วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวข้องกับผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก

 2. คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวข้องกับผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออก ตามมาตรา 2 วรรค 2 และวรรค 3

ฎีกาที่ 637/2483 การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเหล้าที่ส่งมาถึงจำเลยมีเหล้าปอร์ตไว้ ซึ่งมิได้ผลิตในดินแดนโปรตุเกสปนอยู่ด้วย ยังยืนยันขอรับจากกรมศุลกากรเพื่อไปจำหน่าย ถือได้ว่าจำเลยได้มีส่วนนำเข้ามาซึ่งเหล้าปอร์ตไว้ นั้น

ฎีกาที่ 2201/2531 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ม.2 บัญญัติความหมายคำว่า ผู้นำของเข้าไว้ว่า หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่น ๆ    ซึ่งเป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของเข้ามา จนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้อง พ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร…”

แม้ว่าตามเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร จะมีชื่อของจำเลยลงไว้ในเอกสารเหล่านั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ลายมือชื่อที่ลงไว้ มิใช่ลายมือชื่อของจำเลย หรือจำเลยมิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อเหล่านั้น และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ยื่นใบขนขาเข้า และดำเนินพิธีการทางศุลกากร จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในสินค้าที่นำเข้า จำเลยจึงไม่ใช่เป็นผู้นำเข้าตามความหมายดังกล่าว

ฎีกาที่ 4301/2534 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคแรก กำหนดให้ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของ เข้าสำเร็จ ซึ่งมาตรา 41 บัญญัติให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็น อันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่าย ของจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ดังนั้นเมื่อเรือนำของที่ โจทก์สั่งซื้อเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีชื่อ ส่งของถึงแล้ว ความรับผิดของโจทก์ที่จะชำระค่าอากรขาเข้าสำหรับ ของที่นำเข้าจึงสำเร็จแล้วแม้ว่ายังไม่ได้รับการปล่อยของไป และของนั้นได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือ ก็ไม่มีกฎหมาย ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าอากรขาเข้าที่ชำระไปแล้วคืนได้ ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) เรื่อง กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก กำหนดให้ผู้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าชำระภาษีในวันนำเข้า ซึ่งวันนำเข้าดังกล่าวตามมาตรา 78 เบญจ (1) แห่งประมวลรัษฎากรให้หมายถึงวันที่ชำระอากรขาเข้า เช่นนี้ เมื่อตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 10 วรรคแรก กำหนดให้เสียภาษีแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระค่าอากรขาเข้าไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันนำเข้าแล้ว โจทก์จะอ้างว่าการนำเข้าสำเร็จเมื่อมีการส่งมอบของที่นำเข้าโดยต้องพ้นจากความอารักขาของพนักงานศุลกากรแล้ว โดยอ้างบทบัญญัติในมาตรา 2 วรรคสิบเอ็ด (แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร) ซึ่งเป็นบทนิยามของคำว่า ผู้นำของเข้าหาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไปในวันดังกล่าวแล้วจึงเป็นการชำระที่ถูกต้อง แม้ต่อมาของที่โจทก์นำเข้าจะถูกไฟไหม้เสียหายหมดก่อนที่จะได้รับการตรวจปล่อยของไป ก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิโจทก์ที่จะเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ชำระไปแล้วคืนได้ ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าของที่นำเข้าถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับอากรคืนตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 95 ก็ดี รายรับของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 79 ตรี(15) ก็ดี เป็นข้อที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างอีกทั้งปัญหาดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 29

ฎีกาที่ 9485/2539 โรงพยาบาลมิชชั่นมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย การดำเนินกิจการใดจึงเป็นการกระทำในลักษณะของกลุ่มหรือคณะบุคคล จำเลยมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการหรือผู้จัดการโรงพยาบาลและทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการเมื่อผู้อำนวยการไม่อยู่ แม้จำเลยจะไม่ได้ลงนามในใบขนสินค้า แต่การที่จำเลยลงชื่อในหนังสือขอยกเว้นภาษีอากรถึงกรมศุลกากร เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบุคคลหรือคณะบุคคลที่ดำเนินกิจการในนามโรงพยาบาลมิชชั่น ในการนำเข้าสินค้า จำเลยจึงเป็นผู้นำเข้าสินค้าตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469

ฎีกาที่ 1920/2546 การส่งมอบสินค้าแก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบโดยชอบทำให้ผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า

จำเลยมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ธนาคารผู้รับตราส่งหรือ ช. ผู้ซื้อสินค้า การส่งมอบสินค้าแก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบโดยชอบทำให้ผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า เป็นเหตุให้ผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าจากผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ส่ง เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยได้ตามอำนาจแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยได้ทราบถึงการประกันภัยหรือไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไป

สินค้าที่ขนส่งเป็นเพียงพรมซึ่งเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตรใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า และอัญมณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 620 วรรคหนึ่ง

ฎีกาที่ 1639/2549 พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 ที่กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งนั้นอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ แต่การจำกัดความรับผิดก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 60 ด้วย เหตุที่ไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้ในกรณีตามมาตรา 60 ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่รวมถึงการประมาทเลินเล่อธรรมดา กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในลักษณะละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบล่าช้าอาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น จึงจะไม่ได้รับประโยชน์จากการจำกัดความรับผิด ส่วนกรณีประมาทเลินเล่อธรรมดา อันรวมถึงละเมิดด้วยนั้น ผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดตามมาตรา 39 กล่าวคือต้องรับผิดในความสูญเสีย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ภายใต้จำนวนจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58

การขนส่งสินค้าคดีนี้เป็นการขนส่งภายใต้เงื่อนไขให้ผู้ส่งนำสินค้าไปมอบให้ แก่ผู้ขนส่ง จากนั้นผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เอง โดยนำสินค้าของผู้ส่งหลายรายรวมไว้ในตู้เดียวกัน เมื่อถึงปลายทางผู้ขนส่งเป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์เอง แล้วนำสินค้าของผู้ส่งแต่ละรายไปเก็บไว้ในคลังสินค้ารอผู้รับตราส่งมารับสินค้า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543 บริษัท ท. ได้นำใบสั่งปล่อยสินค้าไปดำเนินพิธีทางศุลกากรและออกของ และไปติดต่อขอรับสินค้าของคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และได้รับแจ้งว่าสินค้าได้รับความเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ออกใบรายการสำรวจสินค้า จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ขนส่งได้มอบสินค้าที่แท้จริงให้แก่ผู้รับตราส่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (1) ของ พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กรณีไม่ใช่เป็นการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ให้แก่ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรับตู้ไปเปิดเอง ซึ่งจะนับอายุความตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 40 (3) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2543 จึงเป็นฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 46

ฎีกาที่ 5654/2560 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 ก.พ. 2564

 

3. ประวัติของ ค่าภาษี ค่าอากร 4. ค่าธรรมเนียมและแนวคำวินิจฉัย

 3. ประวัติของ ค่าภาษี ค่าอากร

                   คำว่า “ค่าภาษี” “อากร” ความหมายเดิมตามมาตรา 2 วรรค 9 และวรรค 13 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หมายความว่า “ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียมหรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน”

เอกสารไทยรุ่นเก่าที่สุดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ได้ศึกษาไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย (2544, หน้า 99-100) พบเพียง 2 แห่ง คือ (1) ศิลาจารึกสุโขทัย  และ (2) พระอัยการอาชญาหลวง ซึ่งประกาศในสมัยอยุธยา   ความในศิลาจารึกสุโขทัยมีเพียงว่า เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบเอาจกอบในไพร่ลู่ทาง  ส่วนคำว่า จกอบ แปลว่าอะไร พลตรี  หลวงวิจิตรวาทการ ได้เขียนไว้ว่า ข้าพเจ้าได้เคยฟังคำอธิบายจากพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่า จกอบ ซึ่งกฎหมายในตอนสมัยอยุธยาเขียนว่า จังกอบ หรือ จำกอบ นั้น  แปลว่าหางเสือเรือ  คือ  เมื่อเรือขนาดใหญ่ผ่านด่านภาษี ก็บังคับให้หยุดยกหางเสือเรือขึ้นเสีย  แล้วเจ้าหน้าที่ก็ตรวจเก็บภาษี  แต่ก็พบคำอธิบายอีกแห่งหนึ่งของเจ้าคุณอนุมานราชธน  เขียนไว้ในหนังสือตำนานศุลกากรว่า จกอบ เป็นภาษาเขมร  หมายถึงภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บแก่สัตว์และสิ่งของที่นำเข้ามาจำหน่าย

จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์พบว่า อากร เป็นศัพท์ที่ใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อากร เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้ คือ นาไร่หรือการอนุญาตต่าง ๆ เช่น อนุญาตให้เก็บของป่า  จับปลาในน้ำ  ต้มกลั่นสุรา  รายการอากรที่หาได้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราขมีดังนี้  (1) อากรค่านา (2) อากรสวน (3) อากรสุรา (4) อากรค่าน้ำ (5) อากรบ่อนเบี้ย (6) อากรโสเภณี ซึ่งปรากฏว่าผู้ขอนุญาตตั้งซ่องเป็นข้าราชการทั้งสิ้น (7) อากรมรดก  (หลวงวิจิตรวาทการ, 2544 : 109)

ส่วนคำว่า ภาษี เพิ่งจะมาเริ่มใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)  และต่อมามีการใช้คำสองคำนี้สำหรับการเรียกเก็บเงินต่าง ๆ มากมาย  มีนักเศรษฐศาสตร์ให้คำนิยามภาษีอากรว่า ภาษีอากร คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนแก่ผู้เสียภาษีอากรโดยตรง  ด้วยเหตุนี้คำว่า ภาษี และ อากร ในความเข้าใจของคนทั่วไป เข้าใจว่าหมายถึงเงินที่รัฐเรียกเก็บบางครั้งก็ใช้คำทั้งสองเรียกรวมกันเป็น ภาษีอากร แต่ก็ไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อรรถาธิบายความแตกต่างไว้โดยเฉพาะ

พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวเกี่ยวกับภาษีอากร ไว้ในตำนานกรมศุลกากร (2494, หน้า 7) ว่า ยังอากรอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมาก่อนภาษี ตามคำอธิบายในตำนานภาษีอากร  ว่าเป็นส่วนชักจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้โดยประกอบการต่าง ๆ เช่นทำนาทำสวนเป็นต้น หรือ โดยได้สิทธิของรัฐบาล  เช่นอนุญาตให้เก็บของในป่า  จับปลาในน้ำและต้มกลั่นสุราเป็นต้น  เพราะฉะนั้นอากรตามคำอธิบายจึงผิดกับภาษี  ในข้อที่อากรนั้นเรียกเก็บจากผลประโยชน์ซึ่งทำได้  ส่วนภาษีว่าโดยทั่วไปเรียกเก็บจากสินค้าผ่านด่าน  แต่การเก็บภาษีและอากร  โดยมากมีผู้ผูกขาดรับประมูลเอาไป  และลักษณะการในลางอย่างก็คล้ายคลึงกันหรือปน ๆ กัน  จึงมักเรียกรวม ๆ กันไปว่าภาษีอากร  (ถ้าเป็นอากรที่มีมาแล้วแต่ก่อนเรียกอากรตามเดิม  ถ้าเป็นอากรเกิดใหม่เรียกว่าภาษี)  และเรียกผู้รับประมูลได้ว่าเจ้าภาษีนายอากร  ในการต่อมาสมัยปัจจุบัน  ภาษีอากรผูกขาดมีเหลืออยู่น้อยแล้ว  เช่น อากรรังนก เป็นต้น  แต่คำทั้งสองนี้ยังมีใช้อยู่ในลักษณะที่ไม่ใช้เป็นผูกขาดก็มี  เช่น ภาษีเงินได้อากรแสตมป์ เป็นต้น  เพราะฉะนั้นในการเล่าเรื่องต่อไป  แม้เมื่อเล่าถึงสมัยก่อนมีภาษีหรืออากรที่เกิดใหม่ก็จะใช้คำว่าภาษีเพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ความหมายของ “ภาษีอากร” นี้ได้มีผู้ให้คำนิยามไว้มากมายแตกต่างกันไปสุดแต่จะมองในแง่ใด แต่คำจำกัดความซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปได้แก่นิยามของเซลิแกน (Seligman) ที่ว่า A tax, in the modern sense, is the compulsory contribution from the person to the government to defray the expenses incurred in the common interest of all without reference to specials benefits conferred เมื่อแปลแล้วได้ความว่า “ภาษีอากร” คือเงินที่รัฐบังคับเก็บจากบุคคลเพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของรัฐ  โดยที่ผู้บริจาคมิได้รับผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนเป็นการพิเศษเฉพาะตัว

นอกจากนี้ประเภทภาษียังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การแบ่งประเภทตามหลักการผลักภาระภาษี กับ การแบ่งประเภทตามลักษณะของฐานภาษี การแบ่งประเภทภาษีตามหลักการผลักภาระภาษีนี้ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสำนักฟีซิโอแครท (Physiocrat) เป็นผู้เริ่มขึ้นก่อน โดยแบ่งประเภทภาษีอากรเป็นภาษีทางตรง (Direct tax) และภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ซี่ง จอนห์สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์สำนักฟีซิโอแครท John Stuart Mill มีความเห็นว่าในการแบ่งประเภทของภาษีอากรควรที่จะได้หยิบยกเอาเรื่องภาระภาษีขึ้นมาพิจารณาเป็นหลัก เขามีความเห็นว่าภาษีประเภทใดก็ตามที่จัดเก็บโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเป็นผู้รับภาระภาษีนั้นจริง ๆ แล้ว ภาษีชนิดนั้นจึงจะจัดว่าเป็นภาษีทางตรง แต่ถ้าภาษีประเภทใดที่จัดเก็บโดยเปิดโอกาสให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายสามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่นรับแทนได้แล้ว ภาษีชนิดนั้นก็คือภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรง (Direct tax) ที่ประเทศต่าง ๆ ทำการจัดเก็บส่วนใหญ่ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporation Income Tax) ภาษีมูลค่าเพิ่มของทรัพย์สิน (Capital Gains Tax) ภาษีทรัพย์สิน (Properties Tax) ภาษีมรดกและภาษีการให้ (Death and Gift Tax)

ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ได้แก่ ภาษีประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ภาษีการใช้จ่าย (Spending Tax) ภาษีการขาย (Sales Tax) ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) ภาษีศุลกากร (Customs Tax)

(ปรีดา นาคเนาวทิม, 2535, หน้า 3, 19-21)

เมื่อพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) ได้ให้ความหมายภาษีกับอากรไว้แตกต่างกัน กล่าวคือ ภาษี หมายถึงเงินที่มีกฎหมายกำหนดให้รัฐหรือท้องถิ่นเรียกเก็บจากบุคคลในเหตุต่าง ๆ เช่น การมีรายได้ การมีทรัพย์สิน การประกอบกิจการ การบริโภค เพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศหรือท้องถิ่น เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนคำว่า อากร หมายถึง ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ ฉะนั้น ความหมายโดยทั่วไปค่าภาษีจึงหมายถึงทรัพย์สินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรโดยทางตรง ส่วนค่าอากรจึงหมายถึงทรัพย์สินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรโดยทางอ้อม สำหรับในทางศุลกากรตามกฎหมายเดิมก่อนแก้ไขเพื่อประโยชน์ในการตีความจึงกำหนดให้ ค่าภาษี ตามมาตรา 2 วรรค 9   และ ค่าอากร ตามมาตรา 2 วรรค 13  แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีความหมายทำนองเดียวกันคือให้หมายความและกินความรวมไปถึง ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน ("TAXES" / “DUTY” shall mean any tax, duty, fee, or charge relating to the Customs or internal revenue ;)

 4. ค่าธรรมเนียมและแนวคำวินิจฉัย

4.1 ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บตามกฎหมายศุลกากร

นอกจาก “อากร” แล้ว ยังมี “ค่าธรรมเนียม” ที่ กรมศุลกากร ต้องจัดเก็บตามกฎหมายศุลกากร เดิมความหมายของค่าธรรมเนียมปรากฏอยู่ในวิเคราะห์ศัพท์ “ค่าภาษี” “อากร” ตามมาตรา 2 วรรค 9 และวรรค 13 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หมายความว่า “ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียมหรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นใน” ต่อมา พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้ยกเลิกฉบับ พ.ศ. 2469 ไม่ได้ให้ความหมายของค่าธรรมเนียมไว้ แต่ได้กำหนดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไว้อยู่ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม

“มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานศุลกากร กับออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) กำหนดท่า ที่ หรือสนามบินใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นด่านศุลกากร โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้ รวมทั้งระบุเขตศุลกากรของด่านศุลกากรนั้น

(2) กำหนดที่ใด ๆ ให้เป็นด่านพรมแดน โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้

(3) กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม”

ปัจจุบันกรมศุลกากรได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตาม กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร พ.ศ. 2560 (ดูคำอธิบายในมาตรา 5 (3))

 ค่าธรรมเนียม(Fee) เป็นภาษีอากรตั้งแต่ในสมัยอยุธยา เรียกว่า ฤชา คือ ค่าธรรมเนียม เรียกเก็บจากราษฎรเป็นรายตัวบุคคล ในกิจการที่รัฐบาลทำให้ เช่น ออกโฉนดตราสาร เงินที่ฝ่ายแพ้คดีถูกปรับโทษ ให้แก่ฝ่ายชนะ มักจะเป็นฤชากึ่งหนึ่ง เรียกว่าเงินพินัย ผู้เสียหายได้ไปครึ่งเดียว (พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย, 2544, หน้า 110)

ค่าธรรมเนียม ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมาย ทั่ว ๆ ไปหมายถึง ค่าบริการที่เรียกเก็บตามกฎหมาย สำหรับ ค่าธรรมเนียม ตามกฎหมายศุลกากรได้มีคำวินิจฉัยพิธีการศุลกากรที่ 12/2480 ได้วินิจฉัยไว้หมายความถึง เงินที่เรียกเก็บ โดยอาศัยบทบังคับของกฎหมายผู้เสียจะต้องเสียเงินนั้น ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดในฐานที่เจ้าหน้าที่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ ปรากฏอยู่ในมาตรา 122 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน ค่าใบอนุญาต ค่าแบบพิมพ์ ค่าเดินทาง และกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงที่ออกในช่วงแรก ได้แก่ กฎกระทรวงการคลังออกตามความใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 กำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในใบแนบ ศ.1 ถึง ศ.7 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมที่เลือกเก็บหลายครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการเงินแต่ละสมัย เช่น ฉบับปี พ.ศ. 2483, ฉบับที่ 52 (พ.ศ. 2510), ฉบับที่ 66 (พ.ศ. 2517), ฉบับที่ 71 (พ.ศ. 2521), ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2517), ฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2532), ฉบับที่ 90 (พ.ศ. 2534), ฉบับที่ 107 (พ.ศ. 2538) และฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2547) เป็นต้น

          4.2 แนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม

(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนถือว่าเป็น ค่าภาษีหรือ อากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย (คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 83/2520 มีนาคม 2520)

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยปัญหานี้ว่า  ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 227 ข้อ 27 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าตามข้อนี้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรใช้บังคับโดยอนุโลม โดยถือเสมือนว่าค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรดังนั้น จะเห็นได้ว่าประกาศของคณะปฏิวัตินี้เป็น บทกฎหมายอันเกี่ยวกับศุลกากรตามนัยมาตรา 2 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ ด้วย เพราะในประการแรก  การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษนี้เป็นการเรียกเก็บเพื่อการนำผลิตภัณฑ์เข้ามาในราชอาณาจักร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493  ศุลกากร น. ค่าอากรที่เรียกเก็บจากสินค้าขาเข้าและขาออก” ค่าธรรมเนียมพิเศษที่มิใช่เป็นค่าธรรมเนียมประเภทที่เรียกเก็บสำหรับบริการ หรือประโยชน์ที่รัฐให้แก่ผู้เสียค่าธรรมเนียม หากแต่เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บที่คุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ อย่างที่มักจะเรียกกันว่า ค่าธรรมเนียมซึ่งมีสาระเป็นภาษีอากร  ฉะนั้นจึงเป็น ค่าธรรมเนียมในทางศุลกากรตามความหมายของคำว่า อากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ เป็นประการที่สอง

(2) การหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีหรืออากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีนาคม 2528)

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาปัญหานี้มีความเห็นว่า  สำหรับค่าธรรมเนียมพิเศษที่เป็นปัญหาในเรื่องนี้  มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ได้กำหนดวิธีการคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน คล้ายคลึงกันหรือทดแทนกันได้กับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลใดต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษแล้ว การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้น กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว เป็นเสมือนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้ให้ความหมายของคำว่า ค่าภาษีและ อากรตรงกันว่า หมายความว่า ค่าภาษี ค่าอากร ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาระติดพันในทางศุลกากร หรืออากรชั้นในฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมพิเศษที่เรียกเก็บตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็น ค่าธรรมเนียมในทางศุลกากรเพราะเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ เพื่อการนำผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่กำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเข้ามาในราชอาณาจักร ค่าธรรมเนียมพิเศษนี้จึงเป็น ค่าภาษีหรือ อากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ดังนั้น บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บอากร ขาเข้าทั้งหมดจึงต้องนำมาใช้แก่การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวด้วย รวมทั้งบทบัญญัติที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีหรืออากร เพราะการกระทำที่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีหรืออากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

(3) การหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 574/2560 พฤษภาคม 2560)

                   คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือของกรมการค้าต่างประเทศ โดยมีผู้แทน กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วเห้นว่า กรณีตามปัญหานี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นสามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับการเรียกเก็บอากรขาเข้าตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือไม่ และหากมีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรดังกล่าวจะสามารถนำมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเห็นว่า พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการที่มีสินค้าชนิดเดียวกันที่ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดภายในประเทศจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน ส่วน พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการที่มีสินค้าชนิดเดียวกันที่ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ซึ่งพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวอาจกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือมาตรการปกป้องการนำเข้าโดยกำหนดให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรปกป้องได้ ทั้งนี้ ตามาตรา 49 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศฯ และมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นฯ ซึ่งในการเรียกเก็บอากรนั้นพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวได้บัญญัติให้นำกฎหมายศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับกับการเรียกเก็บอากรเสมือนเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนหรือคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง จึงสามารถเรียกเก็บอากรในลักษณะเดียวกันกับอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้ กรณีจึงมีปัญหาต่อมาว่าหากมีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะสามารถนำมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาใช้บังคับได้หรือไม่หรือต้องดำเนินการอย่างไร

                   โดยข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นเรื่องการบังคับใช้บทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดทางอาญาของบุคคลอื่นจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ได้เคยวินิจฉัยในเรื่องเสร็จที่ 271/2545 ไว้แล้วว่า การนำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษมาใช้บังคับโดยอนุโลม ต้องมีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นำบทกำหนดความผิดอาญาและบทกำหนดโทษของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องนั้นมาใช้บังคับแก่การนั้น เพราะบุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้นที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8123/2553 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในส่วนหนึ่งของคำพิพากษาฎีกา คำว่า “อากร” ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรฯ หมายถึง ค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพกร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อมาตรา 49 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศฯ และมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นฯ มิได้บัญญัติให้นำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้ในกรณีที่มีการเรียกเก็บอากรตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงไม่สามารถนำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาใช้บังคับเมื่อมีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้

(4) ฎีกาที่ 5008/2536 กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกเก็บหรือคืนค่าธรรมเนียมพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอก ฯ ด้วยหรือไม่

ฎีกาศาลได้วินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดระเบียบการเรียกเก็บ และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไว้ดังนี้ “1. การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากรและให้นำกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม…”  ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2533 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกเก็บและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำของเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์และประกาศอื่น กำหนดไว้ตามความในข้อ 6 ว่า การขอคืนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับของที่ได้รับคืนเงินอากรขาเข้าหรือที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสีย ให้ผู้นำของเข้าปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการคืนเงินอากรขาเข้าโดยอนุโลม จึงแสดงว่าจำเลยมีหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมพิเศษ และคืนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ผู้นำเข้าได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียด้วย ค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว เป็นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า จึงเป็นภาษีอากรตามความหมายของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 3 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวอันเป็นภาษีอากรจากจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางได้  ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (3)

หมายเหตุ มาตรา 3   ในพระราชบัญญัตินี้    ภาษีอากร   หมายความว่า ภาษี อากร   และค่าภาคหลวงทุกชนิด และหมายความรวมถึง .... (4) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า... ให้เป็นภาษีอากรตามพระราชบัญญัตินี้


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
27 มี.ค. 2564

คำอธิบาย พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 เรียงมาตรา

4. เปรียบเทียบการแก้ไขกฎหมายศุลกากร ปี 2560 กับ 2469
5. ที่มาของการยกร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร. พ.ศ.2560: เอกสารประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ...(ครม.เป็นผู้เสนอ) พร้อมบทสรุปสมาชิกสภาฯ
  มาตรา 22 ฎีกาที่ 3755/2564 "หลักการคิดเงินเพิ่มตาม กม. ศุลกากรเก่ากับ กม. ศุลกากรใหม่"
  ส่วนที่ ๓ การคืนอากร (ม.๒๕ – ๓๑)
  ส่วนที่ ๔ การวินิจฉัยอากรและการอุทธรณ์การประเมินอากร(ม.๓๒ – ๔๙)

หมวด ๓ การนำของเข้าและการส่งของออก (ม.๕๐ – ๖๓)
  ส่วนที่ ๑ การนำของเข้าและการส่งของออกทางทะเล (ม.๖๔ – ๘๕)
  ส่วนที่ ๒ การนำของเข้าและการส่งของออกทางบก (ม.๘๖ – ๙๑)
  ส่วนที่ ๓ การนำของเข้าและการส่งของออกทางอากาศ (ม.๙๒ – ๙๘)
  ส่วนที่ ๔ ตัวแทน (ม.๙๙ – ๑๐๑)

หมวด ๔ การผ่านแดน การถ่ายลำ และของตกค้าง
  ส่วนที่ ๑ การผ่านแดนและการถ่ายลำ (ม.๑๐๒ – ๑๐๖)
  ส่วนที่ ๒ ของตกค้าง (ม.๑๐๗ – ๑๑๐)

หมวด ๕ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง และท่าเรือรับอนุญาต
  ส่วนที่ ๑ การจัดตั้ง (ม.๑๑๑ – ๑๑๕)
  ส่วนที่ ๒ การดำเนินการ (ม.๑๑๖ – ๑๓๑)
  ส่วนที่ ๓ การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (ม.๑๓๒ – ๑๓๕)

หมวด ๖ เขตปลอดอากร
  ส่วนที่ ๑ การจัดตั้งเขตปลอดอากร (ม.๑๓๖ – ๑๔๕)
  ส่วนที่ ๒ การขออนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร (ม.๑๔๖ – ๑๕๐)
  ส่วนที่ ๓ สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากร (ม.๑๕๑ – ๑๕๖)

หมวด ๗ พนักงานศุลกากร (ม.๑๕๗ – ๑๗๔)

หมวด ๘ อำนาจทางศุลกากรในพื้นที่เฉพาะ
  ส่วนที่ ๑ เขตควบคุมศุลกากร (ม.๑๗๕ – ๑๗๗)
  ส่วนที่ ๒ พื้นที่ควบคุมร่วมกัน (ม.๑๗๘ – ๑๘๓)
  ส่วนที่ ๓ การค้าชายฝั่ง (ม.๑๘๔ – ๑๘๗)
  ส่วนที่ ๔ เขตต่อเนื่อง (ม.๑๘๘ – ๑๙๑)
  ส่วนที่ ๕ พื้นพัฒนาร่วมกัน (ม.๑๙๒ – ๒๐๑)

หมวด ๙ บทกำหนดโทษ (ม.๒๐๒ – ๒๕๗)

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

7. การงดการฟ้องร้องและคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

7. ลักษณะพิเศษในการงดการฟ้องร้องและคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

     การระงับคดีศุลกากรไม่จำเป็นต้องนำคดีฟ้องศาลเสมอไป พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้อำนาจแก่อธิบดีศุลกากรที่จะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ กล่าวคือ ความผิดตามกฎหมายศุลกากรนี้ ถ้าบุคคลนั้นยินยอมใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีเห็นสมควรแล้วอธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ตามมาตรา 256) โดยมีเงื่อนไขว่าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วต้องไม่เกินกว่าสี่แสนบาท เฉพาะความผิดใน 4 กรณี ดังต่อไปนี้
     (1) การนำของเข้าออกนอกทางอนุมัติตามมาตรา 86 ประกอบมาตรา 227
     (2) ความผิดเกี่ยวกับของลักลอบหนีศุลกากรตาม มาตรา242
     (3) ความผิดเกี่ยวกับของหลีกเลี่ยงอากรตาม มาตรา 243 และ
     (4) ความผิดเกี่ยวกับของต้องห้าม ต้องจำกัด ผ่านแดน ถ่ายลำ ตาม มาตรา 244
     แต่ถ้าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเกินกว่าสี่แสนบาท ต้องเสนอให้คณะกรรมการเปรียบเทียบ (ตามมาตรา 257) ซึ่งจะมีอำนาจเปรียบเทียบได้ (คณะกรรมการเปรียบเทียบประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับหรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกัน ตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


     ปรากฏตามมาตรา 256, 257 และมาตราที่เกี่ยวข้องแห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้
     “มาตรา 256 ภายใต้บังคับมาตรา 257 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าบุคคลนั้นยินยอมใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีเห็นสมควรแล้วอธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
      ในกรณีที่อธิบดีเห็นสมควรจะฟ้องบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บันทึกเหตุผลในการฟ้องผู้กระทำความผิดไว้ด้วย
      มาตรา 257 ความผิดตามมาตรา 227 มาตรา 242 มาตรา 243 มาตรา 244 และมาตรา 247 ถ้าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเกินกว่าสี่แสนบาท ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้
      คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
      เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับหรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกัน ตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
      มาตรา 227 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 86 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
       (มาตรา 86 การขนส่งของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตั้งแต่เขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากร หรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนทางบก ต้องขนส่งตามทางอนุมัติ และภายในกำหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด
        การขนส่งของตามทางอื่นนอกจากทางอนุมัติหรือในเวลาอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด)
      มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
     มาตรา 247 ผู้ใดนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกหรือออกจากยานพาหนะ ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 242 หรือมาตรา 244 แล้วแต่กรณี

ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
Dr.Sangob Sittidech
dr.sangob.law@gmail.com

6. การลงโทษฐานพยายามกระทำความผิด

 6. ลักษณะพิเศษเกี่ยวกับการลงโทษฐานพยายามกระทำความผิด

       การพยายามคือการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่ทำไปไม่ตลอด หรือทำไปตลอด แล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ประมวลกฎหมายอาญาลงโทษแก่ผู้พยายามกระทำผิดโดยทั่วไป เพียงสองในสามส่วนของอัตราโทษกำหนดไว้ หรืออาจได้รับโทษเพียงกึ่งหนึ่งหากการ กระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ ตามมาตรา 80, 81, 82 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
     “มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
      ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
      มาตรา 81 ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
      ถ้าการกระทำดังกล่าวในวรรคแรกได้กระทำไปโดยความเชื่ออย่างงมงาย ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้
      มาตรา 82 ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ”

     แต่กฎหมายศุลกากรบางมาตรา ได้ลงโทษการพยายามกระทำความผิดเท่ากับโทษที่ได้กระทำความผิดสำเร็จ สำหรับความผิดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดใน 3 กรณีดังต่อไปนี้
     (1) ความผิดเกี่ยวกับของลักลอบหนีศุลกากรตาม มาตรา 242
     (2) ความผิดเกี่ยวกับของหลีกเลี่ยงอากรตาม มาตรา 243 และ
     (3) ความผิดเกี่ยวกับของต้องห้าม ต้องจำกัด ผ่านแดน ถ่ายลำ ตาม มาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้

      “มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

      ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
      มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
      มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
      ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน”


ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
Dr.Sangob Sittidech
dr.sangob.law@gmail.com


5. การลงโทษผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกันในการกระทำความผิด

5. ลักษณะพิเศษเกี่ยวกับการลงโทษผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกันในการกระทำความผิด
     ตามหลักกฎหมายอาญาได้กำหนดโทษลดหลั่นกัน ระหว่างตัวการกับผู้ใช้ ผู้โฆษณา หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เช่น ป.อาญา
     มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
     มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
     ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
     ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น
      มาตรา 85 ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน ผู้นั้นต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
      ถ้าได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการโฆษณาหรือประกาศตามความในวรรคแรก ผู้โฆษณาหรือประกาศต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ
      มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

     แต่โทษตามกฎหมายศุลกากร จะลงโทษผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกันในการกระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันกับตัวการ สำหรับการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับของใน 3 กรณีตามมาตรา 245 ดังต่อไปนี้
     (1) ความผิดเกี่ยวกับของลักลอบหนีศุลกากรตาม มาตรา 242
     (2) ความผิดเกี่ยวกับของหลีกเลี่ยงอากรตาม มาตรา 243 และ
     (3) ความผิดเกี่ยวกับของต้องห้าม ต้องจำกัด ผ่านแดน ถ่ายลำ ตาม มาตรา 244
 

     พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้
     
มาตรา 245 ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกันในการกระทำความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 243 หรือมาตรา 244 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในการกระทำความผิดนั้น
     มาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
     มาตรา 243 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
     มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
Dr.Sangob Sittidech
dr.sangob.law@gmail.com



ลักษณะพิเศษของกฎหมายศุลกากรปี 2560


ลักษณะพิเศษของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560

-------------------------


1. ความทันสมัยรองรับประเทศไทย 4.0 

2. ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณ
/หลักการเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย 

3. ให้ถือว่า (ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจนำสืบโต้แย้งได้) 


4. การกระทำที่ต้องการเจตนาและการกระทำที่ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา 

5. การลงโทษผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกันในการกระทำความผิด

6.  ลักษณะพิเศษเกี่ยวกับการลงโทษฐานพยายามกระทำความผิด 

7. การงดการฟ้องร้องและคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา




ลิขสิทธิ์โดย
ดร.สงบ สิทธิเดช
6 ก.พ.2564