึ่งบัญญัติว่า “การกระทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27… แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนา หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่” หาได้ลบล้างองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 27 ที่ว่าจะต้องกระทำ “โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี” ให้สิ้นไปไม่ เพราะมาตรา 16 หมายความถึงแต่เพียงมิให้คำนึงถึงเจตนาแห่งการกระทำเท่านั้น ส่วนความมุ่งหมายแห่งการกระทำหรือความประสงค์ต่อผลนั้น ยังคงต้องเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 27 อยู่ คำว่า“โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี” ตามความหมายของกฎหมายในขณะนั้นย่อมหมายถึง ความมุ่งหมายแห่งการกระทำหรือความประสงค์ต่อผลต่างหากจากเจตนากระทำการ จำเลยทั้งสองจะมีความผิดเมื่อมีข้อเท็จจริงที่นับฟังได้ว่ามีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล
    การที่จำเลยทั้งสอง สำแดงในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการค้าตามเอกสารที่ผู้ขายส่งมาให้เมื่อเปิดหีบห่อออกตรวจก็พบเห็นได้ชัดเจนว่า มีสินค้าเกินจำนวนซึ่งจำเลยยอมชำระค่าภาษีอากรเพิ่มกับเบี้ยปรับตามคำสั่งของกรมศุลกากรแสดงถึงความสุจริตใจ ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงไม่เสียภาษีจำเลยจึงไม่มีความผิด

องค์ประกอบความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242

องค์ประกอบความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560

   “มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน”

    หมายเหตุ ม.242 นี้เดิม คือ ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ตาม ม. 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับ ม. 17 พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 (สามารถอ่านคำอธิบาย ม.27 กฎหมายศุลกากรปี 2469 เพิ่มเติมตาม Linkนี้)

    ความผิดตามมาตรา 242 นี้สามารถแยกออกได้เป็น 2 ชนิด (ฐานความผิด) คือ ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร และความผิดฐานเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต เดิมคือ ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ตาม มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ทั้งนี้ตาม ฏีกาที่ 8476/2540, 448/2513 ได้ระบุว่า ความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิด อยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน (ฏีกาท้ายเรื่อง)

    สามารถแยกอธิบายความผิดแต่ละชนิดได้ดังนี้
   1. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรตามมาตรา 242

   องค์ประกอบภายนอก
     1) ผู้กระทำ คือ 
        1.1) ผู้ใด
        1.2) ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกัน รับโทษเช่นเดียวกัน ม.245
        1.3) นิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ตาม ม.253
     2) การกระทำ คือ 
        2.1) นำเข้ามาในราชอาณาจักร
        2.2) ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
        2.3) พยายามเท่ากับความผิดสำเร็จ ตาม ม.242ว.2
        2.4) ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด... ผิดตาม ม.246 ว.1
        2.5) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกหรืออกจากยานพาหนะ รับโทษเช่นเดียวกัน ตาม ม.247
         2.6) ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรานี้ เกิดขึ้นในเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน 250 ตันกรอสหรืออากาศยาน หากนายเรือหรือผู้ควบคุมอากาศยานนั้นไม่ใช้ความระมัดระวังในการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท ตาม ม.248
      3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ ของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร
      4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คือ ถ้าหากไม่มีการกระทำนั้นๆ แล้ว ผลก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition sine qua non)
     องค์ประกอบภายใน คือ เจตนา ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (ม.252)
     โทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

Dr.Sangob: Elements of customs law 2017 (Section 242)

   2. ความผิดฐานเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242
   องค์ประกอบภายนอก
      1) ผู้กระทำ คือ
           1.1) ผู้ใด
           1.2) ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกัน รับโทษเช่นเดียวกัน ม.245
           1.3) นิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ตาม ม.253
      2) การกระทำ คือ
           2.1) เคลื่อนย้ายของออกไปจาก (1) ยานพาหนะ (2) คลังสินค้าทัณฑ์บน (3) โรงพักสินค้า (4) ที่มั่นคง (5) ท่าเรือรับอนุญาต หรือ (6) เขตปลอดอากร
           2.2) พยายามเท่ากับความผิดสำเร็จ ตาม ม.242ว.2
           2.3) ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด... ผิดตาม ม.246 ว.1
           2.4) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกหรืออกจากยานพาหนะ รับโทษเช่นเดียวกัน ตาม ม.247
           2.5) ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรานี้ เกิดขึ้นในเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน 250 ตันกรอสหรืออากาศยาน หากนายเรือหรือผู้ควบคุมอากาศยานนั้นไม่ใช้ความระมัดระวังในการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น ผิดตาม ม.248
       3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
       4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คือ ถ้าหากไม่มีการกระทำนั้นๆ แล้ว ผลก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition sine qua non)
   องค์ประกอบภายใน คือ เจตนา ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (ม.252)
   โทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 
Dr.Sangob: Elements of customs law 2017 (Section 242)
       
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2513
    พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำผิดไว้หลายอย่างหลายชนิด แต่ละชนิดเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกัน
    ความผิดฐานนำของต้องจำกัดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาในราชอาณาจักร ไม่จำต้องมีองค์ประกอบในเรื่องมีเจตนาจะฉ้อภาษีรัฐบาล
    จำเลยใช้เอกสารปลอมสั่งอาวุธปืนซึ่งเป็นของต้องจำกัดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้จำเลยจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้วก็ตาม จำเลยก็ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 อีก (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2513)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8476/2540
    ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิด อยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน ตามคำฟ้องและทางพิจารณา ปรากฏว่าเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรคือของที่นำเข้ามาเป็นของที่ต้องเสียภาษีมิได้ลักลอบนำเข้าแต่เป็นการนำมาผ่านศุลกากรโดยสำแดงรายการสินค้าว่าเป็น ซี่ลวดรถจักรยาน ไม่มีเครื่องหมายการค้า อันเป็นความเท็จซึ่งความจริงสินค้าดังกล่าวเป็นซี่ลวดรถจักรยานยนต์เพื่อให้เสียค่าภาษีน้อยกว่าที่จะพึงต้องเสียโดยมีเจตนาจะหลักเลี่ยงค่าภาษี กรณีจึงมีความผิดตามมาตรา 27 การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ใน ฐานะผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยรู้เห็นให้พนักงานออกของหรือชิปปิ้งนำต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวซึ่งได้มีการลบคำว่า "NOBRAND"ออก และเติมเครื่องหมายการค้ารูปดาวห้าแฉกไปยื่นต่อ ก. นายตรวจศุลกากร ให้ตรวจปล่อยสินค้าซี่ลวดและ ก. ได้ตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวไป จึงเป็นการร่วมกันใช้ เอกสารราชการปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ก. และกรมศุลกากร การใช้เอกสารราชการปลอมดังกล่าวเป็นการ กระทำความผิดต่างฐานกันกับความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร แม้มีความมุ่งหมายในการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็เป็น การกระทำต่างวาระกัน และในแต่ละวาระก็เป็นความผิด สำเร็จแล้ว จึงเป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2561
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
    ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้น จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3
   มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้วและศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ดร.สงบ สิทธิเดช
Update 2/2/19




องค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายศุลกากร 2560: หลักการใช้กฎหมาย

   บทความเรื่อง “องค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายศุลกากร 2560: หลักการใช้กฎหมาย” (Criminal elements of customs law 2017) ผู้เขียนต้องการจะสื่อการอ่านและการใช้ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ให้ถูกต้อง ต้องยอมรับผู้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือบุคคลทั่วไป ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก ผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร นายเรือหรือตัวแทนเรือ ผู้ควบคุมยานพาหนะ ฯลฯ ไม่ได้มีพื้นด้านกฎหมาย (นิติศาตร์) มาก่อน ทำให้การอ่านและใช้กฎหมายไขว้เขว หรือผิดทาง ทั้งนี้ อาจจะมาจากการยกร่างโดยนักนิติศาตร์ด้านกฎหมายโดยเฉพาะ จึงใช้วรรคตอน ถ้อยคำสำนวนเป็นที่เข้าใจของผู้ร่าง เพื่อให้กฎหมายที่ออกมากระชับ รัดกุม ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

    ตัวอย่างที่ 1 มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    เมื่ออ่านแล้ว หากมีการนำของในประเทศเข้าเขตปลอดอากรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร บางท่านเห็นว่าน่าจะมีความผิดตามมาตรานี้ เพราะว่าผู้ใดนำเข้ามาใน...เขตปลอดอากรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
   แต่บางท่านเห็นว่าไม่น่าจะผิดมาตรานี้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายของออกไปจาก...เขตปลอดอากรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร

   ตัวอย่างที่ 2 มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    ถ้าอ่านอย่างคร่าว ๆ บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เฉพาะของนำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำเท่านั้นถึงจะมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ทั้งนี้เนื่องจากวรรคตอนแยกออกจากกันแล้ว

    ฉะนั้น เพื่อให้ได้คำตอบที่มีเหตุและผล เป็นไปตามหลักวิชาการผู้เขียนจึงได้รวบรวมบทความทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “องค์ประกอบความผิดทางอาญา” มาสรุปและปรับใช้อธิบาย ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น

   “ความผิดทางอาญา” คือ การกระทำความผิดที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคม หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ และต้องได้รับโทษทางอาญาตามที่รัฐกำหนดไว้ในกฎหมาย โทษทางอาญาตาม ป.อาญา มาตรา 18 ประกอบด้วย (เรียงตามความหนักเบา) (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน
   พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ถือว่าเป็นกฎหมายมหาชนทางภาษี ซึ่งมีบทบัญญัติที่มี “ความผิดทางอาญา” โทษทางอาญาตามกฎหมายนี้ประกอบด้วย (1) จำคุก (2) ปรับ (3) ริบทรัพย์สิน เช่น มาตรา 242 ข้างต้น “...ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่”

  “องค์ประกอบความผิดทางอาญา”[1]
  ในการรับผิดทางอาญาต้องมีครบทั้ง 2 องค์ประกอบ คือ
1. องค์ประกอบภายนอก คือ องค์ประกอบภายนอกของความผิดแต่ละฐาน จะประกอบไปด้วย
   (1) ผู้กระทำ
   (2) การกระทำ
   (3) วัตถุแห่งการกระทำ/กรรมของการกระทำ
   (4) ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (ทฤษฎีเงื่อนไข (Condition Theory) กับ ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม (Theory of Adequate Cause))
2. องค์ประกอบภายใน ประกอบด้วย
   
(1) เจตนา (เจตนาธรรมดา คือ ประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผล)
   (2) เจตนาพิเศษ (มูลเหตุชักจูงใจ: “โดยทุจริต” “เพื่อ”)
   (3) ประมาท (กฎหมายศุลกากรฉบับปี 2560 ไม่ระบุไว้ แต่ถ้าเป็นฉบับที่ 9 พ.ศ. 2482 ที่ยกเลิก ได้ระบุไว้ดังนี้ “ม.16 การกระทำที่บัญญัติไว้ใน ม.27 และ ม.99 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่

  Note: Elements of a crime. In general, for an act to be a crime in U.S. criminal justice systems, for elements must be present:
   1. A criminal act / Conduct (Actus reus) /external element: "guilty action"
   2. A criminal state of mind / Mental state (Mens rea) “guilty mind”
   3. Concurrence of a criminal act and a criminal intent
   4. Causation: the "causal relationship between conduct and result". In other words, causation provides a means of connecting conduct with a resulting effect, typically an injury.


Dr.Sangob Sittidech: Criminal elements of customs law,27.10.18


link
1. องค์ประกอบความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 242
2. องค์ประกอบความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียอากรตาม ม.243
3. องค์ประกอบความผิดฐานนำของเข้าหรือส่งของออก หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดข้อห้ามตาม ม. 244

4. พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 (คำอธิบายรายมาตรา)



ดร. สิทธิเดช สิทธิเดช
4.11.61
Update 2.02.62



[1] อ่านเพิ่มเติมได้จาก หยุด แสงอุทัย, ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน, แสวง บุญเฉลิมวิภาส, เฉลิมวุฒิ สาระกิจ, Element (criminal law) – Wikipedia.